รู้จัก “จิ่งเต๋อเจิ้น” เมืองหลวงแห่งเซรามิก (3)

01 ก.พ. 2568 | 06:30 น.

รู้จัก “จิ่งเต๋อเจิ้น” เมืองหลวงแห่งเซรามิก (3) : คอลัมน์มังกรกระพือปีก โดย...ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร รองประธานและเลขาธิการหอการค้าไทยในจีน หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 4067

จิ่งเต๋อเจิ้นพัฒนาระบบนิเวศด้านเซรามิกอะไรอีกบ้าง ไปคุยกันต่อเลย...

ในด้านการพัฒนาคน จิ่งเต๋อเจิ้น มีสถาบันการศึกษาเฉพาะทางระดับอุดมศึกษาอยู่ 4 แห่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งสถาบันเซรามิกจิ่งเต๋อเจิ้น (Jingdezhen Ceramics Institute) ซึ่งช่วยพัฒนาทรัพยากรมนุษย์และนวัตกรรมด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ในด้านการออกแบบ การผลิต และการตลาดสินค้าเครื่องเคลือบดินเผายุคใหม่ ให้รุดหน้าและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้รุดหน้าไป

กอปรกับการเป็นเมืองรองขนาดเล็กที่มีค่าครองชีพต่ำ ก็ทำให้จิ่งเต๋อจิ้น เป็นแหล่งพักพิงของแรงงานฝีมือและนักออกแบบรุ่นเยาว์จากทั่วประเทศ เราจึงเห็นศิลปินชื่อดังและดาวรุ่งของจีน และเทศที่เต็มไปด้วยความสร้างสรรค์ ต่างหลั่งไหลเข้าไปพัฒนาผลิตภัณฑ์ และเปิดแกลลอรี่ของตนเองในย่านเมืองใหม่เต็มไปหมด

จนถึงปัจจุบัน ระบบนิเวศดังกล่าวช่วยดึงดูดแรงงานฝีมือ ศิลปิน และนักออกแบบ รวมทั้งผู้ประกอบการหลากวัยและระดับประสบการณ์จากท้องที่ต่างๆ ทั่วจีน และต่างประเทศ จำนวนกว่า 30,000 คน เข้าไปรวมตัวกันในเมืองนี้ ซึ่งนำไปสู่การบ่มเพาะธุรกิจหน้าใหม่มากมาย และชิ้นงานเซรามิกที่หลากหลายเกิดขึ้นอย่างเหลือเชื่อ

ตลอดเวลาที่สำรวจตลาดเซรามิก ผ่านช่องทางจัดจำหน่ายหลายพันแห่งทั่วเมือง ผมพบว่าแต่ละร้านรังสรรค์และนำเสนอเซรามิก อาทิ เครื่องครัว และของขวัญของตกแต่งบ้าน ที่มีอัตลักษณ์ชนิดไม่ซ้ำรูปลักษณ์ รูปทรง รูปแบบ สีสัน และ แนวคิด

จากสถิติพบว่า ปัจจุบัน อุตสาหกรรมการผลิตเครื่องเคลือบดินเผาของจิ่งเต๋อเจิ้น สร้างงานมากกว่า 100,000 ตำแหน่ง และสร้างมูลค่าสินค้าถึงราว 70,000 ล้านหยวนต่อปี 

สิ่งนี้นับว่าเป็นตัวอย่างที่ตอกย้ำว่า เมืองหนึ่งสามารถได้รับประโยชน์จาก “พลังทางเศรษฐกิจ” จากอุตสาหกรรมที่มีความสร้างสรรค์ได้อย่างคาดไม่ถึง ขอเพียงอุตสาหกรรมนั้นๆ ได้รับการพัฒนาระบบนิเวศอย่างเหมาะสม จนยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันสู่ระดับระหว่างประเทศ

ในด้านกิจกรรม ภาครัฐและเอกชนในจิ่งเต๋อเจิ้น ยังขยันขันแข็งในการจัดกิจกรรมพิเศษ และใช้ประโยชน์จากช่วงเวลาพิเศษเพื่อเสริมสร้างแบรนด์ในความเป็น “เมืองหลวงแห่งเซรามิก” 

โดยเมื่อราว 20 ปีที่แล้ว จิ่งเต๋อเจิ้นได้จัดงานใหญ่ฉลองครบรอบ 100 ปี แห่งอัตลักษณ์ดังกล่าว และประกาศเดินหน้าอย่างจริงจังในการพลิกฟื้นอุตสาหกรรมนี้ให้เป็น “แกนหลัก” ของเมืองอีกครั้ง

ประการสำคัญ จีนในยุคใหม่ยัง “เปิดกว้าง” ด้านความร่วมมือและให้ความสำคัญกับการเสริมสร้างภาพลักษณ์ “แบรนด์” ของประเทศและสินค้าเซรามิกอย่างจริงจังและต่อเนื่อง 

ยกตัวอย่างเช่น เมื่อต้นปี 2002 เจียง เจ๋อหมิน ผู้นำรุ่นที่ 3 ของจีนได้มอบชุดเครื่องลายครามภายใต้ตราสินค้า “หงเย่” (Hongye) ที่ผลิตโดยบริษัท จิ่งเต๋อเจิ้นเซรามิก จำกัดให้กับประธานาธิบดี จอร์จ ดับเบิ้ลยู บุชแห่งสหรัฐฯ เพียงแค่ภาพข่าวถูกเผยแพร่ออกไป ก็เพิ่มกระแสความนิยมของเซรามิก “จิ่งเต๋อเจิ้น” ทั้งในตลาดจีนและต่างประเทศ 

อนึ่ง บริษัทดังกล่าวถือเป็นกิจการร่วมทุน ระหว่างรัฐวิสาหกิจท้องถิ่น กับ บริษัทสัญชาติฝรั่งเศส ซึ่งจัดเป็นกิจการเซรามิกที่มีชื่อเสียงที่สุดแห่งหนึ่งของเมืองนี้

นอกจากนี้ เพื่อสนับสนุนส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์ จิ่งเต๋อเจิ้นยังให้ความสำคัญกับการปกป้องคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา โดยดำเนินโครงการที่ได้ขึ้นบัญชีการคุ้มครองมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมถึง 26 โครงการ และสร้างผู้สืบทอดศิลปะการทำเครื่องเคลือบดินเผาระดับชาติถึงราว 200 คน

เพื่อพัฒนาระบบนิเวศอย่างครบวงจร รัฐบาลจีนยังใส่ใจในการพัฒนา “ปลายน้ำ” โดยจิ่งเต๋อเจิ้น “นำร่อง” การค้ารูปแบบใหม่ที่อยู่บนกลไกตลาดและมีลักษณะพิเศษ ซึ่งช่วยขยายอุปสงค์และเติมพลังทางเศรษฐกิจได้เป็นอย่างมาก 

เช่น เมื่อเดือนตุลาคม 2020 ซึ่งเป็นช่วงที่จีนกำลังประสบวิกฤติโควิด บริษัท เซรามิกจิ่งเต๋อเจิ้น จำกัด ได้จับมือกับทีมอลล์ (Tmall) แพลตฟอร์มชั้นนำของจีน ในสังกัดกลุ่มธุรกิจอาลีบาบา ก่อตั้ง “พิพิธภัณฑ์เครื่องเคลือบดินเผาแห่งชาติ – สถานีไลฟ์สดทีมอลล์” (Tmall Live Base) 

การก่อตั้ง “Jingdezhen Live Base” นับเป็นสัญลักษณ์ของการริเริ่มรูปแบบการขายใหม่ ที่ผสมผสาน “เซรามิก + อีคอมเมิร์ซ + ไลฟ์” เข้าไว้ด้วยกัน ทำให้เครื่องเคลือบดินเผาในจิ่งเต๋อเจิ้น หันมาเน้นการขายออนไลน์เป็นช่องทางหลักในการขยายตลาดจีน และต่างประเทศ

กระแสข่าวระบุว่า ในบางช่วงเวลา การทำไลฟ์สตริมมิ่งสินค้าเซรามิกของจิ่งเต๋อเจิ้น ที่มีความแตกต่างกัน มีการถ่ายทอดสดถึง 20 ห้องในเวลาเดียวกันแบบไม่หยุดหย่อน!!! ซึ่งช่วยให้อุตสาหกรรมเซรามิก ในพื้นที่มียอดจำหน่าย และได้รับข้อมูลทางการตลาดที่มากคุณค่าไปพร้อมกัน 

ผู้บริหารโครงการยังออกแบบให้มี “ไลฟ์สตรียมมิ่ง” (Livestreaming) ที่เชื่อมโยงระหว่างกิจกรรมการขายสินค้า กับการท่องเที่ยวควบคู่กันไป และในยุคหลังยังพิจารณาใช้ KOL แบบปัญญาประดิษฐ์มาช่วยนำเสนอสินค้าอีกด้วย

นอกจากตลาดในประเทศ รัฐบาลจีนยังส่งเสริมและอำนวยความสะดวกการส่งออกเครื่องเคลือบดินเผา สู่ตลาดต่างประเทศที่ใหญ่กว่ามาก 

สินค้าสามารถเคลียร์พิธีการศุลกากรผ่าน “ช่องทางสีเขียว” ได้อย่างรวดเร็วและสะดวก รวมทั้งยังปลอดภาษีมูลค่าเพิ่มอีกด้วย ทำให้สามารถส่งออกเครื่องเคลือบดินเผา ไปยังหลายสิบประเทศและภูมิภาคซึ่งรวมถึงประเทศไทยด้วย

                          รู้จัก “จิ่งเต๋อเจิ้น” เมืองหลวงแห่งเซรามิก (3)

ผลจากการดำเนินกิจกรรม/โครงการที่เกี่ยวข้องอย่างเป็นระบบ จริงจัง ต่อเนื่อง และสร้างสรรค์ ทำให้จิ่งเต๋อเจิ้นสามารถพัฒนาอุตสาหกรรมการผลิตเครื่องเคลือบดินเผา ให้ทันสมัยอย่างเป็นรูปธรรมและแข็งแกร่งในเชิงพาณิชย์ยิ่งขึ้นในช่วงหลายปีหลัง และผมเชื่อมั่นว่าจะเติบใหญ่ยิ่งขึ้นในอนาคต 

อีกเรื่องหนึ่งก็คือ การเชื่อมโยงเพื่อเรียนลัดและแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ในการพัฒนาอุตสาหกรรมเซรามิก จากจิ่งเต๋อเจิ้น ผมอยากเชียร์ให้ผู้แทนภาครัฐและเอกชน ที่เกี่ยวข้องแวะเวียนไปศึกษาดูงานการพัฒนา “โอทอป” ชั้นเยี่ยมของเมืองนี้ ขณะเดียวกัน เรายังอาจวางแผนเอาจังหวัดของไทย ไปพัฒนาความเป็น “บ้านพี่เมืองน้อง” และขยายกิจกรรมความร่วมมือกับเมืองแห่งนี้ 

และเมื่อผมพยายามส่องดูลิสต์ “บ้านพี่เมืองน้อง” ของจิ่งเต๋อเจิ้นแล้ว ก็พบว่ามีการพัฒนาความสัมพันธ์กับหลายเมืองในหลายประเทศ อาทิ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ สหราชอาณาจักร เนเธอร์แลนด์ และสหรัฐฯ แต่ก็ยังไม่มีจังหวัดใดของไทยไปผูกมิตรเอาไว้เลย 

ผมขอเชียร์ให้ “จังหวัดลำปาง” ไปผูกสัมพันธ์เป็น “บ้านพี่เมืองน้อง” ด้านเครื่องเคลือบดินเผา กับเมืองจิ่งเต๋อเจิ้น เพื่อจะได้เรียนรู้การพัฒนาอุตสาหกรรมเซรามิก และขยายความร่วมมือทางเศรษฐกิจในด้านอื่นระหว่างกัน 

อีกเรื่องหนึ่งที่คนในวงการตอกย้ำมาก็คือ การบริหารจัดการ “ของเสีย” ที่เป็นโจทย์ใหญ่ของอุตสาหกรรมเซรามิก

ตอนหน้าผมจะพาท่านผู้อ่านไปส่องแนวทางและวิธีการในกำจัด “ของเสีย” อย่างมีประสิทธิภาพกันครับ ...

เกี่ยวกับผู้เขียน : ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร รองประธานและเลขาธิการหอการค้าไทยในจีน, อุปนายกและเลขาธิการสมาคมส่งเสริมการลงทุนและการค้าไทย-จีน ผู้เชี่ยวชาญที่สั่งสมความรู้และประสบการณ์เกี่ยวกับตลาดจีน มุ่งหวังนำข้อมูลและมุมมอง ความคิดเห็นเกี่ยวกับความเคลื่อนไหวทางเศรษฐกิจ ธุรกิจ การตลาดและอื่น ๆ  ที่อยู่ในกระแสของจีนมาแลกเปลี่ยนกับผู้อ่าน เพื่อเราจะไม่ตกขบวน “รถไฟความเร็วสูง” ของการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของจีน