เปิดตำนานหลวงปู่ทวด

11 ม.ค. 2568 | 10:18 น.
อัปเดตล่าสุด :11 ม.ค. 2568 | 11:32 น.
1.3 k

เปิดตำนานหลวงปู่ทวด คอลัมน์ Cat out of the box

KEY

POINTS

  • คำว่าหลวงปู่ทวด เฉพาะคำว่าทวดไม่ใช่ชื่อของท่าน แต่เป็นภาษาปักษ์ใต้ใช้เรียกสิ่งที่เก่าแก่และลึกลับโดยสำรวมไม่ต้องออกนาม ซึ่งเป็นไปตามวัฒนธรรมการเคารพผู้ใหญ่ในสังคมไทยซึ่งมีอยู่ทั่วทุกภูมิภาค
  • ทำไมที่สงขลา เรียกว่าสมเด็จเจ้าพระโคะ อยู่ที่วัดพระโคะ (พะโคะ) ตรงเมืองสทิงพระ เขตจังหวัดสงขลา เป็นองค์เดียวกับที่วัดช้างให้ปัตตานี หรือเปล่า หรือเป็นแต่ชื่อว่าหลวงปู่ทวดเหมือนกัน?

สองฉบับที่ผ่านมานั้นเขียนไปเฉี่ยวถึงกรณีพระเครื่องหลวงปู่ทวดหลังเตารีดเข้า อันเปนพระเครื่องสร้างขึ้นที่วัดช้างให้ จังหวัดปัตตานี มีอิทธิคุณเป็นที่เลื่องลือ 

กล่าวขานกว้างขวางทั่วไป คุณผู้อ่านก็กรุณาทักถามมาถึงว่าหลวงปู่ทวดนี้ ท่านมีกี่คนกันแน่?

ทำไมที่สงขลาก็มี เรียกว่าสมเด็จเจ้าพระโคะ อยู่ที่วัดพระโคะ (พะโคะ) ตรงเมืองสทิงพระ เขตจังหวัดสงขลา เป็นองค์เดียวกับที่วัดช้างให้ปัตตานี หรือเปล่า หรือเป็นแต่ชื่อว่าหลวงปู่ทวดเหมือนกัน?

มาบัดนี้ย่อมได้เวลาอรรถาธิบายรับใช้คุณผู้อ่านถึงกรณีองค์หลวงปู่ทวดท่าน อันคำว่าหลวงปู่ทวดนั้น เฉพาะคำว่าทวดไม่ใช่ชื่อของท่าน แต่เป็นภาษาปักษ์ใต้ใช้เรียกสิ่งที่เก่าแก่และลึกลับโดยสำรวมไม่ต้องออกนาม ซึ่งเป็นไปตามวัฒนธรรมการเคารพผู้ใหญ่ในสังคมไทยซึ่งมีอยู่ทั่วทุกภูมิภาค ของที่เก่าแก่และลึกลับนี้อาจรวมไปถึงสิ่งมีชีวิตชนิดอื่นก็ได้ เช่น ทวดงู ใช้เรียกแทนความหมายกรณีที่ไปเจองูซึ่งมีขนาดใหญ่เป็นพิเศษและงูนั้นสร้างปรากฏการณ์พิเศษลึกลึกลับลับ มีการให้คุณให้โทษแก่ผู้พบเห็น


โดยเฉพาะหากว่าความลึกลับเปนชนิดที่มีประโยชน์น่านับถือ อย่างนี้ก็เรียกงูนั้นว่า_ทวดงู โดยอาจจะมีการสร้างศาล สร้างศาลาบังแดดบังฝนเอาไว้ให้ ส่วนทวดงูจะมาอยู่หรือเปล่า หรือ จะทำรูปสมมติไว้ให้ก็อีกเรื่องหนึ่ง ส่วนจระเข้เก่าแก่ลึกลับและพิเศษก็มีฐานะเปนทวดจระเข้ เต่าเก่าแก่ลึกลับและพิเศษ ก็มีฐานะเปนทวดเต่า

กรณีของหลวงปู่ทวดนี้ก็เช่นกัน ผู้คนเรียกท่านว่าทวดโดยเคารพในความวิเศษและลึกลับและโดยหลีกเลี่ยงการกล่าวชื่อจริงของท่านเปนการสำรวม ซึ่งในอดีตเมื่อย้อนเวลากลับไปสัก 50-60 ปีนั้นไม่มีใครเรียกท่านว่าหลวงปู่ทวด เรียกกันว่า หลวงพ่อทวด

อีทีนี้อาจเป็นด้วยว่าในระยะหลังมานี้วงการพระเครื่องรู้สึกว่าท่านมีอาวุโสสูงมากเกินกว่าผู้ใดจะนึกถึงเลยใช้คำว่าหลวงปู่เพื่อให้เหมาะกับอาวุโสอันยาวนานของท่าน กลายเป็นว่า หลวงปู่แทนหลวงพ่อ

ที่บริเวณคาบสมุทรสงขลาโดยเฉพาะบริเวณสทิงพระนั้นเป็นย่านโบราณเก่าแก่มีความเป็นมาไม่น้อยกว่าพันๆ ปีมีวัฒนธรรมชาติพันธุ์ปนเปตามประสาเมืองท่า เคยมีท่านผู้ปกครองเป็นโจรสลัดเสียด้วยซ้ำไป ส่วนคำว่าสทิงพระไม่ได้แปลว่าจะทิ้งพระ คำว่าสทิงเป็นภาษาเขมรซึ่งใช้เรียกคำว่าท่าน้ำหรือท่าเรือฉะนั้นแล้วกรณีสทิงพระก็ควรแปลว่า_ท่าพระ

ที่บริเวณสทิงพระต่อเขตพัทลุงในสมัยยุคกรุงศรีอยุธยา สามีภรรยาชาวนาคู่หนึ่งได้ให้กำเนิดบุตรชายขึ้นมา ให้ชื่อว่าปู เด็กชายปูผู้นี้การกำเนิดของท่านมีความอัศจรรย์แปลกประหลาดกล่าวคือ หลังคลอดแล้วมีงูจงอาง (ตระบองหลา) ใหญ่คาบลูกแก้วมาวางไว้ข้างตัวท่าน ตอนที่ท่านยังแบเบาะระหว่างที่บิดามารดาทำงานอยู่ในไร่นา โดยงูนั้นไม่ได้ทำอันตรายแก่ท่านเลย

 

เมื่อจำเริญวัยขึ้นเด็กชายปูได้บรรพชาเปนเณรที่วัดดีหลวง (กุฏีหลวง) ศึกษาเล่าเรียนมูลในสำนักวัดสีหยัง (ศรีกูญัง) ที่จังหวัดสงขลา ต่อมาท่านไปศึกษาข้อธรรมะอรรถวิชาต่อที่เมืองนครศรีธรรมราชมีความรู้ความชำนาญมากพอสมควร จนอายุครบบวชพระ ซึ่งมีข้อน่าสังเกตอยู่ว่า ท่านบวชโดย อุทกสีมา ใช้เรือมาดสามลำจอดต่อขนานเข้าด้วยกันแทนแพ ที่คลองหน้าท่าเรือ มีพระมหาเถรปิยะทัสสีเปนอุปัชฌาย์ ได้ฉายาว่าสามีราโม เล่าเรียนข้ออรรถข้อธรรมตามแบบธรรมเนียมเรื่อยมา

ทั้งนี้ด้วยว่าตัวท่านนั้นเปนผู้ใฝ่รู้ ยังคงมีความประสงค์ที่จะไปแสวงหาวิทยาการที่มีความก้าวหน้าเพิ่มเติมในเมืองหลวงซึ่งสมัยนั้นก็คือกรุงศรีอยุธยาต่อไป ท่านจึงตัดสินใจลงเรือจากท่าสงขลา_ไปอยุธยา

ตำนานที่เรียกกันว่าหลวงปู่ทวดเหยียบน้ำทะเลจืดนั้น เกิดขึ้นในตอนที่ที่ท่านจะเดินทางจากสทิงพระสงขลาไปกรุงศรีอยุธยานี่เอง กล่าวคือเมื่อเรือที่ท่านโดยสารไปเป็นเรือใบได้ไปประสบเหตุเภทภัยมากมายทั้งพายุกระหน่ำพาเรือออกนอกเส้นทาง ทั้งเรือติดค้างลมไม่พัดอยู่กลางทะเลอ่าวไทยกำหนดการเดินเรือต่างๆผิดพลาดไปหมดเสบียงอาหารในเรือก็หมดลงแต่เรือยังไม่สามารถเคลื่อนที่ไปไหนได้ ลูกเรือพากันกล่าวหาว่าน่าจะเป็นด้วยมีภิกษุอย่างท่านนั่งเรือมาจึงเป็นสาเหตุให้เกิดอาเพศอาถรรพ์ (ซึ่งเมื่อคิดดูแล้วชาวเรือนั้นอาจจะไม่ใช่คนพุทธ จึงได้คิดแบบนี้ ส่วนจะเป็นชาวศาสนาใดก็ไม่กล้าที่จะสันนิษฐาน-เพราะถ้าเป็นคนพุทธน่าจะไม่มองว่าอาเพศมาจากพระเณร น่าจะสบายใจด้วยซ้ำที่มีพระเณรอยู่ร่วมในเหตุการณ์วิกฤตเป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจพอได้) พวกเขาก็นำท่านลงเรือเล็กจะพาไปปล่อยทิ้งเพื่อให้พ้นจากเหตุอาถรรพ์ดังกล่าว

ในเวลานั้นเองท่านผู้ตกเป็นเหยื่อได้กระทำสัจจะกิริยาอธิษฐานนั่งบนกราบเรือแล้วแหย่ปลายเท้าซ้ายลงไปในทะเลครู่หนึ่ง จากนั้นท่านให้ตักน้ำบริเวณวงเท้าแหย่ ขึ้นแจกรับประทาน ก็ปรากฏว่าจืดสนิท ผู้คนในเรือทั้งเล็กใหญ่ก็รอดตายด้วยเหตุนี้มีน้ำกิน จึงเป็นที่มาของคำว่าท่านนั้นเหยียบน้ำทะเลจืด

ซึ่งเหตุในการเหยียบนั้นว่ากันว่าเกิดบริเวณราวๆทะเลสิชล ทะเลชุมพร และเป็นไปได้ที่จะได้เหยียบน้ำทะเลที่จุดอื่นอีกเพราะการเดินทางยาวไกลนัก (แทรกไว้บรรทัดนี้ว่า ท่านผู้สามารถทำน้ำทะเลจืดได้ในยุคหลังนี้อย่างน้อยมีคือหลวงพ่อยิด วัดหนองจอก เมืองประจวบคีรีขันธ์ แต่ไม่ได้ใช้เท้าเหยียบลงทะเลใช้นิ้วมือวนขันใส่น้ำทะเล ราวกับเป็นการไล่อิออนเกลือให้ตกตะกอนลงไปเบื้องล่าง)


 
เมื่อพระภิกษุปูท่านเดินทางถึงกรุงศรีอยุธยาแล้วก็ไปพำนักที่วัดแคทำการศึกษาเล่าเรียนพระปริยัติธรรมต่อที่วัดลุมพลี ได้ความรู้ความสามารถสมดังที่ท่านตั้งใจ

จนกระทั่งวันหนึ่งเกิดเหตุคณะทูตซึ่งเป็นสมณชีพราหมณ์จากกรุงลังกามาเข้าเฝ้า พระเจ้าอยู่หัว (สันนิษฐานว่า รัชสมัย พระมหาธรรมราชา ต่อเนื่องถึงพระเอกาทศรถ) โดยท้าทายว่าหากมีผู้ใดสามารถแปลปริศนาภาษาบาลีที่พราหมณ์พกมานี้ได้ก็จะยอมรับนับถือประเทศไทยแต่หาไม่แล้วประเทศไทยนั้นจะต้องยอมรับนับถือฝ่ายลังกา ซึ่งบางตำนานกล่าวกันถึงว่าพนันกันเอาบ้านเมือง

พระภิกษุปูซึ่งท่านมีฉายาทางพระว่าสามีราโม เป็นผู้สามารถไขปริศนาลังกาได้ด้วยภูมิธรรมอันสูง พระเจ้าอยู่หัว มีความปลื้มปิติโสมนัสยินดีโปรด พระราชทานสมณศักดิ์ แก่ท่านเป็นที่ พระราชมุนีสามีรามคุณูปมาจารย์ ราชาคณะแล้วโปรดให้เป็นสังฆปาโมกข์ดูแลพื้นที่ภาคใต้ทั้งหมด ถ้าเทียบว่าสมัยนี้ก็คือ เจ้าคณะหนใต้

ครั้นถึงเวลาเหมาะสมท่านพระราชมุนีฯ ถวายพระพรลา_ขอกลับบ้านเมืองที่สงขลาพระเจ้าอยู่หัวก็มีพระทัยยินดีร่วมกุศลโดยถวายทองคำน้ำหนักมาก สูงศอกหนึ่ง ให้แก่ท่าน เพื่อทำฉลองหุ้มยอดเจดีย์ที่วัดบ้านเกิด

ท่านกลับมาถึงแล้วเลือกวัดพะโคะเก่าแก่เปนที่สถิตย์พำนักจำพรรษาและลงมือบูรณะปฏิสังขรณ์ทำเจดีย์ยอดทองคำ พระเจ้าอยู่หัวในรัชกาลนั้นมีหนังสือสำคัญเกณฑ์ชาวนาชาวไร่ยกให้เปนข้าพระ ขโยมสงฆ์ ยกที่ดินโดยรอบกัลปนาให้แก่วัดพะโคะโดยมีเอกสารชัดเจนเริ่มจากบริเวณปากทะเลสาบสงขลาไปถึงอำเภอระโนดในปัจจุบัน ชุดเอกสารและแผนที่ยังเก็บอยู่ที่หอสมุดแห่งชาติเวลานี้ ซึ่งผู้สันทัดกรณีวิเคราะห์การกัลปนาอย่างมโหฬารนี้ว่าชะรอยอย่างกับขอให้ท่านไปตั้งป้อมฐานทัพ ทำค่ายคูประตูหอ รอรบ ไว้ป้องกันบ้านเมือง
 


มาถึงบรรทัดนี้เราจะพบว่าหลวงปู่ทวดนั้นท่านมีชื่อว่า_ปู

ฉายาทางพระว่า_สามีราโม
สมณศักดิ์เป็นที่_พระราชมุนีสามีรามคุณูปมาจารย์
ตำแหน่ง_สังฆปาโมกข์แดนใต้
สถิตย์อยู่_วัดพระโคะ สทิงพระสงขลา


ต่อมาไม่นานท่านพัฒนาวัดรุ่งเรืองขึ้นสงเคราะห์ผู้คนถ้วนหน้า ผู้คนก็พากันเกรงใจที่จะเรียกชื่อท่านอีกนั่นแหละเลี่ยงไปเรียกว่า ‘สำเร็จ’ - ซึ่งเป็นคำยกย่องเรียกท่านผู้ซึ่งสำเร็จ ว่า สำเร็จ ซึ่งภายหลังรวบเป็นคำว่าสมเด็จต่อมา

สมญาของท่าน จึงมีอีกว่า_สำเร็จเจ้าพระโคะหรือสมเด็จเจ้าพระโคะ อีกสมญาหนึ่ง และแล้วอยู่มาอีกวันหนึ่งก็ให้มีสามเณรรูปหนึ่งมาจากกรุงศรีอยุธยาเข้าพบหลวงปู่ทวดที่ในกุฎิแล้วท่านทั้งสองก็หายตัวไปหาได้มีผู้ใดพบเห็นอีกเลย

ตามตำนานซึ่งมีหลายกระแสกล่าวว่า สามเณรนั้นเป็นเทวทูตได้นำเอาดอกมณฑาทิพย์ซึ่งเป็นสัญลักษณ์วิเศษของผู้บรรลุธรรมจากแดนสวรรค์มาถวายซึ่งเท่ากับเป็นคำเชื้อเชิญอันปฏิเสธไม่ได้ให้ท่านเดินทางขึ้นสู่โลกอันเป็นทิพย์ ท่านจึงหายขึ้นข้างบนไปโดยภาษาใต้ใช้คำว่า ‘โละ’ เปน verb คำกิริยาแปลว่า หายไป โดยปรากฏเปนลูกไฟเรืองขนาดใหญ่มีรัศมีหลากสีสวยงามวนอยู่ที่ยอดเจดีย์วัด 3 รอบจึงหายลับไปทางทิศอาคเนย์

อย่างไรก็ดีหากพูดกันตามตำราธิเบตแล้วผู้สำเร็จทางจิตเช่นลามะของฝ่ายทิเบตนั้น เมื่อถึงความสำเร็จถึงระดับแล้ว ร่างกายจะค่อยค่อยหดเล็กลงๆทุกวัน จนกระทั่งหายไปเปนสายรุ้งทาบฟ้าไม่เหลือซากไว้เลย เช่นกันว่าการ ‘โละ’ อาจจะเป็นเรื่องทำนองเดียวกันก็ได้

ตำนานของสมเด็จเจ้าพระโคะหรือสำเร็จเจ้าพระโคะได้ปิดฉากลงในภาคหนึ่งเสียก่อนด้วยการโละไปของท่าน ดังนี้

โดยผู้สันทัดกรณีท่านว่า หากพิจารณาในทางราชการลับ ลือกันว่าสามเณรท่านนั้นเป็นบุคคลสำคัญของราชสำนักอยุธยาคนหนึ่ง ซึ่งได้รับความไว้วางใจมาก ให้โกนหัวบวชเณรเดินทางพรางมาทำหน้าที่ทูตทหารของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่กรุงศรีอยุธยา ซึ่งมีความประสงค์จะให้ท่านพระราชมุนีสามีรามคุณูปมาจารย์นอกจากช่วยกำกับดูแลการศาสนาในดินแดนใต้แล้วไซร้ จะขอให้ท่านปกปักดูแลกิจการด้านความมั่นคงของแผ่นดิน ในบริเวณชายแดนพระราชอาณาเขต เพิ่มเติมอีกประการหนึ่งด้วย

โดยพระราชทานแหล่งเสบียงกรัง,กองกำลังผู้คน, ทุนทรัพย์เอาไว้ให้พร้อมสรรพ เนื่องจากในเวลานั้นโจรสลัดบุกเข้าปล้นอยู่เนืองๆ และเมืองหลวงหรือกองกำลังสำคัญอยู่ห่างไกล การที่ผู้นำในพื้นที่สามารถกะเกณฑ์ผู้คนได้เอง (โดยกระทำถูกต้องตามกฏหมาย เพราะพระมหากษัตริย์ให้อำนาจไว้) เข้าเป็นกองกำลังคุ้มครองตนเอง ปกป้องชุมชนนั้นจึงเป็นเรื่องที่สมเหตุสมผลๆ

(ต่อภาค 2)