นายอัสสเดช คงสิริ กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เปิดเผยความคืบหน้าการปรับปรุงมาตรการตลาดหลักทรัพย์ฯ ว่า เมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2568 ทางที่ประชุมคณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์ฯ มีมติเห็นชอบแนวทางปรับปรุงมาตรการเพื่อยกระดับความเชื่อมั่น ที่ได้เริ่มใช้บังคับในช่วงปี 2567 เป็นต้นมา
โดยได้พิจารณาแนวทางและมาตรการอย่างรอบด้าน เพื่อให้เกิดความเหมาะสมของการใช้มาตรการตามสถานการณ์ มุ่งหวังที่จะเพิ่มความเชื่อมั่นผู้ลงทุน และสร้างเสถียรภาพตลาดหุ้นไทย ซึ่งหลังจากนี้ทางตลาดหลักทรัพย์ฯ จะเปิดรับฟังความคิดเห็นจากผู้เกี่ยวข้อง ก่อนเสนอคณะกรรมการ ก.ล.ต. เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบ ซึ่งคาดว่าจะใช้บังคับได้ประมาณปลายไตรมาส 2/2568
สำหรับการปรับปรุงในครั้งนี้ สามารถสรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้
1. การกำกับดูแลการขายชอร์ต
- ปรับปรุงคุณสมบัติของหลักทรัพย์ที่สามารถขายชอร์ตได้ ให้เป็นหลักทรัพย์เฉพาะในกลุ่ม SET100 จากเดิมที่กำหนดให้เป็นหลักทรัพย์ในกลุ่ม SET100 และ non-SET100 ที่มีขนาดใหญ่และมีสภาพคล่องสูง (คือ มี Market Capitalization เฉลี่ย 3 เดือน ไม่น้อยกว่า 7,500 ล้านบาท และมี Monthly Turnover ในรอบ 12 เดือน ไม่น้อยกว่า 2% รวมทั้งมีการกระจาย Free Float ไม่น้อยกว่าร้อยละ 20 ของทุนชำระแล้ว)
- กำหนดให้ใช้เกณฑ์ Uptick เมื่อจำเป็น คือ กรณีปกติสามารถใช้เกณฑ์ Zero-Plus Tick สำหรับการขายชอร์ตได้ เว้นแต่เมื่อหลักทรัพย์ใดมีราคาลดลงถึงระดับที่กำหนด (เช่น ≥X% จากราคาปิดของวันก่อนหน้า) จึงจะต้องขายชอร์ตหลักทรัพย์นั้นด้วยเกณฑ์ Uptick ในวันทำการถัดไป
2. การดำกับดูแล HFT
- กำหนดให้ผู้ลงทุนที่ขึ้นทะเบียนส่งคำสั่งซื้อขายแบบ High Frequency Trading (HFT) สามารถส่งคำสั่งซื้อขายได้เฉพาะหลักทรัพย์ในกลุ่ม SET100 ทั้งนี้ไม่รวม Market Maker และหลักทรัพย์บางประเภท
3. การผ่อนคลายมาตรการที่ได้ประกาศใช้เมื่อปี 2567
- ยกเลิกเกณฑ์กำหนดเวลาขั้นต่ำของคำสั่งซื้อขาย (order) ก่อนที่จะสามารถยกเลิกคำสั่ง (Minimum Resting Time)
- เลื่อนการบังคับใช้เกณฑ์การกำหนดกรอบราคาซื้อขายแบบ Dynamic Price Band เป็นรายหลักทรัพย์ Phase 2 ออกไป
ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดความมั่นใจในเชิงนโยบาย ตลาดหลักทรัพย์ฯ จะคงมาตรการต่างๆ ที่มีอยู่เดิม และที่จะมีการปรับปรุงในครั้งนี้ให้มีการใช้อย่างต่อเนื่อง โดยจะทบทวนอีกครั้งในปี 2569