การท่องเที่ยวในจีนในยุคหลังโควิด (1)

13 พ.ย. 2567 | 13:07 น.
อัปเดตล่าสุด :13 พ.ย. 2567 | 13:18 น.

การท่องเที่ยวในจีนในยุคหลังโควิด (1) : คอลัมน์มังกรกระพือปีก โดย...ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร รองประธานและเลขาธิการหอการค้าไทยในจีน หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 4044

FC ของคอลัมน์สอบถามเรื่อง “พฤติกรรมการท่องเที่ยวของจีนในยุคหลังโควิด” มาระยะเวลาหนึ่ง แต่ก็มีหลายเรื่องที่น่าสนใจแทรกเข้ามาอย่างต่อเนื่อง วันนี้ได้โอกาสเหมาะเพราะผมมาปักหลักเคลียร์งานที่จีนอยู่หลายวัน เลยนั่งเขียนบทความท่ามกลางสายฝนที่โปรยปรายริมแม่น้ำหวงผู่ ใจกลางมหานครเซี่ยงไฮ้ เพื่อแชร์สิ่งดีๆ เกี่ยวกับเรื่องนี้กันครับ ... 

ก่อนอื่นขอย้อนกลับไปทำความเข้าใจกันก่อนว่า จีนเริ่มเปิดประเทศอีกครั้งในยุคหลังโควิด นับแต่ปี 2022 แต่ก็พัฒนา “ความเป็นปกติ” ในการเดินทางไปมาหาสู่กันได้อย่างช้าๆ แม้กระทั่งภายในประเทศก็ยังเป็นไปอย่างจำกัด เนื่องจากเหตุผลหลายประการ อาทิ ข้อบังคับในการเดินทางข้ามภูมิภาค ขั้นตอนการการขอวีซ่า จำนวนเที่ยวบิน ค่าเดินทาง และความกังวลใจเกี่ยวกับการตกค้างของโควิด 

ในภาพใหญ่ ความนิยมในการเดินทางท่องเที่ยวขยับ “เพิ่มขึ้น” ในช่วงครึ่งหลังของปี 2023 โดยจีนเริ่มดำเนินนโยบาย “วีซ่าฟรี” (Free Visa) กับหลายประเทศในยุโรป และ อาเซียน ในช่วงปลายปี แต่เท่าที่ผมสังเกตเห็น ในช่วงนั้นนักท่องเที่ยวต่างชาติ ก็มาจากประเทศในเอเชียตะวันออกเสียเป็นส่วนใหญ่  

ในปี 2024 จีนพยายามขยายความร่วมมือ “วีซ่าฟรี” กับอีกหลายประเทศ ส่งผลให้การท่องเที่ยวระหว่างประเทศของจีนเริ่ม “จุดติด” จำนวนนักท่องเที่ยวของชาติที่อยู่ไกลออกไปเริ่ม “หนาตา” ในหัวเมืองใหญ่ของจีน ทำให้ผู้เดินทางต้องใช้เวลามากขึ้น ในการรอผ่านด่านตรวจคนเข้าเมือง 

ในส่วนของไทย การท่องเที่ยวระหว่างไทย-จีน “พุ่งทะยาน” อย่างเห็นได้ชัดภายหลังไทยและจีนทำข้อตกลง “วีซ่าฟรี” ระหว่างกัน และมีผลบังคับใช้นับแต่เดือนมีนาคม 2024 

ในช่วงครึ่งหลังของปี 2024 จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ “หนาแน่น” แถมยังไม่ได้กระจุกตัวอยู่เฉพาะในหัวเมืองใหญ่เท่านั้น แต่กระจายตัวไปยังเมืองรอง และสถานที่ท่องเที่ยวใหม่ๆ มากขึ้น

ประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจก็คือ ตลอดช่วงโควิดที่จีนไม่ได้ “เปิดกว้าง” สำหรับการท่องเที่ยวต่างชาติ จีนก็ปรับปรุง “ระบบนิเวศ” ด้านการท่องเที่ยวอย่างต่อเนื่อง ทำให้สถานที่ท่องเที่ยวในจีน “พร้อมพรั่ง” มากขึ้น
สถานที่ท่องเที่ยวที่ผมเคยเดินทางไปเมื่อหลายปีก่อนที่เคยขาดระบบการจัดการที่ดี ทางเดินที่ไม่เรียบร้อย จุดถ่ายภาพที่แออัด ห้องสุขาที่มีคุณภาพต่ำ และอื่นๆ ถูกยกระดับได้อย่างน่าชื่นชม 

จีนไม่เพียงปรับปรุงสถานที่ท่องเที่ยว แต่ยังสร้างบรรยากาศได้อย่างน่าอัศจรรย์ใจ จีนกระโดดเป็นเจ้าภาพงานใหญ่ ยกระดับงานเทศกาลที่มีอยู่สู่ระดับสากล ผ่านการขับเคลื่อนด้วยโซเชียลมีเดีย สร้างละครซีรีย์ที่มีฉากหลังเป็นสถานที่ท่องเที่ยวสุดพิเศษ การเป็นเจ้าภาพจัดงานแสดงสินค้าขนาดใหญ่ และอื่นๆ อีกสารพัด

ยกตัวอย่างเช่น ละครโทรทัศน์ยอดนิยม 30 ตอน “Blossoms Shanghai” ที่ผลิตทั้งในภาษาจีนกลาง และภาษาเซี่ยงไฮ้ ทำให้นักท่องเที่ยวต่างแห่กันไปยังสถานที่ต่างๆ ในเซี่ยงไฮ้ อาทิ ถนนหวงเหอ (Huanghe) โรงละครคาเธย์ (Cathay) และ แฟร์มองต์พีซโฮเทล (Fairmont Peace Hotel) เล่นเอาการจราจรในเซี่ยงไฮ้ติดขัดไปเลย

“To the Wonder” ละครชีวิตของหญิงสาวที่กลับไปพบรักในบ้านเกิดอย่างแสนอบอุ่น ที่เลือกถ่ายทำในแถบเทือกเขาอัลไต (Altay) เขตปกครองตนเองซินเจียงอุยกูร์ 

ฉากหลังของละครเรื่องนี้เต็มไปด้วยวิวทิวทัศน์อันน่าทึ่ง และแฝงไว้ซึ่งวิถีชีวิตอันเรียบง่าย ทำเอาวัยรุ่นจีน “ทนลำบาก” นั่งเครื่องบินและต่อรถยนต์รวมหลายชั่วโมง เพื่อแห่ไปสัมผัสและชื่นชมทุ่งหญ้า สายน้ำ เทือกเขา และค้นหาเนื้อแท้ของชีวิตกันมากเป็นประวัติการณ์ ในช่วงฤดูร้อนที่ผ่านมา

ทำเอาฤดูท่องเที่ยวอัลไตปีนี้มากและยาวนานขึ้น สร้างรายได้ให้กับการท้องเที่ยวท้องถิ่นเป็นอย่างมาก แม้กระทั่งการจองตั๋วเครื่องบินไปอัลไตเพิ่มขึ้นกว่า 20% ขณะที่การจองโรงแรมก็เพิ่มขึ้น 2 เท่า เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน ข้อมูลจากแพลตฟอร์มการท่องเที่ยว Tujia ระบุว่า การจองโฮมสเตย์ในอัลไตเพิ่มขึ้นถึง 200% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน 

เมื่อปัจจัยเหล่านี้ผสมโรงเข้ากับการชะลอตัวทางเศรษฐกิจ ก็ทำให้คนจีนหันไปท่องเที่ยวภายในประเทศในระดับที่สูงขึ้น ผสมโรงเข้ากับชาวต่างชาติที่หลั่งไหลเข้าจีน ความคลั่งไคล้ด้านการท่องเที่ยวดังกล่าว ยังแผ่ขยายไปหลายหัวเมืองทั่วจีน   

ยกตัวอย่างเช่น ฮาร์บิน เมืองเอกของมณฑลเฮยหลงเจียง ด้านซีกตะวันออกเฉียงเหนือของจีน ได้กลายเป็นหนึ่งในจุดหมายปลายทางที่ได้รับความนิยมที่สุดในช่วงต้นปีนี้ โดยในช่วงหยุดยาวช่วงวันขึ้นปีใหม่สากลเป็นเวลา 3 วัน งานเทศกาลน้ำแข็ง และ หิมะ (Ice and Snow Festival) ในฮาร์บินมีนักท่องเที่ยวไปเข้าเยี่ยมชม 3 ล้านคน และใช้เงินสูงเป็นประวัติการณ์ถึง 5,900 ล้านหยวน 

ผมจินตนาการต่อว่า ช่วงปลายเดือนธันวาคม 2024 ถึงกลางเดือนกุมภาพันธ์ 2025 ฮาร์บิน “คงแตก” เป็นแน่ เพราะจะมีงานและเทศกาลใหญ่ต่อเนื่องกัน ไล่ตั้งแต่เทศกาลคริสต์มาส ปีใหม่สากล ตรุษจีน และ วาเลนไทน์ รวมทั้งยังจะเป็นเจ้าภาพการแข่งขันกีฬาเอเชี่ยนเกมส์ฤดูหนาว ครั้งที่ 9 (The 9th Asian Winter Games Harbin 2025) อีกด้วย 

                    การท่องเที่ยวในจีนในยุคหลังโควิด (1)

ผมจึงเชื่อมั่นว่า งานเทศกาลน้ำแข็งและหิมะของฮาร์บินในครั้งหน้า ไม่เพียงจะสร้างความตื่นตาตื่นใจกับประติมากรรมแช่แข็งอันงดงาม และใหญ่ที่สุดในโลกเท่านั้น แต่ยังจะสามารถทำลายสถิติจำนวนนักท่องเที่ยวที่ไปเยือนได้อีกครั้งเป็นแน่

จึงไม่น่าแปลกใจที่จำนวนการเดินทาง และการใช้จ่ายเพื่อท่องเที่ยวภายในประเทศของจีนเพิ่มขึ้นเป็นอย่างมาก สถานที่ท่องเที่ยวยอดนิยมต่างเต็มไปด้วยผู้คนที่มีสัดส่วนของชาวต่างชาติเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง แถมยังมีนักท่องเที่ยวจากประเทศใหม่เพิ่มขึ้นอย่างน่าประหลาดใจ

ยกตัวอย่างเช่น ในช่วงครึ่งหลังของปี 2024 แม้ว่าจีนมีสภาพอากาศที่ร้อนจัดกว่าหลายปีที่ผ่านมาในช่วงฤดูร้อนที่ผ่านมา แต่ผมก็พบเห็นนักท่องเที่ยวและนักธุรกิจจากกลุ่มประเทศใหม่ๆ เข้าจีนเป็นจำนวนมาก อาทิ ยุโรปตะวันออก เอเซียใต้ ตะวันออกกลาง และ แอฟริกา 

คนไทยเองก็ไปเที่ยวจีนมากเป็นประวัติการณ์ ในช่วงฤดูใบไม้ร่วงของปี 2024 สถานที่ท่องเที่ยวสำคัญของจีน ไล่ตั้งแต่เมืองเอกอย่าง เซี่ยงไฮ้ กวางโจว และ เซินเจิ้น ไปจนถึง “จิ่วไจ้โกว” ที่มณฑลเสฉวน และ “หุบเขาเทวดา” ทางตอนเหนือของมณฑลเจียงซี ต่างเต็มไปด้วยนักท่องเที่ยวชาวไทย

ในทางกลับกัน นักท่องเที่ยวจีนก็มาใช้เวลาและจับจ่ายใช้สอยในเมืองไทยอย่างคึกคัก ในทุกเทศกาลหยุดยาวของจีน โดยเฉพาะอย่างยิ่งตรุษจีน และ วันชาติจีน ตามสถานที่ท่องเที่ยว ห้างสรรพสินค้า ร้านอาหาร และอื่นๆ ยอดนิยมของไทยต่างคราคร่ำไปด้วยนักท่องเที่ยวชาวจีน 

เวลาสอบถามถึงความประทับใจของคนจีนที่มาเยือนไทย ก็มักได้รับคำตอบในเชิงบวก คนจีนชอบมาเที่ยวเมืองไทย รู้สึกว่าเมืองไทยมีความ “อินเตอร์” มากกว่าเมืองจีน หลายคนชื่นชมความมีสีสัน ความสะดวกสบาย และบริการที่เป็นมิตรของห้างสรรพสินค้าในไทย และถือเป็นสิ่งหนึ่งที่จีนต้องเรียนรู้จากไทย 

ยังมีเกร็ดอีกหลายเรื่อง แต่ต้องไปคุยกันต่อในตอนหน้าครับ... 

เกี่ยวกับผู้เขียน : ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร รองประธานและเลขาธิการหอการค้าไทยในจีน, อุปนายกและเลขาธิการสมาคมส่งเสริมการลงทุนและการค้าไทย-จีน ผู้เชี่ยวชาญที่สั่งสมความรู้และประสบการณ์เกี่ยวกับตลาดจีน มุ่งหวังนำข้อมูลและมุมมอง ความคิดเห็นเกี่ยวกับความเคลื่อนไหวทางเศรษฐกิจ ธุรกิจ การตลาดและอื่น ๆ  ที่อยู่ในกระแสของจีนมาแลกเปลี่ยนกับผู้อ่าน เพื่อเราจะไม่ตกขบวน “รถไฟความเร็วสูง” ของการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของจีน