นายวรวิทย์ ศรีอนันต์รักษา กรรมการคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เปิดเผยว่า ที่ประชุม กกพ. มีมติให้สำนักงาน กกพ. นำเสนอทางเลือกให้ภาคนโยบายทบทวนและปรับปรุงเงื่อนไขการสนับสนุนทั้งในรูปแบบส่วนเพิ่มราคารับซื้อไฟฟ้า (Adder) และ Feed in Tariff (FiT) ผ่านการอุดหนุนราคารับซื้อไฟฟ้าในกลุ่มผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็ก (SPP) และกลุ่มผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดเล็กมาก (VSPP) เพื่อให้การอุดหนุน Adder และ Feed in Tariff (FiT) สะท้อนต้นทุนที่แท้จริง ซึ่งมีผลทำให้ค่าไฟสามารถปรับลดลงได้ทันทีประมาณ 17 สตางค์ต่อหน่วยนั้น
ทั้งนี้ กกพ.ยืนยันว่าสามารถทำได้ เพราะตามมาตรา 65 (1) กำหนดว่า ภายใต้นโยบายและแนวทางที่คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ให้ความเห็นชอบให้คณะกรรมการกำหนดหลักเกณฑ์การกำหนดอัตราค่าบริการของผู้รับใบอนุญาตแต่ละประเภท ควรสะท้อนถึงต้นทุนที่แท้จริงและคำนึงถึงผลตอบแทนที่เหมาะสมของการลงทุนของการประกอบกิจการพลังงานที่มีประสิทธิภาพ
ซึ่งในส่วนของค่าไฟฟ้าที่ กกพ.พิจารณาจะมีค่าใช้จ่ายตามนโยบายรัฐ (Policy Expense) ก่อนหน้านี้คือมาตรการส่งเสริมพลังงานสะอาดที่คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติทำไว้ 4 เรื่อง ประกอบด้วย 1. กำหนดปริมาณ 2. กำหนดราคา 3. กำหนดประเภทเชื้อเพลิง
และ 4. วิธีการจัดหา เมื่อมีการจัดหาแล้วมีประเด็นเรื่องค่าไฟฟ้าเกิดขึ้น จึงเข้าตามมาตรา 11 (4) ที่ให้คณะกรรมการมีอำนาจหน้าที่ กำหนดระเบียบและหลักเกณฑ์ในการจัดหาไฟฟ้าและออกประกาศเชิญชวนการรับซื้อไฟฟ้า
ส่วนประเด็นการแก้สัญญาซื้อขายไฟฟ้าคงแก้ไม่ได้ แต่สามารถที่จะเจรจาเรื่องราคาค่าไฟฟ้าได้ ถ้า กพช. มีมติให้แก้ต้นทุนค่าไฟฟ้าใหม่แล้ว สะท้อนต้นทุนที่แท้จริง เพราะเมื่อ Adder และ FiT หมดแล้ว ยังขายไฟได้ในราคาขายส่งที่ 3.29 บาทต่อหน่วย บวกค่า Ft ซึ่งถือว่ายังสูงกว่าค่าไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนเฉลี่ยที่ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายพลังงาน (สนพ.) คำนวณได้ ประมาณ 2.16 บาทต่อหน่วย ในขณะที่บางโครงการยังต้องซื้อไฟฟ้า 11 บาทต่อหน่วยต่อไป
ดังนั้น หากผู้ประกอบการรายใดที่ไม่เข้าตามมาตรา 65 (1) และผู้ประกอบการที่คืนทุนแล้ว จะมีการขอปรับลดราคาค่าไฟฟ้า ซึ่งต้องให้ กพช.มีมติตรงนี้ออกมา กกพ. พร้อมจะดำเนินการตามมตินั้น แม้ว่าจะใช้เวลานานแค่ไหนในการเจรจา เพราะเป็นสัญญาที่ไม่เป็นธรรมโดยจะพิจารณาสัญญาแต่ละราย เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ควรจะทำ กกพ.ต้องการปรับสมดุลของค่าไฟฟ้า ซึ่งจะไม่ทำให้ผู้ประกอบการต้องเสียหาย และผู้ใช้ไฟฟ้าต้องไม่ซื้อไฟฟ้าในราคาเกินจริง
“กกพ.ต้องทำหน้าที่ดำเนินการในการเสนอความเห็นต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ตามมาตรา 11 (12) โดยขอให้ฝ่ายนโยบายจัดการกับต้นทุนค่าไฟฟ้าในส่วนค่าใช้จ่ายตามนโยบายรัฐ (Policy Expense) ซึ่งประกอบด้วย โครงการ Adder และ Feed in Tariff (FiT) โดยมีต้นทุนการรับซื้อไฟฟ้าสูงกว่าราคาต้นทุนจริงในภาวะปัจจุบัน และโครงการผลิตไฟฟ้าแบบ Adder เหล่านี้ไม่มีวันสิ้นสุดสัญญา เป็นเหตุให้ประชาชนต้องแบกรับภาระค่าไฟฟ้าโดยไม่จำเป็น“