คณะแพทย์ มช. ผนึกส่วนราชการรับมือฝุ่น PM 2.5 ดูแลประชาชนเต็มที่

08 เม.ย. 2567 | 18:26 น.
อัปเดตล่าสุด :08 เม.ย. 2567 | 18:31 น.

คณะแพทยศาสตร์ มช. ร่วมมือกับส่วนราชการจังหวัดเชียงใหม่ สร้างความตระหนักรู้แก่ประชาชน ในการป้องกันดูแลตนเองจากฝุ่น PM 2.5 ขอให้ประชาชนมั่นใจโรงพยาบาลพร้อมรองรับผู้ป่วยที่เพิ่มขึ้น

วันที่ 8 เม.ย. 2567 ศ.(เชี่ยวชาญพิเศษ) นพ.บรรณกิจ โลจนาภิวัฒน์ คณบดีคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.) และ รศ.นพ.นเรนทร์ โชติรสนิรมิตร ผอ.โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ ร่วมแถลงข่าว การปฏิบัติการทางการแพทย์และบริการสาธารณสุข เพื่อรักษาผู้ป่วยระบบทางเดินหายใจ รวมทั้งมาตรการดูแลประชาชนและนักท่องเที่ยว จ.เชียงใหม่ 

โดยมี นายนิรัตน์ พงษ์สิทธิถาวร ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ เป็นประธานการแถลงข่าว พร้อมด้วย นพ.จตุชัย มณีรัตน์ นายแพทย์สาธารณสุข จังหวัดเชียงใหม่ , นายพิชัย เลิศพงศ์อดิศร นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่ และ นายดุสิต พงศาพิพัฒน์ หัวหน้าสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย จังหวัดเชียงใหม่ ณ ห้องประชุมบุญสม มาร์ติน คณะแพทยศาสตร์ มช. 

ศ.(เชี่ยวชาญพิเศษ)นพ.บรรณกิจ เปิดเผยว่า ฝุ่น PM 2.5 เป็นฝุ่นขนาดเล็กมาก ส่งผลกระทบต่อปอด หัวใจ สมอง และ อวัยวะต่างๆ ในร่างกาย ซึ่งตามหลักทฤษฏีของการเกิดโรคต่างๆ โดยเฉพาะมะเร็งปอด มีปัจจัยร่วมหลายอย่าง เช่น พันธุกรรม การใช้ชีวิต และฝุ่นPM 2.5  ซึ่งฝุ่น PM 2.5 เป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญ ที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของระบบภูมิคุ้มกันในร่างกาย ทำให้ยีนผิดปกติไปจากเดิม ส่งผลให้เกิดเป็นมะเร็งได้   

จากอุบัติการณ์โรคมะเร็งปอด หากเปรียบเทียบข้อมูลจะเห็นว่า ผู้ป่วยโรคมะเร็งปอดของภาคเหนือ พบมากกว่าภาคอื่นๆ มาตั้งแต่อดีต ดังนั้น ฝุ่น PM 2.5 อาจจะไม่ใช่ปัจจัยหลักที่ทำให้เกิดมะเร็งปอด แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า ฝุ่น PM 2.5 เป็นตัวกระตุ้นทำให้ผู้ป่วยมีอาการรุนแรงขึ้น นอกจากนี้ยังพบว่าฝุ่น PM 2.5 ทำให้เกิดการอักเสบในส่วนต่างๆของร่างกายได้  

จากสถานการณ์ PM 2.5 ที่สูงขึ้น ยังส่งผลต่ออัตราการเสียชีวิต จากการศึกษาข้อมูลพบว่า การเพิ่มขึ้นของฝุ่น PM 2.5 ทุก 10 ไมโครกรัม ทำให้อัตราการเสียชีวิตด้วยโรคหัวใจเพิ่มขึ้น 10% 

ที่ผ่านมาโรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ ได้มีการเก็บข้อมูลผู้ป่วยในกลุ่มโรคต่างๆ เปรียบเทียบระหว่างปี 2566-2567 พบว่า ผู้ป่วยโรคถุงลมโป่งพอง หอบหืด ภูมิแพ้ เลือดกำเดาไหล ติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนบน เยื่อบุตาอักเสบ และผื่น เพิ่มขึ้นประมาณ 1.5เท่าเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา  

ทำให้อัตราการครองเตียงผู้ป่วยหัวใจและสมองสูงขึ้นเช่นเดียวกัน ซึ่งที่ผ่านมาทางโรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ ได้มีการเตรียมความพร้อมรับมือกับจำนวนผู้ป่วยที่เพิ่มขึ้น โดยได้บูรณาการกับทุกโรงพยาบาลและหน่วยงานด้านสาธารณสุข เพื่อให้สามารถรักษาและส่งต่อผู้ป่วยได้อย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด 

ด้าน รศ.นพ.นเรนทร์ โชติรสนิรมิตร ผอ.รพ.มหาราชนครเชียงใหม่ กล่าวว่า การรักษาและการส่งต่อผู้ป่วย ทางโรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ ได้ทำงานร่วมกับสาธารณสุข มีศูนย์ส่งต่อระหว่างหน่วยงาน ทำให้การดูแลผู้ป่วยโดยเฉพาะผู้ป่วยอาการหนัก ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที เพิ่มอัตราการรอดชีวิตให้กับผู้ป่วย 

นอกจากนี้ เรื่องของผลกระทบจากฝุ่น PM 2.5 โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ ได้สร้างความตระหนักรู้ให้กับประชาชน ผ่านทุกช่องทางการสื่อสารของคณะแพทยศาสตร์ มช. ทั้ง 12 แพลตฟอร์ม เพื่อให้เข้าถึงประชาชนได้มากที่สุด 

สำหรับผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ ทางโรงพยาบาลได้สร้างอาคารปลอดฝุ่น ซึ่งเป็นนวัตกรรมต้นแบบที่อาคารสุจิณฺโณ ซึ่งเป็นหอผู้ป่วยสามัญ และไม่มีเครื่องปรับอากาศ จึงมีการคิดค้นนวัตกรรมในการฟอกอากาศ เพื่อให้ภายในหอผู้ป่วยมีอากาศบริสุทธิ์ และมีแผนที่จะติดตั้งในหอผู้ป่วยที่ไม่มีเครื่องปรับอากาศทั้งหมด เพื่อให้ผู้ป่วยและญาติได้มีพื้นที่ปลอดฝุ่น ส่งผลให้คุณภาพชีวิตดีขึ้น 

ดังนั้น ขอให้มั่นใจว่า โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ คณะแพทยศาสตร์ มช. จะดูแลประชาชนทุกคนที่มารับบริการที่โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่อย่างเต็มกำลังความสามารถ ภายใต้การบูรณาการกับทุกภาคส่วน เพื่อให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดี  สอดคล้องกับวิสัยทัศน์ของคณแพทยศาสตร์ มช. ในการเป็น “โรงเรียนแพทย์ในดวงใจเพื่อยกระดับสุขภาวะมนุษยชาติอย่างยั่งยืน”