"สมศักดิ์" ยกระดับเข้มรับมือวิกฤต PM2.5 ป่วยพุ่ง1.4 แสนราย

02 ก.พ. 2568 | 03:00 น.

"สมศักดิ์ เทพสุทิน" สั่งยกระดับความเข้มข้นด้านสาธารณสุข รับมือวิกฤตฝุ่น PM2.5 ทั้งเปิดศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านการแพทย์ จัดสายด่วน ตอบปัญหา 24 ชม. ตั้งทีม SHERT ดูแลกลุ่มเสี่ยง พร้อมกำหนดเขตเฝ้าระวังและป้องกันโรคจากฝุ่น หวังแก้ปัญหาใกล้ชิด

สถานการณ์ฝุ่น PM2.5 ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของคนไทยอย่างมาก ระบบคลังข้อมูลสุขภาพ Health Data Center (HDC) รายงานสถานการณ์ผู้ป่วยที่เกี่ยวข้องกับการสัมผัสฝุ่น PM2.5 เดือนมกราคมปี 2568 พบผู้ป่วยที่เกี่ยวข้องกับการสัมผัสฝุ่น PM2.5 ราว 1.44 แสนราย เป็นกลุ่มโรคผิวหนังอักเสบมากที่สุด รองลงมา คือ กลุ่มโรคตาอักเสบ กลุ่มโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง โรคหืดและโรคหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน

ขณะที่ข้อมูลจากกรมควบคุมโรค ปีงบประมาณ 2567 (1 ต.ค. 2566-31 ธ.ค. 2567) เปิดเผย สถานการณ์จำนวนผู้ป่วยโรคที่มีความเกี่ยวข้องกับการรับสัมผัสและค่าเฉลี่ยฝุ่น PM2.5 ทั่วประเทศ ใน 6 โรค มีจำนวน 1,048,015 ราย แบ่งเป็น

  • ปอดอุดกั้นเรื้อรัง 226,423 ราย
  • โรคตาอักเสบ 357,104 ราย
  • โรคผิวหนังอักเสบ 442,073 ราย
  • โรคหืด 18,336 ราย
  • หัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน 4,051 ราย
  • การสัมผัสกับมลพิษทางอากาศ 28 ราย

ขณะที่กรมอนามัย ระบุว่า ค่าเสียโอกาสด้านสุขภาพ เช่น ค่ารักษาพยาบาล ค่าหน้ากากอนามัย เครื่องฟอกอากาศ ฯลฯ ราว 2,000-3,000 ล้านบาท โดยกว่า 75% เป็นค่าใช้จ่ายด้านการรักษาพยาบาลของโรคที่เกี่ยวข้องกับมลพิษทางอากาศ อาทิ หอบหืด 2,752 บาทต่อครั้ง โรคหลอดเลือดหัวใจและโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง 16,000 บาท มะเร็งปอด 141,100 - 197,600 บาท

นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งให้ความสำคัญกับสถานการณ์ฝุ่น PM2.5 ที่เข้าขั้นวิกฤตในขณะนี้ กล่าวว่า สธ.ได้ยกระดับมาตรการความเข้มข้นด้านสาธารณสุข พร้อมปรับแผนการดำเนินการต่าง ๆ และสอดรับกับสถานการณ์อย่างต่อเนื่องตามข้อสั่งการ 5 มาตรการ คือ

1. ให้เปิดศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุข หรือ PHEOC ของกระทรวงสาธารณสุข โดยเปิดเพิ่มเติมจากใน 10 จังหวัด และ 2 เขตสุขภาพ พร้อมให้ติดตามจำนวนผู้ป่วยรายใหม่และอาการกำเริบ ที่เกี่ยวข้องกับฝุ่น PM2.5 อย่างใกล้ชิดต่อเนื่องทุกวัน 

2. ด้านประชาสัมพันธ์เชิงรุกและสร้างความรอบรู้ ได้จัดตั้งศูนย์ข้อมูลข่าวสารด้านสุขภาพ ฝุ่น PM2.5 เกาะติดสถานการณ์ฝุ่นทุกวัน พร้อมจัดสายด่วน 1478 เพื่อตอบปัญหาประชาชนตลอด 24 ชั่วโมง

3. ด้านการดูแลประชาชนกลุ่มเสี่ยง ทาง สสจ. ได้จัดทีม SHERT หรือ ทีมพิเศษฉุกเฉินสุขภาพ ระดับจังหวัด 76 ทีม และระดับอำเภอ 878 ทีม ลงพื้นที่ดูแลประชาชนกลุ่มเสี่ยง

\"สมศักดิ์\" ยกระดับเข้มรับมือวิกฤต PM2.5 ป่วยพุ่ง1.4 แสนราย

4. ด้านการให้บริการ ได้เปิดคลินิกมลพิษแล้วใน 57 จังหวัด เปิดห้องปลอดฝุ่น 5,517 ห้อง รองรับประชาชนได้เกือบ 1 ล้านราย และสนับสนุน "มุ่งสู้ฝุ่น" ให้กลุ่มเสี่ยงใน 35 จังหวัด และมีแผนกระจายให้ผู้ป่วยติดเตียงในพื้นที่เสี่ยงสูงเพิ่มอีก 37,569 ราย

5. ด้านการสนับสนุนอุปกรณ์เวชภัณฑ์ไปยังหน่วยบริการในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมาได้มีการสนับสนุนหน้ากากอนามัยแล้วกว่า 1.8 แสนชิ้น และหน้ากาก N95 กว่า 1.1 ล้านชิ้น

นอกจากนี้ได้นำ พ.ร.บ.ควบคุมโรคจากการประกอบอาชีพและโรคจากสิ่งแวดล้อม 2562 มาเป็นเครื่องมือสำคัญร่วมด้วย โดยในการประชุมคณะกรรมการฯ เมื่อวันที่ 22 มกราคมที่ผ่านมา ที่ประชุมมีมติเห็นควรประกาศเขตพื้นที่เฝ้าระวังควบคุมโรคจากฝุ่น PM2.5 ตาม พ.ร.บ.ควบคุมโรคจากการประกอบอาชีพฯ 2562 โดยใช้อำนาจตามมาตรา 14 (2) เสนอต่อคณะรัฐมนตรี

กำหนดมาตรการดูแลประชาชนในเขตเฝ้าระวังและป้องกันโรคจากฝุ่น PM2.5 แบ่งพื้นที่ออกเป็น 2 ระดับ คือ 1.กำหนดเขตเฝ้าระวังและป้องกันโรคจากฝุ่น PM2.5 ในพื้นที่ที่ค่าเฉลี่ยฝุ่น 24 ชั่วโมง มากกว่าหรือเท่ากับ 37.5 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร และ 2.กำหนดเขตควบคุมโรคจากฝุ่น PM2.5 ในพื้นที่ที่มีค่าเฉลี่ยฝุ่น PM2.5 ติดต่อกัน 24 ชั่วโมง มากกว่าหรือเท่ากับ 75 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร โดยมีเงื่อนไขสำคัญ คือ ต้องมีค่าเฉลี่ยฝุ่น PM2.5 ในพื้นที่ต่อเนื่อง 72 ชั่วโมง หรือ เป็นเวลา 3 วันติดต่อกัน

\"สมศักดิ์\" ยกระดับเข้มรับมือวิกฤต PM2.5 ป่วยพุ่ง1.4 แสนราย

สำหรับเขตเฝ้าระวังและป้องกันโรคจากฝุ่น PM2.5 จะดำเนินการใน 3 มาตรการ คือ 1.สนับสนุนหน้ากากอนามัยตามคำแนะนำของกรมควบคุมโรคและกรมอนามัย 2.จัดเตรียมห้องปลอดฝุ่นในอาคารสถานที่ เช่น โรงพยาบาล โรงเรียนและเตรียมศูนย์รองรับอพยพกลุ่มเปราะบางเข้าพักคอยจนกว่าจะยกเลิกประกาศ และ 3.โรงพยาบาลแจ้งการพบผู้ป่วยในกลุ่มโรคที่เฝ้าระวัง 4 กลุ่มต่อเจ้าหน้าที่

ส่วนเขตใดที่ถูกประกาศให้เป็น "เขตควบคุมโรคจากฝุ่น PM2.5" ตามกฎหมายข้างต้น กระทรวงสาธารณสุข จะเพิ่มอีก 3 มาตรการหลักสำคัญ คือ

1. ออกประกาศ Work From Home (WFH) โดยให้แต่ละหน่วยงานให้ความสำคัญเป็นลำดับต้น งดกิจกรรมกลางแจ้งที่ต่อเนื่องเพื่อลดการสัมผัสฝุ่น

2. เมื่อประกาศเป็นเขตควบคุมแล้ว ขอความร่วมมือเกษตรกรและเจ้าของสถานประกอบกิจการต่าง ๆ ผู้ประกอบการขนส่ง และผู้ก่อมลพิษ ดำเนินการลดฝุ่น

และ 3. ใช้กลไกตามมาตรา 35 โดยคณะกรรมการควบคุมโรคจากการประกอบอาชีพและโรคจากสิ่งแวดล้อมจังหวัดและกรุงเทพฯพิจารณาเสนอ "อธิบดีกรมควบคุมโรค" ประกาศเขตพื้นที่เพื่อกำหนดหลักเกณฑ์วิธีการและเงื่อนไขในการดูแลสุขภาพประชาชนในพื้นที่นั้นเป็นการเฉพาะ

ทั้งนี้ การกำหนดเขตควบคุมอยู่ในกฎหมายตามมาตรา 35 กำหนดให้ "อธิบดีกรมควบคุมโรค" หรือ ผู้ซึ่งอธิบดีกรมควบคุมโรคมอบหมาย โดยคำแนะนำของคณะกรรมการควบคุมโรคจากการประกอบอาชีพและโรคจากสิ่งแวดล้อมจังหวัดหรือกรุงเทพมหานคร มีอำนาจประกาศเขตพื้นที่

รวมทั้งประกาศยกเลิกเมื่อมีเหตุอันสมควรหรือสภาวการณ์ของโรคนั้นสงบลง โดยจะกำหนดเป็นเขตพื้นที่ควบคุมโรค เมื่อจังหวัดมีค่าเฉลี่ยปริมาณฝุ่น PM2.5 ในรอบ 24 ชม. มากกว่า 75 มคก./ลบ.ม. ระยะเวลาหนึ่ง และยกเลิกเมื่อค่า PM2.5 น้อยกว่า 37.5 มคก./ลบ.ม. ติดต่อกัน 7 วัน อย่างไรก็ดี เบื้องต้นยังไม่มีจังหวัดใดทำเรื่องเข้ามา

\"สมศักดิ์\" ยกระดับเข้มรับมือวิกฤต PM2.5 ป่วยพุ่ง1.4 แสนราย

นอกจากนี้ยังมอบให้ สปสช. เร่งเชิญชวนให้หน่วยงาน องค์กร หรือกลุ่มประชาชน จัดทำโครงการการต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันฝุ่น PM2.5 โดยให้ขอรับงบประมาณสนับสนุนผ่านกลไกที่เรียกว่า "กองทุนหลักประกันสุขภาพท้องถิ่นหรือพื้นที่" หรือ กปท. ล่าสุดเมื่อวันที่ 26 มกราคมที่ผ่านมา นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการ สปสช. ได้ทำหนังสือด่วนที่สุดไปยัง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร นายกเทศมนตรี และนายกองค์การบริหารส่วนตำบลต่าง ๆ ผ่าน สปสช.เขตทั่วประเทศเพื่อซักซ้อมความเข้าใจและขอความร่วมมือในการแก้ไขปัญหาด้านสาธารณสุขและลดผลกระทบต่อสุขภาพจากฝุ่น PM2.5

ให้มีการจัดทำโครงการป้องกันและแก้ไขปัญหาสาธารณสุขจาก PM2.5 ซึ่งนอกจากการสำรวจกลุ่มเสี่ยง การอบรมให้ความรู้ การจัดทำหน้ากากอนามัยตามมาตรฐานกรมอนามัยแล้ว กองทุน กปท. และกองทุนหลักประกันสุขภาพกรุงเทพมหานคร ยังสามารถใช้ในการจัดซื้อหน้ากากอนามัยป้องกัน PM2.5 ให้แก่กลุ่มเสี่ยงได้ด้วย

พร้อมกันนี้ สปสช. ยังได้ส่งหนังสือด่วนที่สุดถึงปลัดกระทรวงมหาดไทย โดยมีเนื้อหาในลักษณะเดียวกันเพื่อขอความร่วมมือให้กระทรวงมหาดไทย แจ้งให้ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จัดทำโครงการป้องกันและแก้ไขปัญหาจาก PM2.5 อีกทางหนึ่งด้วย