นายแสงชัย ธีรกุลวาณิช ประธานสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า เห็นด้วยที่นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ส่งสัญญาณขอให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ลดอัตราดอกเบี้ย เพื่อลดภาระให้กับประชาชน
ทั้งนี้ สมาพันธ์ฯและผู้ประกอบการเอสเอ็มอี (SMEs) เห็นความจำเป็นในการลดดอกเบี้ยมานาน เนื่องจากได้รับผลกระทบมาเป็นระยะเวลาหนึ่งแล้ว โดยหากมองย้อนกลับไปจะสังเกตเห็นว่าสถานการณ์เศรษฐกิจที่ย่ำแย่ หรือที่เรียกว่าลงเหวแบบในปัจจุบัน ซึ่งประเด็นเรื่องของหนี้นอกระบบ หนี้เสียที่เกิดขึ้นไม่ใช่เรื่องบังเอิญ
แต่ปัจจัยเร่งมาจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 รวมถึงสภาวะของเศรษฐกิจโลก และการปรับตัวของผู้ประกอบการที่ทำให้ผู้ประกอบการมีขีดความสามารถทางการแข่งขันที่ลดลง โดยสิ่งหนึ่งที่จำเป็น และสำคัญอย่างมากคือ เรื่องภาระดอกเบี้ยที่ทำให้ประชาชนจำนวนมากเข้าไม่ถึงสินเชื่อเพื่อธุรกิจ แต่กลับไปอยู่ในสินเชื่อบัตรเครดิต สินเชื่อบัตรกดเงินสด และสินเชื่อส่วนบุคคล ซึ่งมีดอกเบี้ยมากกว่า 15%
“ที่ผ่านมาก่อนที่ดอกเบี้ยบัตรเครดิตจะลดลงเหลือ 15-16% จะมีดอกเบี้ยสูงถึง 20% กว่าดังนั้น สมาพันธ์จึงเห็นด้วยกับนายกฯในการผลักดันขอให้แบงก์ชาติลดดอกเบี้ย”
อย่างไรก็ดี ต้องทำความเข้าใจด้วยว่า อัตราดอกเบี้ยสุทธิ (NIM) ในปัจจุบันแค่ 1% หากลองคำนวณดูแท้จริงแล้วธนาคารพาณิชย์ได้กำไรจากผู้ประกอบการรายใหญ่ หรือเอสเอ็มอีมากกว่ากัน โดยสิ่งที่ต้องการก็คือต้องการเห็นการให้ความเป็นธรรมเรื่องดอกเบี้ยกับเอสเอ็มอี ซึ่งเป็นประเด็นที่ไม่ควรนิ่งเฉย
โดยจะเห็นได้จากโครงสร้างหนี้ครัวเรือน มีสินเชื่อส่วนบุคคลสูงถึง 19% ,บัตรเครดิต บัตรกดเงินสด 8% แต่สินเชื่อเพื่อธุรกิจที่มีดอกเบี้ยน้อยกว่ากลับมีสัดส่วนเพียงแค่ 18% เพราะฉะนั้น ปัญหาวันนี้ก็คือจะทำอย่างไรที่กลุ่มเอสเอ็มอีส่วนหนึ่งเลือกใช้บัตรเครดิต บัตรกดเงินสด และสินเชื่อส่วนบุคคลเป็นเงินหมุนเวียนในการทำธุรกิจ
ขณะที่ธนาคารมีอัตราการปล่อยสินเชื่อติดลบ 5% ต่ำที่สุดในรอบ 5 ปี ส่วนที่ปล่อยสินเชื่อไม่ถึง 20% ซึ่งหมายความว่าจากผู้ประกอบการ 100 ราย จะมีผู้ที่ได้สินเชื่อไม่ถึง 20 ราย ส่วนกลุ่มที่เหลือจากการวิจัย และสำรวจของสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) พบว่า ไตรมาส 4/67 เอสเอ็มอีที่มีอยู่ในระบบเพียง 29% แต่เป็นหนี้ในระบบคู่กับหนี้นอกระบบ 25% โดยที่เหลืออีก 46% เป็นหนี้นอกระบบทั้งหมด
นายแสงชัยกล่าวอีกว่า หากมองหนี้ในระบบตั้งแต่ไตรมาส 1-4/67 จะพบว่า ไตรมาส 1/67 อยู่ที่ 53% ส่วนไตรมาส 2/67 อยู่ที่ 40% ขณะที่ไตรมาส 3/67 อยู่ที่ 33% และไตรมาส 4/67 อยู่ที่ 29% ซึ่งหมายความว่าเอสเอ็มอีที่เป็นหนี้ในระบบกลายเป็นผู้ที่มีหนี้ทั้งในและนอกระบบ หรือเรียกว่าหนี้ไฮบริด ส่วนเอสเอ็มอีจำนวนมากไปเป็นหนี้นอกระบบ
“ประเด็นดังกล่าวเหล่านี้เป็นเหตุผลสำคัญที่สมาพันธ์ฯเห็นด้วยกับนายกฯ ผลักดันให้ ธปท.ลดดอกเบี้ย”
อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันจะสังเกตเห็นว่าเอสเอ็มอีต้องการเพิ่มสภาพคล่องประมาณ 82% จากการสำรวจของ สสว. โดยประมาณ 10% ต้องการนำไปใช้หนี้เดิม ส่วน 8% นำไปใช้เพื่อการลงทุน ดังนั้น จึงเห็นได้ว่าความต้องการของเอสเอ็มอีคือต้องการเม็ดเงินเพื่อนำไปเสริมสภาพคล่อง แต่การลดดอกเบี้ยเพียงอย่างเดียวไม่ได้ทำให้สถานการณ์ทุกอย่างดีขึ้น ต้องทำควบคู่ไปกับการที่รัฐบาลต้องมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ และการลดต้นทุนในมิติอื่น เช่น ราคาน้ำมัน ไฟฟ้า ปัจจัยการผลิต เป็นต้น รวมถึงเพิ่มการเข้าถึงแหล่งทุน และการยกระดับขีดความสามารถของเอสเอ็มอี และภาคแรงงงาน