sustainable

TDRI แนะ 6 ข้อ ใช้ AI แก้ปัญหาฝุ่นภาคเหนือ

    สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย TDRI วิเคราะห์ปัญหา ฝุ่น PM 2.5 ภาคเหนือ พร้อมแนะนำ 6 ข้อแก้ปัญหา ใช้ AI วิเคราะห์ ทำ big data วางนโยบายร่วมมือเพื่อนบ้าน

ปัญหาฝุ่นละอองภาคเหนือในหลายจังหวัด ยังคงมีความรุนแรงและทำให้เกิดผลกระทบต่อปัญหาสุขภาพของประชาชน และเศรษฐกิจของประเทศ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ได้ออกบทความเกี่ยวกับปัญหาฝุ่นละออง และฝุ่น PM 2.5 โดยพบว่าภาครัฐเริ่มให้ความสำคัญในการแก้ไขปัญหาฝุ่นควัน PM2.5 มาตั้งแต่ ปี 2562 แต่ไม่ประสบผลสำเร็จ

สำหรับปัญหาฝุ่น PM2.5  ในภาคเหนือตามข้อมูลจุดความร้อนของ GISTDA ในปี 2566 พบว่าพื้นที่เผาไหม้ต่างจากพื้นที่เผาซ้ำซาก 10 ปี เช่น พื้นที่เผาในป่าอุทยานแห่งชาติ (อช) และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า (ขสป) 4 แห่งแรก คือ อช.ศรีน่าน (4.6 แสนไร่) อช. เขื่อนศรีนครินทร์ (4.6 แสนไร่)  ขสป. แม่ตื่น (3.7 แสนไร่) และ อช.สาละวิน (3.6 แสนไร่) ส่วนพื้นที่เกษตรที่เผาไหม้มากที่สุด คือ ข้าวโพด (1.42 ล้านไร่ หรือ 14.5%) ข้าว (1.1 ล้านไร่ หรือ 10.8%)

สาเหตุของการเผาป่าและพื้นที่เกษตรเกิดจากสาเหตุเชิงซ้อนหลายด้านที่เปลี่ยนแปลง และแตกต่างกันตามบริบทของพื้นที่ ทั้งมิติด้านสิ่งแวดล้อมทางกายภาพ ภูมิอากาศ สภาพเศรษฐกิจ สังคม การเมือง ตลอดจนนโยบายและมาตรการของรัฐด้านการใช้ทรัพยากรที่ดินและป่าไม้ การเกษตร และการจัดการฝุ่นควันพิษ 

ปัญหาฝุ่นภาคเหนือ

TDRI แนะแนวทางแก้ไขปัญหา

1. การจัดตั้งคณะกรรมการนโยบายฝุ่นควัน PM2.5 

ต้องมีการจัดตั้งคณะกรรมการนโยบายฝุ่นควัน PM2.5  ที่เป็นฝ่ายการเมือง และจัดตั้งหน่วยงานหลักทำหน้าที่เป็นศูนย์การบริหารจัดการฝุ่น PM2.5 แบบมืออาชีพ เป็นศูนย์กลางในการร่วมแก้ปัญหากับหน่วยงานที่มีหน้าที่ต่างๆ รวบรวมข้อมูล big data

นำประสบการณ์ และปัญหาการทำงาน ถอดบทเรียน แล้วนำข้อมูลที่ได้จากการร่วมมือกับทุกหน่วยงานมาวิเคราะห์โดยใช้ AI เพื่อใช้ในการติดตาม ประเมินผล ปรับปรุงแนวทางและมาตรการในการทำงาน และปรับปรุงแผน

เชื่อมโยงข้อมูลจุดความร้อน และดัชนีพื้นที่เผาไหม้จากดาวเทียม ให้หน่วยงานรัฐมีข้อมูลชุดเดียวกันแบบ real time และสามารถวิเคราะห์ทิศทางการเคลื่อนที่ของไฟ รวมทั้งข้อมูลประกอบอื่นๆ ซึ่งจะทำให้รัฐทราบสาเหตุของไฟและสามารถระบุวิธีแก้ไขที่ถูกต้องและทันเวลา เป็นศูนย์จัดทำงบประมาณบูรณาการ และจัดตั้งกองทุนขึ้นในหน่วยงานนี้ เพราะในบางกรณีงบประมาณของรัฐ (รวมทั้งงบกลาง) อาจไม่เพียงพอและมีข้อจำกัดในการใช้จ่าย

2. เร่งรัดการแก้ไขกฎหมาย

เพื่อให้มีเครื่องมือใหม่ด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม เช่นการใช้ราคาและเงินอุดหนุนเป็นแรงจูงใจ หรือบทลงโทษ เร่งออกกฎหมายภาษีคาร์บอนภาคบังคับ และการจัดตั้งตลาดซื้อขายคาร์บอน

TDRI แนะ 6 ข้อ ใช้ AI แก้ปัญหาฝุ่นภาคเหนือ

3. จัดทำ sand box ในพื้นที่ภาคเหนือตอนบน

จัดทำโครงการทดลองรูปแบบการบริหารจัดการเพื่อการแก้ปัญหา PM2.5 (sand box) ในพื้นที่ภาคเหนือตอนบน โดยรวมกลุ่มจังหวัดที่คาดว่าอยู่ในพื้นที่แอ่งฝุ่น PM2.5 เดียวกัน

จากนั้นมีการตรากฎหมายพิเศษแบบเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ที่ให้อำนาจพิเศษในการดำเนินงานแก่หน่วยงานหลักตามข้อเสนอแรก มีกระบวนทำงานจากล่างสู่บน 

กระบวนการจัดทำแผน โครงการ และการดำเนินงานควรเป็นกระบวนการกระจายอำนาจให้มากที่สุด โดยให้ผู้เกี่ยวข้องในพื้นที่มีบทบาทหลัก ส่วนหน่วยงานรัฐส่วนกลางเป็นผู้สนับสนุนในด้านทรัพยากร กำลังคน ข้อมูล และคำแนะนำด้านกฎระเบียบและวิชาการ

4. การจัดทำข้อมูล big data

จัดทำข้อมูล big data และประมวลประสบการณ์ดำเนินงานแก้ปัญหาฝุ่น PM2.5 ของหน่วยงานรัฐเพื่อใช้ในการวางแผน และปรับปรุงมาตรการแก้ปัญหาฝุ่น PM2.5  เพื่อเป็นประโยชน์ในการกำหนดและปรับปรุงแผน มาตรการ และประเมินผลของทุกหน่วยงาน รวมทั้งขอความช่วยเหลือจากธนาคารโลก

5. บูรณาการงบประมาณ

บูรณาการงบประมาณ ของหน่วยงานส่วนกลางและส่วนท้องถิ่น โดยรวมงบ function & agenda ด้านการจัดการฝุ่น PM2.5 ของทุกหน่วยงาน และให้หน่วยงานรัฐร่วมมือกับหน่วยงานหลักที่เป็นมืออาชีพในข้อแรก ในการบริหารจัดการ

6. นโยบายร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้าน

ร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้านในการกำหนดมาตรการลดการเผาในที่โล่ง หรือการปรับเปลี่ยนระบบการเกษตรเป็นแบบยั่งยืน ข้อควรระวังคือ ไทยเป็นสมาชิก WTO และต้องทำตามข้อตกลงระหว่างประเทศ เราไม่สามารถเปิดปิดประตูการค้าตามอำเภอใจโดยขัดกับหลักการ most favored nation ของ WTO