คณะแพทยศาสตร์ มช. ชู AI ยกระดับการแพทย์ภาคเหนือ

02 ก.พ. 2568 | 05:09 น.

แพทยศาสตร์ มช. เดินหน้ายกระดับการแพทย์และสาธารณสุขภาคเหนือ นำร่องใช้เทคโนโลยี AI ดูแลผู้ป่วย เปิดตัวห้องปฏิบัติการทางการแพทย์ระบบอัตโนมัติแบบครบวงจร แห่งแรกและแห่งเดียวในอาเซียน จับมือสถาบันการศึกษาจีน ยกระดับงานวิจัยทางการแพทย์ไทย-จีน

ศ.(เชี่ยวชาญพิเศษ) นพ.บรรณกิจ โลจนาภิวัฒน์ คณบดีคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.) เปิดเผยว่า คณะแพทยศาสตร์ มช. มีบทบาทสำคัญในการตอบสนองต่อความต้องการด้านสุขภาพของประชาชน โดยเฉพาะในภาคเหนือของประเทศไทย ซึ่งมีการให้บริการที่ครอบคลุมและเข้าถึงได้สำหรับผู้ป่วยทุกกลุ่ม รวมถึงผู้ป่วยยากไร้ที่ต้องการการดูแลเป็นพิเศษ

คณะยังมีการเปิดศูนย์วิจัยหลายแห่งที่มุ่งเน้นการศึกษาและพัฒนานวัตกรรมทางการแพทย์ เช่น ศูนย์จีโนมและศูนย์สุขภาพโลก ซึ่งมีการวิจัยที่มีผลกระทบสูงต่อการพัฒนาสุขภาพของประชาชนในช่วงปีที่ผ่านมาคณะแพทยศาสตร์ มช. มีการลงทุนในด้านการศึกษาอย่างมาก โดยเฉพาะการเปิดหลักสูตรใหม่ที่เน้นการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลและการวิเคราะห์ข้อมูล เช่น

การเปิดภาควิชา Bioinformatics ซึ่งมุ่งเน้นการใช้ข้อมูลผู้ป่วยในการวิจัยและการพัฒนาการรักษา นอกจากนี้ยังมีการพัฒนาหลักสูตรที่ให้ความสำคัญกับการเรียนรู้แบบบูรณาการ โดยนักศึกษาแพทย์สามารถเรียนรู้ควบคู่กับการศึกษาด้านวิทยาศาสตร์ข้อมูล เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการทำงานในยุคดิจิทัล

คณะแพทยศาสตร์ มช. ชู AI ยกระดับการแพทย์ภาคเหนือ

นอกจากนี้คณะแพทยศาสตร์ มช. ให้บริการทางการแพทย์ที่หลากหลายและทันสมัย โดยเฉพาะในด้านการรักษาผู้ป่วยที่มีอาการฉุกเฉิน เช่น การจัดตั้งห้องฉุกเฉินที่มีเครื่องมือทางการแพทย์ที่ทันสมัย รวมถึงการใช้เทคโนโลยี AI ในการวิเคราะห์ผลเอกซเรย์และการตรวจสอบสุขภาพของผู้ป่วย นอกจากนี้ คณะยังมีการให้บริการ Telemedicine ที่ช่วยให้ผู้ป่วยสามารถเข้าถึงการรักษาได้ง่ายขึ้น โดยไม่ต้องเดินทางมายังโรงพยาบาล

“ด้านการผลิตบุคลากรและงานวิจัยคณะแพทยศาสตร์ มช. มีบทบาทสำคัญในการผลิตบุคลากรทางการแพทย์ที่มีคุณภาพ โดยมุ่งเน้นการพัฒนาทักษะและความรู้ที่จำเป็นสำหรับการทำงานในสาขาการแพทย์และสาธารณสุข โดยเฉพาะในภาคเหนือของประเทศไทย ซึ่งมีความต้องการบุคลากรทางการแพทย์สูง

โดยปัจจุบันคณะมีการเปิดหลักสูตรที่หลากหลายเพื่อรองรับความต้องการของตลาดแรงงาน เช่น หลักสูตรแพทยศาสตร์บัณฑิตที่มีการเรียนการสอนที่ทันสมัยและเน้นการปฏิบัติจริง โดยนักศึกษาแพทย์จะได้รับการฝึกฝนในสถานพยาบาลที่มีมาตรฐานสูง นอกจากนี้ คณะยังมีการเปิดหลักสูตรปริญญาโทในสาขาต่าง ๆ เช่น Data Science และ Bioinformatics เพื่อเตรียมความพร้อมให้กับนักศึกษาในการทำงานในยุคดิจิทัล”

คณะแพทยศาสตร์ มช. ชู AI ยกระดับการแพทย์ภาคเหนือ

ศ.(เชี่ยวชาญพิเศษ) นพ.บรรณกิจ กล่าวอีกว่า คณะแพทยศาสตร์ มช. ยังมุ่งเน้นการทำงานวิจัยที่มีผลกระทบต่อสาธารณสุข โดยมีการตั้งศูนย์วิจัยที่มุ่งเน้นการศึกษาและพัฒนานวัตกรรมทางการแพทย์ เช่น ศูนย์วิจัยด้านระบาดวิทยาและศูนย์วิจัยด้านสุขภาพโลก ซึ่งมีการวิจัยที่เกี่ยวข้องกับปัญหาสุขภาพที่สำคัญในสังคม เช่น

โรคระบาดและการดูแลสุขภาพประชาชน ซึ่งการวิจัยที่ดำเนินการโดยคณะแพทยศาสตร์ไม่เพียงแต่มีเป้าหมายในการพัฒนาวิทยาศาสตร์การแพทย์ แต่ยังมุ่งหวังที่จะพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน โดยการนำผลการวิจัยไปใช้ในการพัฒนานโยบายสาธารณสุขและการให้บริการทางการแพทย์ที่มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

“คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มีบทบาทสำคัญในการผลิตบุคลากรทางการแพทย์ที่มีคุณภาพและการทำงานวิจัยที่ตอบโจทย์ความต้องการของสังคม โดยมุ่งเน้นการพัฒนาทักษะและความรู้ที่จำเป็นสำหรับการทำงานในสาขาการแพทย์และสาธารณสุข ซึ่งจะช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่และประเทศโดยรวม”

อย่างไรก็ดีคณะแพทยศาสตร์ มช. ได้มีความร่วมมือกับสถาบันการศึกษาในประเทศจีนเพื่อผลิตบุคลากรทางการแพทย์ที่มีคุณภาพ โดยเฉพาะในด้านการแพทย์และการวิจัย ซึ่งการร่วมมือดังกล่าวเริ่มต้นขึ้นเมื่อประมาณ 6 ปีที่แล้ว โดยมีการเปิดรับนักศึกษาแพทย์จากจีนเข้ามาศึกษาในหลักสูตรต่าง ๆ ที่คณะจัดทำขึ้น

คณะแพทยศาสตร์ มช. ชู AI ยกระดับการแพทย์ภาคเหนือ

โดยปัจจุบัน คณะแพทยศาสตร์ มช. มีนักศึกษาแพทย์จากจีนเข้าศึกษาในระดับปริญญาโทและเอกประมาณ 15-40 คนต่อปี ซึ่งนักศึกษาเหล่านี้ไม่เพียงแต่เป็นนักเรียนธรรมดา แต่ยังรวมถึงอาจารย์จากมหาวิทยาลัยในจีนที่มีตำแหน่งและความรับผิดชอบสูงนักศึกษาเหล่านี้มีความตั้งใจที่จะเรียนรู้และพัฒนาทักษะอย่างรวดเร็ว โดยมีเป้าหมายที่จะจบการศึกษาในระยะเวลาที่สั้นที่สุด เพื่อกลับไปทำงานในประเทศของตน

“การร่วมมือกับจีนไม่เพียงแต่ช่วยเพิ่มจำนวนบุคลากรทางการแพทย์ที่มีคุณภาพ แต่ยังส่งผลดีต่อการวิจัยและการพัฒนานวัตกรรมทางการแพทย์ โดยนักศึกษาเหล่านี้มีส่วนร่วมในการทำวิจัยที่มีคุณภาพสูง ซึ่งช่วยยกระดับชื่อเสียงของคณะในระดับประเทศและนานาชาติ

นอกจากนี้ ยังมีการจัดตั้งศูนย์วิจัยที่มุ่งเน้นการศึกษาและพัฒนานวัตกรรมทางการแพทย์ร่วมกับสถาบันในจีน ซึ่งช่วยสร้างเครือข่ายการวิจัยที่เข้มแข็งและมีประสิทธิภาพ เป็นการสร้างโอกาสในการพัฒนาทักษะและความรู้ที่จำเป็นสำหรับการทำงานในสาขาการแพทย์และสาธารณสุข ซึ่งจะช่วยยกระดับคุณภาพการศึกษาและการบริการทางการแพทย์ในประเทศไทยและภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ด้วย”

คณะแพทยศาสตร์ มช. ชู AI ยกระดับการแพทย์ภาคเหนือ

ทั้งนี้ในปีที่ผ่านมา โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ร่วมกับไอบีเอ็ม (NYSE: IBM) ร่วมมือกันดำเนินโครงการนําร่องใช้เทคโนโลยี Generative AI สนับสนุนการวินิจฉัย และการส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการอัตโนมัติครบวงจร บนพื้นฐานของข้อมูลที่โปร่งใสเชื่อถือได้

ภายใต้ระบบธรรมภิบาล AI (AI Governance) มาตรฐานโลก ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการบริการ ลดเวลาการรอรับบริการของผู้ป่วย พร้อมสนับสนุนการตัดสินใจของแพทย์ด้วยข้อมูลเชิงลึกรอบด้านที่ถูกต้องแม่นยํา สร้างความมั่นใจ เพิ่มคุณภาพ และเพิ่มความรวดเร็วในการรักษา

ซึ่งล่าสุดได้เปิดตัวห้องปฏิบัติการทางการแพทย์ระบบอัตโนมัติแบบครบวงจร (Complete Integrated Total Lab Automation) แห่งแรกและแห่งเดียวในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ด้วยเทคโนโลยีทางห้องปฏิบัติการสูงสุด ยกระดับมาตรฐานการให้บริการตรวจวิเคราะห์ทางห้องปฏิบัติการด้วยเทคโนโลยีที่ล้ำสมัย รองรับการให้บริการที่มีประสิทธิภาพ รวดเร็ว และแม่นยำมากยิ่งขึ้น

นอกจากนี้ยังใช้งบลงทุนอีกกว่า 600 ล้านบาทปรับปรุงอาคารผู้ป่วยหลวงปู่แหวน สุจิณฺโณ ซึ่งอาคารแห่งพลังศรัทธาที่เคียงคู่โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ มานานกว่า 40 ปี ณ ปัจจุบัน โครงสร้างภายในอาคารรวมถึงอุปกรณ์การแพทย์ต่างๆ มีสภาพทรุดโทรมตามกาลเวลา จึงมีนโยบายปรับปรุงอาคารผู้ป่วยหลวงปู่แหวน สุจิณฺโณ ทั้งอาคารเพื่อสนับสนุนกระบวนการดูแลรักษาผู้ป่วยให้มีประสิทธิภาพสูงสุด รวมทั้งยังใช้งบกว่า 48 ล้านบาทในการดูแลผู้ป่วยยากไร้ที่เข้ามารักษา ซึ่งมีความซับซ้อนและต้องใช้เทคโนโลยีทางการแพทย์ขั้นสูง ด้วย

 

หน้า 15 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจฉบับที่ 4,067 วันที่ 2 - 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2568