เศรษฐกิจสีเทากับการพนัน

11 ก.พ. 2568 | 06:09 น.

เศรษฐกิจสีเทากับการพนัน : คอลัมน์เศรษฐเสวนา จุฬาฯทัศนะ โดย... รศ.ดร.นวลน้อย ตรีรัตน์ คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 4070

ในช่วง 20 กว่าปีที่ผ่านมา การอนุญาตให้มีบ่อนกาสิโนถูกกฎหมาย ในกลุ่มประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพิ่มจำนวนขึ้นอย่างมากมาย ทั้งที่เปิดเป็นกาสิโนโดยตรง และที่เปิดอยู่ในรูปแบบสถานบันเทิงครบวงจร  

อย่างไรก็ตาม การแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้มีผลกระทบต่อการดำเนินการของกาสิโนอย่างรุนแรง ทำให้หลายกาสิโนมีการเปิดดำเนินการในรูปแบบของบ่อนออนไลน์มากขึ้น ทั้งมีใบอนุญาตและไม่มีใบอนุญาต ทำให้การพนันออนไลน์มีการขยายตัวอย่างรวดเร็ว และมุ่งเป้ากับผู้เล่นในต่างประเทศ  

ขณะเดียวกัน การเข้ามาของเทคโนโลยีใหม่ ระบบการชำระเงินข้ามประเทศที่สะดวกรวดเร็ว และโดยเฉพาะอย่างยิ่งการมีบทบาทที่เพิ่มมากขึ้นของเงินคริปโต ทำให้เกิดการหลอมรวมของสถานกาสิโน แบบมีที่ตั้ง การพนันออนไลน์ การหลอกลวงไซเบอร์ การค้ามนุษย์ และ อาชญากรรมอื่นๆ ซึ่งรวมถึงการฟอกเงิน

เป็นภาพที่ปรากฏชัดในกลุ่มประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่มีการอนุญาตให้มีกาสิโนถูกกฎหมาย ทั้งในรูปแบบมีที่ตั้ง และพนันออนไลน์ โดยประเทศเหล่านี้มักจะเป็นประเทศที่มีปัญหาธรรมาภิบาล มีประสิทธิภาพในการบังคับใช้กฎหมายต่ำ  

 

ในรายงานของ UNODC (United Nations Office on Drugs and Crime) เรื่อง บ่อนกาสิโน การฟอกเงิน เงินนอกกฎหมาย และองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติในเอเชียตะวันออกและตะวันออกเฉียงใต้ ปี 2567 ได้ให้ภาพภาวะคุกคามและผลกระทบที่รุนแรงที่เกิดขึ้นในประเทศลุ่มน้ำโขง และ ฟิลิปปินส์  

ฟิลิปปินส์เป็นประเทศที่มีการอนุญาตให้มีกาสิโนถูกกฎหมายมานานกว่า 40 ปี  โดยกาสิโนเกิดขึ้นในรูปแบบต่างๆ เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยว โดยส่วนใหญ่เพื่อให้บริการนักท่องเที่ยว และบางแห่งอนุญาตให้คนในประเทศเข้าไปเล่นได้ และในภายหลังได้อนุญาตให้มีพนันออนไลน์สำหรับคนนอกประเทศ (Offshore) โดยเป็นที่รู้กันว่า มีเป้าหมายสำคัญที่ผู้เล่นชาวจีนในแผ่นดินใหญ่ จนรัฐบาลจีนเองต้องออกกฎหมายให้ การพนันระยะไกล (remote gambling) เป็นเรื่องผิดกฎหมายในประเทศจีน  

ฟิลิปปินส์เป็นประเทศหนึ่ง ที่มีการกำกับดูแลการพนันที่อ่อนแอ เป็นช่องทางให้เกิดการฟอกเงินและอาชญากรรมทางการเงินอื่นๆ จนทำให้ คณะทำงานเฉพาะกิจเพื่อดำเนินมาตรการทางการเงิน (FATF) ได้ขึ้นบัญชีประเทศฟิลิปปินส์ว่า อยู่ในระดับที่มีความเสี่ยงสูงในการเป็นแหล่งฟอกเงินหรือ บัญชีสีเทา (Grey List) ตั้งแต่ปี 2564 เป็นต้นมา  

โดยพบว่า พนันออนไลน์มีเกี่ยวข้องกับธุรกรรมทางการเงิน ที่ไม่มีการควบคุมอย่างเข้มงวด เป็นแหล่งฟอกเงินจากต่างประเทศ และอาชญากรรมทางการเงินอื่นๆ  รัฐบาลจึงต้องดำเนินการเพื่อแก้ไขปัญหาต่างๆ อย่างเร่งด่วน เพราะเป็นที่รู้กันดีว่า การถูกจัดอันดับเช่นนี้จะมีผลให้ธุรกรรมทางการเงินต่างๆ ที่ทำข้ามประเทศ จะถูกต่างประเทศตรวจสอบอย่างมาก ต้นทุนทางการเงินจะเพิ่มขึ้น และที่สำคัญน่าจะกระทบกับการลงทุนจากต่างประเทศด้วย   

ตัวอย่างปัญหาในฟิลิปปินส์ที่อยู่ในรายงานของ UNODC (2567) ได้กล่าวถึงการปราบปรามอาชญากรรม ในเดือนพฤษภาคม 2566 สำนักงานตำรวจแห่งชาติฟิลิปปินส์ ได้มีการปราบปรามบ่อนที่ได้รับอนุญาตให้ดำเนินการพนันออนไลน์ สำหรับคนนอกประเทศฟิลิปปินส์ ในเมืองแปมปังกา และได้ช่วยเหลือเหยื่อจำนวน 1,099 คน ออกมาได้ โดยเป็นชาวต่างชาติ 919 คน และชาวฟิลิปปินส์ 171 คน  

โดยมีการใช้ใบอนุญาตพนันออนไลน์บังหน้า แต่เบื้องหลังเป็นการก่ออาชญากรรม มีการบีบบังคับพนักงานทำการหลอกลวงทางไซเบอร์ และหลอกลวงลงทุนในเงินคริปโต ที่ไม่ได้มีการลงทุนจริง   

และในเวลาต่อมาเจ้าหน้าที่รัฐได้เปิดปฏิบัติการในเมืองลาสปินาส ในกรุงมะนิลา สามารถช่วยเหยื่อได้จำนวน 2,800 คน ที่ถูกบังคับใช้แรงงานออกมาได้ เป็นชาวฟิลิปปินส์ 1,500 คน และ ต่างชาติอีก 1,300 คน จาก 17 ประเทศ 

ปฏิบัติการเหล่านี้ได้ก่อให้เกิดเสียงเรียกร้องจากคนในประเทศ ให้รัฐบาลห้ามและยกเลิกใบอนุญาตพนันออนไลน์สำหรับคนนอกประเทศให้หมด วุฒิสภาได้เปิดการไต่สวนในเรื่องนี้ และพบว่า มีการนำใบอนุญาตไปปล่อยให้รายย่อยใช้งานอย่างไม่ถูกต้อง และรวมถึงมีการเกิดพนันออนไลน์ที่ไม่มีใบอนุญาต นำมาซึ่งภาพของการควบรวมระหว่างการพนันออนไลน์ การหลอกลวงทางไซเบอร์ และ ขบวนการค้ามนุษย์    

แม้ว่ารัฐบาลจะได้พยายามลดจำนวนใบอนุญาตพนันออนไลน์ลง แต่ปัญหาก็ไม่หมดไป จนที่สุดแล้วประธานาธิบดีต้องประกาศในกลางปี 2567 ว่าจะยกเลิกใบอนุญาตออนไลน์สำหรับคนเล่นนอกประเทศให้หมดในเดือนธันวาคม 2067   

                   เศรษฐกิจสีเทากับการพนัน

นอกจากนี้ จากการศึกษาของสภาปราบปรามการฟอกเงินฟิลิปปินส์ (AMLC) ในปี 2566  เรื่องการโยกย้ายเงินที่โยงถึงบ่อนกาสิโน และ จังเก็ต พบว่า มีหลายกรณีที่จังเก็ตไม่ได้ส่งรายงานให้รัฐบาล ซึ่งเป็นความผิดทางกฎหมาย

การศึกษานี้ ได้พบการเพิ่มของธุรกรรมที่น่าสงสัยจาก 64 ธุรกรรม ในปี 2564 เป็น 1,021 ธุรกรรม ในปี 2565 โดยพบว่า เงินเหล่านี้เกี่ยวข้องกับการค้ายาเสพติด และเครือข่ายอาชญากรรมเรียกค่าไถ่

ประเด็นปัญหาเรื่องการเป็นแหล่งฟอกเงินของกาสิโนในฟิลิปปินส์นั้น เคยมีการฟ้องร้อง โดยรัฐบาลบังคลาเทศว่า มีการใช้บ่อนกาสิโนในฟิลิปปินส์ ฟอกเงินที่โจรกรรม โดยการโจมตีทางไซเบอร์ จากธนาคารกลางของประเทศบังคลาเทศ ในปี 2559 โดยผู้ฟอกเงินได้ใช้แลกกับชิปการพนันในบ่อนกาสิโนในประเทศฟิลิปปินส์  

จนถึงขณะนี้ ก็ยังมีความไม่แน่นอนว่า ฟิลิปปินส์จะถูกปลดออกจาก บัญชีสีเทาเมื่อไหร่  นอกจากนั้นเอง แม้ว่าจะมีการอนุญาตให้มีกาสิโนถูกกฎหมายจำนวนมากเพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยว แต่จำนวนนักท่องเที่ยวในฟิลิปปินส์ในปี 2566 มีเพียง 5.45 ล้านคน และ ลดลงเหลือ ไม่ถึง 5 ล้านคนในปี 2567 

รายงานของ UNODC ยังกล่าวถึงปรากฏการณ์หลอมรวมของบ่อนกาสิโน กาสิโนออนไลน์ การหลอกลวงทางไซเบอร์ และ การค้ามนุษย์ ที่เกิดขึ้นในประเทศกัมพูชา และ ประเทศลาว ด้วย

โดยรัฐบาลกัมพูชาได้เปิดปฏิบัติการในการบุกตรวจค้น กวาดจับศูนย์กลางกลุ่มอาคารบ่อนการพนันผิดกฎหมายในเมืองสีหนุวิลล์ และ พนมเปญ ในเดือนกันยายน 2565  ซึ่งได้หลักฐานยืนยันถึงการรวมตัวกันของบ่อนการพนัน การฟอกเงิน การค้ามนุษย์ การกักขังหน่วงเหนียว การทรมาน การบีบบังคับให้ค้าประเวณี และการหลอกลวงทางไซเบอร์  

ทำให้รัฐบาลกัมพูชาต้องมีการยกเลิกใบอนุญาตพนันออนไลน์ทั้งหมด และดำเนินการจัดการกับอาชญากร ที่มีอยู่เป็นจำนวนมากและส่วนใหญ่เป็นการเข้าเมืองอย่างผิดกฎหมาย 

การปราบปรามที่ดำเนินการในหลายประเทศ ทำให้เกิดการเคลื่อนย้ายบ่อนพนันออนไลน์มาที่ลาว และ ในพม่า  ลาวได้มีการจัดตั้งสำนักงานการพนันนอกชายฝั่ง (offshore) แห่งประเทศลาวขึ้นมากำกับควบคุม  
อย่างไรก็ตาม ปัญหา คือ ประสิทธิภาพในการกำกับดูแลยังอยู่ในระดับต่ำ เมื่อเทียบกับความเสี่ยงที่เกิดขึ้นจากอุตสาหกรรมการพนัน ทำให้เจ้าหน้าที่ไม่สามารถค้นพบการโยกย้ายเงินที่ผิดปกติเลย และรัฐบาลยังอนุมัติให้ชาวต่างชาติเข้ามาเปิดบ่อนออนไลน์ได้ 

จากการประเมินของ Asia Pacific Group (APG) ในปี 2565 ระบุว่า ประเทศลาวติดอันดับสูงสุด ในด้านมีความเสี่ยงของการเป็นแหล่งฟอกเงิน

ในขณะที่การใช้บ่อนกาสิโนเพื่อฟอกเงินไม่ใช่เรื่องใหม่ มีกรณีจำนวนมากที่แสดงให้เห็นปัญหา ช่องโหว่ ของการดำเนินงานที่ทำให้กาสิโน เป็นแหล่งดึงดูดเงินสีเทาเข้ามา เพื่อฟอกให้สะอาด หรือ อาจจะกล่าวได้ว่า บ่อนกาสิโนมักจะถูกแทรกซึมโดยองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติได้โดยง่าย 

โดยมีสาเหตุสำคัญจากความบกพร่อง ในการสอดส่องควบคุมดูแล และการบังคับใช้กฎหมายป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน ขาดการตรวจสอบอย่างสม่ำเสมอ ไม่มีการตรวจสอบแหล่งที่มาของเงิน แม้แต่ในประเทศตะวันตกที่มีการตรวจสอบเข้มงวด ก็ยังมีตัวอย่างที่กาสิโนยังดำเนินการไม่เพียงพอ และเกิดการฟอกเงินของอาชญากรบ่อยๆ และมีผลให้กาสิโนต้องจ่ายค่าปรับเป็นจำนวนมากให้กับรัฐบาล 

ตัวอย่างที่ยกมาเหล่านี้ เพื่อแสดงให้รัฐบาลเห็นว่า การทำบ่อนกาสิโนที่ถูกกฎหมาย และรวมถึงพนันออนไลน์ ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ ต้องมีการเตรียมการที่รอบคอบ และมีความพร้อมต่อปัญหา หรือผลกระทบต่างๆ ที่จะเกิดขึ้น

ในบทความนี้เพียงกล่าวถึงเพียงเรื่องเดียวคือ การฟอกเงินและการเข้ามาของเศรษฐกิจสีเทา ยังมีปัญหาและผลกระทบทางลบอื่นๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นอีกจำนวนมาก