นางสาววรรณวรี ตะล่อมสิน ผู้บริหาร โรงเรียนนานาชาติ “ลิลเบอร์รี่ อินเตอร์เนชั่นแนล พรีสคูล” (li’lberry International Preschool) เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ธุรกิจโรงเรียนนานาชาติในประเทศไทยกำลังเติบโตอย่างมากในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา
เห็นได้จากจำนวนโรงเรียนที่เปิดใหม่จำนวนมาก ทำให้การแข่งขันในตลาดสูงตามไปด้วย ซึ่งการขยายตัวดังกล่าว เป็นปัจจัยทำให้ “กลุ่มตะล่อมสิน” ผู้ผลิตอุตสาหกรรมเม็ดพลาสติก, ผู้ผลิตและตัวแทนจำหน่ายดวงโคมและอุปกรณ์ไฟฟ้า มองเห็นโอกาสเติบโต
จึงแตกไลน์ธุรกิจใหม่เปิดตัวโรงเรียนอนุบาลนานาชาติ “ลิลเบอร์รี่ อินเตอร์เนชั่นแนล พรีสคูล” (li’lberry International Preschool) ด้วยงบลงทุนกว่า 100 ล้านบาท บนพื้นที่ 2 ไร่ ย่านพระราม3
ปัจจุบันประเทศไทยมีโรงเรียนประมาณ 3 หมื่นแห่ง แบ่งเป็นโรงเรียนนานาชาติราว 267 แห่ง คิดเป็นสัดส่วนไม่ถึง 1% ของโรงเรียนทั้งหมด แสดงให้เห็นว่าแนวโน้มการปิดตัวของโรงเรียนทั่วไปลดลงเฉลี่ยปีละ 0.6%
ในขณะที่โรงเรียนนานาชาติมีแนวโน้มเติบโตขึ้นเฉลี่ยปีละ 5% (ข้อมูลจากกระทรวงศึกษาธิการในปี 2567) การเติบโตของโรงเรียนนานาชาติมีสาเหตุหลักมาจากผู้ปกครองต้องการให้บุตรหลานได้รับการศึกษาที่แตกต่างโดยเฉพาะโรงเรียนที่เปิดสอน 3 ภาษา ซึ่งถือเป็นข้อได้เปรียบสำคัญ
“จุดเริ่มต้นการขยายธุรกิจมาสู่ร.ร. เกิดจากการพูดคุยกันในหมู่พี่น้องที่ต้องการขยายธุรกิจ โดยมองหาธุรกิจที่มีแนวโน้มเติบโตในระยะยาว 10-20 ปี มองว่าเป็นธุรกิจที่ดี ช่วยส่งเสริมสังคม
อีกทั้งเทรนด์ธุรกิจในปัจจุบันที่หลายคนใส่ใจความยั่งยืนเป็นหลัก ซึ่งเป็นสิ่งที่ครอบครัวให้ความสำคัญเช่นกัน”
โดยแรงบันดาลใจส่วนตัวนั้น เพราะสนใจเรื่องการศึกษามาตั้งแต่สมัยเรียนมหาวิทยาลัย รู้สึกว่าการเรียนระบบการศึกษาไทย เป็นการเรียนแบบท่องจำ นำไปสอบ และการเรียนการสอนเป็นแบบฟิกซ์ตายตัว ไม่ค่อยเอื้อต่อการสร้างสรรค์ส่งเสริมอะไรใหม่ๆ
ประกอบกับการมีลูกชายคนแรกได้ไปเรียนเกี่ยวกับจิตวิทยาเด็กหลายคอร์ส ทำให้รู้ตัวว่าตัวเองชอบและสนใจเรื่องพัฒนาการเด็กเล็กมาก นอกจากนี้ยังได้มีโอกาสไปศึกษาข้อมูลโรงเรียน Mulbery Learning Singapore อยู่ในกลุ่มบริษัท Global Eduhub ของสิงคโปร์ ซึ่งเป็นโรงเรียนหลักสูตรนานาชาติที่เปิดในสิงคโปร์มาตั้งแต่ ปี 2549 จนปัจจุบันมีสาขารวม 27 สาขา ใน 5 ประเทศ ได้รับรางวัลต่างๆมากมาย
และกำลังมองหาแฟรนไชส์ในประเทศไทย จึงได้เริ่มศึกษาข้อมูลเรื่องหลักสูตรการเรียนการสอนของโรงเรียนทำให้ทราบว่าเป็นโรงเรียนอนุบาลนานาชาติที่ตรงใจเรามาก จึงตัดสินใจนำหลักสูตรมาเปิดในไทยเป็นสาขาแรก และมองว่า หลักสูตรสิงคโปร์มีความน่าสนใจตรงที่เน้นภาษาจีน ซึ่งเป็นภาษาที่คนไทยนิยมให้ลูกเรียน และคาดว่าจะเป็นภาษาที่ 2 ที่สำคัญในอนาคต
“ต้องยอมรับว่าประเทศจีนเป็นเหมือนโลกอีกใบหนึ่งที่มีประชากรจำนวนมาก และคนจีนมักจะสื่อสารด้วยภาษาจีนเป็นหลัก การที่คนไทยสามารถพูดภาษาจีนได้จะช่วยเปิดโอกาสให้เข้าถึงโลกอนาคตได้มากขึ้น
เปรียบเทียบว่าการที่คนไทยเรียนภาษาจีนในปัจจุบันนั้นคล้ายกับการที่คนไทยเรียนภาษาอังกฤษเมื่อ 15 ปีก่อน มีความสำคัญและเป็นประโยชน์อย่างมาก โดยเฉพาะในการทำธุรกิจกับประเทศจีน”
สำหรับโรงเรียนนานาชาติ ลิลเบอร์รี่ อินเตอร์เนชั่นแนล พรีสคูล มีกลุ่มบริษัทตะล่อมสินเป็นผู้ถือหุ้นหลัก 72% และส่วนที่เหลือเป็นรายย่อยราว 4 คน โดยเป็นโรงนานาชาติ 3 ภาษา ได้แก่ ภาษาอังกฤษ จีน และไทย
นอกเหนือจากความโดดเด่นด้านภาษาแล้ว ทางโรงเรียนยังนำหลักสูตรจากสิงคโปร์มาผสานกับ 3 แกนหลักสำคัญในการเรียนรู้ ได้แก่ 1.ปรัชญาเรกจิโอ เอมิเลียที่เชื่อว่าการเรียนรู้ของเด็กจะพัฒนาได้ดีที่สุดเมื่อคำนึงถึงตัวตนและสิ่งแวดล้อมรอบตัวเด็ก
2.การเรียนรู้แบบ Project Inquiry เน้นให้เด็กๆ เลือกหัวข้อที่สนใจและทำโปรเจกต์อย่างต่อเนื่องตลอดเทอม 3.Habits of Mind Framework การสอนทักษะชีวิต เพื่อให้เด็กๆ มีวิธีคิดที่ถูกต้องและสามารถจัดการปัญหาต่างๆ ในชีวิตประจำวัน
อีกทั้งเรายังได้เปรียบการเปิดร.ร. ใหม่จึงให้ความสำคัญกับขนาดพื้นที่ทำกิจกรรม 700 ตร.ม. รวมถึงการจัดการกับปัญหาฝุ่น PM2.5 โดยมีพื้นที่เล่นในร่ม นอกจากนี้โรงเรียนมีอัตราส่วน ครู 1 คนต่อเด็ก 3 คน และครูทุกคนมีประสบการณ์สอนเด็กเล็กไม่ต่ำกว่า 5 ปี และผู้ช่วยครูได้รับการฝึกอบรมอย่างเข้มข้น เพื่อดูแลเด็กๆ อย่างใกล้ชิดและเข้าใจพัฒนาการของเด็กแต่ละช่วงวัย
และโรงเรียนยังมีคอร์สสำหรับพ่อแม่ เพื่อเรียนรู้และเข้าใจพัฒนาการของลูกน้อย โดยจะเปิดรับนักเรียนอายุ 18 เดือน ถึง 6 ปี ในระดับชั้น Pre Nursery, Nursery, K1, K2 และ K3 รองรับนักเรียนได้สูงสุด 200 คน ค่าเทอมเริ่มต้นที่ 1.6 แสนบาทต่อเทอม และจะเปิดเทอมแรกในเดือนสิงหาคม 2568
“เป้าหมายในปี 2568 จะรับนักเรียนให้ได้ 50 คน และในอีก 4 ปีข้างหน้าจะเพิ่มเป็น 168 คน โดยจะใช้กลยุทธ์การตลาดเชิงรุกในช่วงแรก
เริ่มจากการเข้าไปอยู่ในกลุ่มเฟซบุ๊กสำหรับผู้ปกครองที่กำลังหาโรงเรียนให้บุตรหลาน ทั้งกลุ่มหาโรงเรียนอนุบาลและกลุ่มหาโรงเรียนนานาชาติ รวมถึงการสร้างเพจเฟซบุ๊กและอินสตาแกรมเพื่อโปรโมทโรงเรียน พร้อมทำวิดีโอเพื่อนำเสนอโรงเรียน สร้างการเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายด้วย”
หน้า 16 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจฉบับที่ 4,067 วันที่ 2 - 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2568