ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 30 มกราคมที่ผ่านมา แพทย์หญิงอัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า สถานการณ์ PM2.5 ยังมีแนวโน้มเกินมาตรฐานและส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน กรมอนามัยนอกจากการวางแนวทาง มาตรการ กฎหมายเพื่อดูแลประชาชนในภาพรวมแล้วการดูแลกลุ่มเสี่ยงเป็นสิ่งสำคัญ โดยเฉพาะเด็กเล็ก ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยติดบ้านติดเตียง และผู้ป่วย 5 กลุ่มโรค ได้แก่ โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง โรคผิวหนัง โรคเยื่อบุตา โรคหอบหืด และโรคมะเร็งปอด
หากได้รับสัมผัสฝุ่น PM2.5 ในปริมาณมากและต่อเนื่องจะทำให้อาการเจ็บป่วยรุนแรงได้ซึ่งในปี 2567 มีข้อมูลผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป กว่า 1,277,386 ราย และเด็ก 0-5 ปี อีกกว่า 309,956 ราย ทั่วประเทศที่เจ็บป่วยและมาเข้ารับการรักษาด้วยโรคที่เกี่ยวข้องกับการรับสัมผัสฝุ่นละออง PM2.5 พื้นที่ที่มีค่าฝุ่นสูงไม่สามารถทำระบบปิดหรือห้องปลอดฝุ่นได้
"มุ้งสู้ฝุ่น" จึงเป็นแนวทางที่กรมอนามัยนำเสนอเพื่อเป็นเครื่องมือที่จะช่วยลดการสัมผัสและลดผลกระทบต่อสุขภาพจากฝุ่น PM2.5 สามารถ ลดปริมาณ PM2.5 ภายในมุ้งได้ร้อยละ 30 – 75
"ถือเป็นโอกาสดีที่ได้นำเสนอโครงการมุ้งสู้ฝุ่นแก่ นพ.ทศพร เสรีรักษ์ ประธานคณะกรรมาธิการการสาธารณสุข และคณะกรรมการ สภาผู้แทนราษฎร ณ รัฐสภา เพื่อผลักดันและสนับสนุนโครงการ มุ้งสู้ฝุ่น แก่ประชาชนเพื่อลดปริมาณการได้รับฝุ่น PM 2.5 รวมทั้งอาการหรือการเจ็บป่วยและลดการไปเข้ารับการรักษาพยาบาลได้ ที่ผ่านมากรมอนามัยได้สนับสนุน "มุ้งสู้ฝุ่น" ไปแล้วกว่า 1,400 ชุด กระจายใน 35 จังหวัด
"มุ้งสู้ฝุ่น" ถือเป็นนวัตกรรมที่มีการพัฒนาและวิจัย โดย ผศ.ดร.ภาสกร แช่มประเสริฐและคณะจากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เป็นการประยุกต์ใช้หลักการทำห้องปลอดฝุ่น คือ กันฝุ่น กรองฝุ่น และดันฝุ่น มีการนำไปใช้ในบ้านเรือนที่ไม่สามารถปิดช่องว่าง หรือปิดหน้าต่างให้สนิท กลุ่มเปราะบางที่มีงบประมาณจำกัด โดยเฉพาะผู้ป่วยติดบ้านติดเตียง
อุปกรณ์ในการจัดทำมุ้งสู้ฝุ่น
1. มุ้งผ้าฝ้าย เพราะมุ้งไนล่อนจะมีรูตาข่ายใหญ่กว่าทำให้อากาศสะอาดที่จะเติมเข้าไปรั่วได้ โดยใช้มุ้งผ้าฝ้ายเป็นการสร้างพื้นที่ปิดสำหรับสร้างพื้นที่สะอาด
2. เครื่องฟอกอากาศ หรือเครื่องฟอกอากาศ DIY ทำหน้าที่กรองฝุ่นจากภายนอกเข้ามาในมุ้งและดันฝุ่นและอากาศที่ไม่สะอาดออกจากมุ้ง ตามหลักการแรงดันบวก (Positive pressure) ทำให้พื้นที่ในมุ้งมีฝุ่นที่น้อยกว่าภายนอก
จากการศึกษาประสิทธิภาพของการประยุกต์ใช้มุ้งผ้าฝ้ายในจังหวัดเชียงใหม่จากการใช้จริงในบ้านเรือนกลุ่มเสี่ยง พบว่า "มุ้งสู้ฝุ่น" มีประสิทธิภาพการลดฝุ่น PM2.5 ลงร้อยละ 36.3 - 75.3 เมื่อนำไปทดลองในพื้นที่ที่แตกต่างกัน และค่าเฉลี่ยความเข้มข้นของฝุ่น PM 2.5 ภายในมุ้งผ้าฝ้ายน้อยกว่า 25 µg/m3 ซึ่งถือเป็นว่าเป็นประสิทธิภาพที่น่าพึงพอใจยอมรับได้