KEY
POINTS
ล่องจากเชียงใหม่กลับบ้านเขาใหญ่วานนี้ เลือกใช้เส้นทางอ้อมหน่อยจักดีกว่าเจตนาหมายใจจักไปไหว้สาท่านครูบาผู้ใหญ่ ที่ใช้หนึ่งสมองสองฝีมือรังสรรค์สร้างงานพระพุทธศิลป์ทรงคุณค่าตลอดระยะเวลากว่าสามสี่สิบปีมานี้ ที่อำเภอเด่นชัย จนเกิดเป็นพระมหาธาตุสุโทนมงคล ขาวสะอาดเด่นตระการตา อยู่ด้านหน้าสามแยกทางเข้าอำเภอ
ท่านพระครูวิฑิตพิพัฒนาภรณ์ ผู้นี้ ชาวบ้านนิยมเรียกขานว่าครูบามนตรี ตามชื่อเดิมแห่งท่าน อยู่ในร่มกาสาวพัตรมายาวนาน เปนผู้มีภูมิธรรมความรู้สูงมาก ท่านอรรถาธิบาย จารีตประเพณี วิถีชีวิตในสังคมโดยละเอียดแยบคาย มีความเป็นนักวิชาการตามตำราตำรับสมัยใหม่อย่างสูง ครั้งก่อนได้ไปไหว้สา ท่านก็เมตตาอวยชัยให้พรแบบทางเหนือ บอกเทคนิคการอุทิศกุศล จำแนกอรรถกถาต่างๆให้ฟัง โดยมิพักจะทันได้เอ่ยถาม
นับเปนผู้สำเร็จที่ควรกราบไหว้ ครูบามนตรีเป็นผู้มีความชำนาญ ในศิลปะฝ่ายล้านนาแทบทุกแขนงโดยเฉพาะอย่างยิ่งในงานปั้นจากทราย ที่ครูบาหมายจะปั้นรูปท่านผู้ใดหรือสิ่งใดแล้วจะออกมาเหมือนตัวตนเป็นเป็นทั้งสิ้น
วัดพระธาตุสุโทนมงคลคีรีที่ท่านสร้างนี้ เป็นพุทธสถานที่ซึ่งรวบรวมศิลปะล้านนาประยุกต์อันงดงามเอาไว้มากที่สุดแห่งหนึ่ง ซึ่งนอกจากใช้เทคนิคการสร้างสรรค์แบบล้านนาผสมผสานแล้ว ท่านผู้สร้างยังสกัดเอาและจำลองงานศิลป์ชั้นยอดของล้านนามาไว้ประดับโลกามากมาย โดยได้วิทยาการรูปแบบมาจากวัดสำคัญๆของทางเหนือ และเมืองเก่า ที่ปัจจุบันตกอยู่ในเขตพรมแดน พม่า จีน และลาว โดยการเลือกเอาจุดเด่นของแต่ละแห่งมารวบรวมไว้ที่วัดแห่งนี้ เช่น งานซุ้มประตูด้านหน้าโบสถ์ ใช้ศิลปะบันดาลใจมาจากงานของวัดพระธาตุลำปางหลวง
ซุ้มประตูด้านตะวันออก สกัดแบบมาจากวัดพระธาตุดอยสุเทพ
ซุ้มประตูด้านตะวันตก จากวัดพระธาตุหลวงเวียงจันทร์ (ซึ่งวัดนี้สร้างโดยช่างฝีมือเชียงใหม่ที่พระเจ้าชัยเชษฐาธิราชแห่งล้านช้างเป็นผู้พาไปสร้าง)
ฐานพระอุโบสถเปนกลบทรูปซิกแซก ถอดแบบมาจาก วังที่ประทับพญาเม็งราย ที่จังหวัดเชียงราย
ประตูและหน้าต่างลวดลายแกะสลัก คัดมาจากวิหารลายคำวัดพระสิงห์ เชียงใหม่
ปั้นลมลวดลายเก่าศิลปะทางเหนือ จากวัดต้นเกว๋น เชียงใหม่
ตัวนาค 7 เศียร แบบขอม / นางอัปสรปูนปั้น จากวัดเจ็ดยอด เชียงใหม่
หอไตร จำลองแบบ จากวัดพระสิงห์ เชียงใหม่
ข้างหอระฆัง จำลองแบบมาจากวัดพระธาตุหริภุญไชย
กุฏิหลังใหญ่สร้าง(แปง) จากไม้สักทองมาจากบ้านไทยสิบสองปันนา ในเขตประเทศจีนปัจจุบัน
เจดีย์พระบรมธาตุ 30 ทัส ศิลปะเชียงแสนจากวัดพระธาตุนอ(หน่อ) ของพระชนกพระเจ้าเม็งรายมหาราช จากแคว้นสิบสองปันนา
บางมุมสำหรับสำหรับท่านที่เดินทางไปไหว้สาพระบรมธาตุที่พม่ามาก็อาจจะพบเห็นความชุ่มเย็นของศิลปะเจดีย์รายที่ตั้งอยู่ทิศเหนือของพระมหาเจดีย์ชเวดากองแห่งเมืองย่างกุ้ง มาปรากฏอยู่ที่มุมหนึ่งของพระธาตุสุโทนมงคล พร้อมทั้งงานปั้นอารมณ์ดีเช่นพญายักษ์กุมภัณฑ์กอดอาวุธแอบหลับยาม ยามเข้าเวรเฝ้าพระเจดีย์ ซึ่งต้องลอบสังเกต
โดยทั้งหมดจัดวางให้เข้ากันได้ดียิ่งอย่างมีองค์ประกอบศิลป์บนพื้นหินอ่อนขาวเลื่อม ไหนจะสำเภาทองที่บ่งบอกปริศนาธรรมในการข้ามโอฆสงสาร ไหนจะสัตตภัณฑ์ครุฑยุดนาค ที่หาชมไม่ได้จากที่ใด แล้วยังจะสวยดอกหรือช่อดอกไม้ที่จัดเตรียมไว้ให้ผู้คนบูชาโดยสวยงามมินิมอลดอกขาวประกอบธูปแดง
ช่างสวยสดงามงดเหมาะนักสำหรับท่านผู้นิยมงานศิลปะได้ไปเยี่ยมไปชมให้สมความมุ่งมาดปรารถนา จังหวะได้กราบครูบาครานี้ เด็กเยาวชนนั่งรถมาแต่เชียงใหม่ มีคำถามเรื่องชนชาติไทยมาจากไหนลงจากเทือกเขาอัลไตหรือแคว้นสิบสองปันนามาอย่างไร ก็ตอบได้นิดๆหน่อยๆตามบันทึกความทรงจำในหัวที่ขาดๆวิ่นๆ จนกระทั่ง ขาล่องลงมาถึงเวียงโกศัย เด่นชัย เมืองแพร่นี้ ทานถวายอะโวคาโด้ (ลูกเนย) แด่ครูบาแล้ว ท่านก็อยู่ๆพูดเรื่องชาวไทยลงมาจากยูนนาน
พูดเรื่องอาณาจักรโยนกเมืองโบราณหนองแส พูดเรื่องคนไทยใช้ภาษาเดียวกันอยู่ตามแนวแม่น้ำโขงเรื่อยไปจนถึงนครนครพนม จนออก เวียดนาม ครูบาได้สำรวจคราวเดินธุดงค์พบข้อมูลเป็นจริงดังว่า ไขความให้พระเดชพระคุณเยาวชนขี้สงสัยซะอย่างงั้น โดยมิพลันต้องกราบเรียนไต่ถาม
คนมีจินตนาการมาร่วมไหว้สาครูบาด้วยก็กราบเรียนละลาบละล้วงครูบาว่า กระผมรู้สึกว่าในอดีตนั้นครูบาเคยเป็นเจ้าเมืองเป็นผู้นำชุมชนเก่า ครูบาสร้างเมืองเรียนรู้อักขระพระธรรมศิลปะวิทยาการต่างๆ ปกครองผาสุก ครูบายิ้มด้วยลูกในตาแต่ยังสงวนท่าที มิตอบรับ เพียงว่าเอ่ยวาจาถนอมน้ำใจว่า_คงอย่างนั้นหรอกแล้วท่านก็หันมามองเยาวชน บอกว่าคนเรานั้นมันเวียนว่ายตายเกิดนะลูก ดูขนาดฝนที่เราเห็นมันตกลงมามันมาเป็นแอ่งน้ำแล้วมันก็ระเหยขึ้นไปเป็นเมฆแล้วมันก็ยังตกลงมาเป็นฝนใหม่ คนเราก็วนเวียนมาเจอกันใหม่อย่างงั้น เหมือนท่านบอกปริศนากถาธรรม
กราบสาธุท่านแล้ว ก็เลยว่าครูบากำลังสร้างงานศิลปะอะไรครับพักนี้ ใคร่อยากจะร่วมด้วย ท่านว่ากำลังหาทางหล่อพระแบบที่เขาเจอที่เชียงแสนน่ะ โอ้โห_อะไรมันจะบังเอิญก็ในเมื่อตั้งใจจะไปไหว้ครูบาตนน้อยที่ชื่ออ๊อดที่ว่ามาจากพะเยาแล้วไปอยู่ริมน้ำโขงตรงเชียงแสนป่ายางสบยาบ เขตจังหวัดเชียงราย แล้วเป็นคนที่ไปตรวจพระเชียงแสนโลหะที่จมน้ำโขงอยู่จนเกิดเป็นข่าวดังระดับโลก จนประดาเซียนพระและประดานักศิลปะก็พากันทะเลาะถึงความเก่าความแท้ของพระปฏิมางดงามศิลปะใต้ผืนทรายองค์นั้น จนปัจจุบันตกผลึกเป็นที่ยอมรับกันแล้วว่าของเขาแท้ของเขาจริง
ซึ่งเมื่อรอบที่แล้วนอนอยู่ที่ลำปางก็มีทีมงานผู้นิยมพญานาคเล่าให้ฟังว่า จะไปร่วมกุศลกับครูบาอ๊อด สร้างรูปพญานาค (ตามคำขอของพญานาค)
ไว้ที่วัดริมน้ำโขงที่เชียงรายแห่งท่าน ก็หมายใจจะเอาตู้โมดูล่าคิวบิเคิลไปตั้งถวายทำกุฏิริมน้ำโขงให้ผู้มาแสวงวิโมกข์ธรรมนอนพัก
กลับมาที่ครูบามนตรี ครูบามนตรี ท่านว่าจะสร้างพระอย่างเชียงแสนนั้นเพราะว่าถอดได้หลายชิ้นเวลาข้าศึกเขาบุกมาตีเรา เราจะได้ถอดพระเป็นชิ้นเอาหนีได้ ไม่ยังงั้นหนีไม่ทันตั้งพระทิ้งไว้เขาเอาของเราไปหลอมทำลายหมดสูญสิ้นทุกอย่าง แล้วสายตาท่านก็เหม่อมองออกไปในความเวิ้งว้าง กิริยาแห่งท่าน ทำให้กระตุกใจคิดขึ้นมาทันทีเลย ว่าหรือท่านกำลังรำพึง ถึงเรื่องเก่าเมื่อคราวท่านเป็นผู้นำถูกเขาโจมตีเมืองล่มต้องหนีร่นถอยลงมาตรากตรำ
มาบัดนี้จึงได้เวลาปัดฝุ่นชุดความรู้ เกี่ยวกับเรื่องเมืองเก่าแถวๆนั้น ซึ่งจะไม่มีอะไรอ่านเพลินและได้ความรู้ความเข้าใจดีไปกว่าวรรณกรรมชุดสามก๊ก ฝีมือเขียนของหม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช ศิลปินแห่งชาติผู้ลือนามคนนั้นในตอน_เบ้งเฮ้ก ผู้ถูกกลืนทั้งเป็น (โดยท่านหมายถึงถูกกลืนชาติ)
เวลานั้นบ้านเมืองฝ่ายเมืองจีนยุคสามก๊ก พระเจ้าเล่าปี่ถึงแก่สวรรคาลัย ท่านกวนอูสิ้นภพจบชาติใหม่กลายเป็นเทพเจ้า ส่วนน้องเล็กเตียวหุยดื่มสุราจนมีอาการไม่สู้ดีและจากไปอีกคน คงเหลือแต่ขงเบ้งยอดปรมาจารย์กับเตียวจูล่งยอดขุนพลเสื้อเกราะขาวสุภาพบุรุษจากเซียงสาน ก็ให้ปรากฏว่าเกิดการจลาจลแข็งเมืองขึ้นในภูมิภาคประมาณว่าสิบสองปันนาเลาะมาลุ่มน้ำโขง โดยมีผู้นำคือเบ้งเฮ็ก เจ้าเมืองมันอ๋องผู้มีลักษณาการเป็นนักรบไม่ใส่เสื้อขี่ควายป่า สามารถรวมคนผู้กล้าได้เรือนหมื่นแสน มีเจตนาจะปลดแอกแผ่นดินจากจีนสามก๊ก ซึ่งได้จังหวะเข้าครอบมาสักสองชั่วคน ทำการบุกทะลวงลึกเข้าไปในแผ่นดินของพระเจ้าเหล่าเศียร (เล่าเสี้ยน _แต่เขียนออกสำเนียงไทย) ตีได้เมืองเล็กเมืองน้อยแตกหลายเมือง
ขงเบ้งและจูล่งรับราชโองการจากองค์เหนือหัว มาทำศึกปราบเบ้งเฮ็กผู้ซึ่งท่านผู้เขียนสันนิษฐานว่าเป็นชนเผ่าไทโดยไม่พักต้องสงสัย รายละเอียดและลักษณะแห่งความเป็นไทๆมีเยอะมากซึ่งจะหยิบมาอธิบายเล่าสู่ท่านฟังเป็นลำดับๆต่อๆไป ที่น่าสนใจในตอนนี้คือขงเบ้งเป็นผู้มีอุบายชาญฉลาดนัก รบเอาชนะเบ้งเฮ็กได้ครั้งใดก็ได้แต่คุมตัวไว้เลี้ยงข้าวปลาอาหารอย่างดี ถามเพียงว่าจะยอมรับหรือยังในอำนาจรัฐาธิปัตย์สามก๊กรัฐบาลพระเจ้าเล่าปี่คนลูก เบ้งเฮ็กก็ไม่เคยยอมรับสักที ขงเบ้งเองฟังแล้วก็หัวเราะหึๆปล่อยตัวเบ้งเฮ็กออกมาทุกครั้งเป็นปกติวิสัย นำมาซึ่งความฉงนสนเท่ห์ใจ ทั้งในหมู่แม่ทัพร่วมรบอย่างจูล่งเองไปยังกระทั่งเบ้งเฮ็กผู้จับ ว่าเหตุไหนเลยไม่เคยที่จะกุมตัวไว้ข้ามวัน รบแพ้จับได้ก็ปล่อยๆ เสียเวลาทำสงครามยังกะเล่นเอาเถิดเจ้าล่อ
ขงเบ้งจึงอธิบายให้พวกเขาเหล่านายทัพเป็นการภายในฟังว่า มันเป็นแผนการแยบยลของแกเองที่เมื่อปล่อยเบ้งเฮ็คไปทั้งที่แพ้หลุดลุ่ยนั้น ก็รู้ทั้งรู้ว่าตัวเขาย่อมหมดกำลังไม่สามารถกลับมาต่อกรได้อีก
แต่เมื่อพิเคราะห์ดูลักษณะความเป็นคนไท(ย)น้ำใจอิสระ เรื่องจะนิยมจมไปในความแพ้พ่ายนั้นเป็นไม่มี เบ้งเฮ็กจำจะต้องไปตามสมัครพรรคพวกเจ้าเมืองอื่นๆที่สนิทสนมนิยมชมชอบในความเป็นไทด้วยกัน รักชาติมาตุภูมิด้วยกันให้พากันมาสู้รบใหม่ และในโอกาสนี้เองกองทัพของพระเจ้าเล่าปี่ผู้ลูกก็จะสามารถหยิบจับคว้าหาเอาประดาผู้ร่วมก่อการไปฆ่าทิ้งเสียให้ได้ทั้งหมดโดยไม่พักต้องเสียเวลาไปสืบหาว่าผู้ใดอยู่ในกระบวนการแบ่งแยกดินแดนร่วมกับเบ้งเฮ็กบ้าง
คณะพรรคพวกได้ฟังดังนี้ก็ตบเข่าฉาด ว่าวางแผนการดี_วางแผนการดี เสียดายที่เบ้งเฮ็กเองท่านมิได้รับรู้กลศึกนี้ จึงตกหลุมพรางของจอมนักปราชญ์อย่างขงเบ้งเสียเต็มประตู สู้รบเจ็ดครั้งพาเพื่อนและสหายสงครามไปตายจนสิ้น รายละเอียดของยุทธการชั้นครูชนิดนี้พร้อมทั้งความมุ่งหมายมุมานะจะรักษาเอกราชความเป็นไทซึ่งมีอยู่ในบรรพชนเบ้งเฮ็กโดยครบถ้วนนั้นท่านผู้สนใจสามารถศึกษาต่อได้เอง จากหนังสือเล่มที่ว่า
ทีนี้ว่าจุดที่น่าสนใจนั้นคือพงศาวดารจีนในยุคสามก๊กได้พูดถึงลักษณะอาการของผู้คนของเมืองมันอ๋องเอาไว้อย่างละเอียดซึ่งน่าแปลกใจว่าตรงกับลักษณะของคนไทในแคว้น สิบสอง ปันนาหรือคนไททางล้านนาล้านช้างหลายประการเป็นอย่างมาก (ต่อตอน 2)