ตลาดอสังหาริมทรัพย์จีนกำลังจะกลับมาคึกคักรอบใหม่ เพราะอานิสสงค์ จากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งใหญ่ ที่ออกมาเมื่อปลายเดือนกันยายน 2024
มาตรการดังกล่าวครอบคลุมตั้งแต่การปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย การลดเลิกค่าธรรมเนียมการซื้อขายบ้าน การลดสัดส่วนเงินดาวน์การซื้อขายบ้าน การปลดล็อกการตรวจสอบการซื้อบ้าน และอื่นๆ
ท่ามกลางการดูดซับอุปทานส่วนเกินที่คาราคาซังมาหลายปี ในเชิงคุณภาพ จีนก็พยายามพัฒนาอาคารสีเขียว (Green Building) ซึ่งหมายถึงโครงสร้างที่ประหยัดพลังงาน และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเพื่อต่อสู้กับแนวโน้มภาวะโลกร้อนที่ทวีความรุนแรงขึ้นทุกขณะ เพราะภาคอสังหาริมทรัพย์ ถือเป็น 1 ใน 3 ของภาคเศรษฐกิจที่ใช้พลังงานหลักของจีน
ผมเห็นบ้านเราเป็น “เมืองร้อน” ที่อาจรับเอานวัตกรรมเหล่านี้มาขยายผลได้เช่นกัน วันนี้ผมเลยอยากหยิบยกเรื่องนี้มาแลกเปลี่ยนกันครับ ...
จีนมีขนาดในเชิงภูมิศาสตร์ใหญ่กว่าไทยราว 18 เท่าตัว และหลายพื้นที่เป็นทะเลทราย แอ่งกระทะ และอยู่บนเทือกเขา จึงอาจประสบกับปัญหา “โลกเดือด” มากกว่าปกติ นอกจากความไม่สมดุลในเชิงพื้นที่ดังกล่าว จีนยังต้องเผชิญกับมิติความแตกต่างด้านเศรษฐกิจ เทคนิค และการศึกษาในการแก้ไขปัญหาอีกด้วย
ประการสำคัญ ท่านผู้อ่านที่ได้มีโอกาสเดินทางไปจีนในช่วงฤดูร้อนที่ผ่านมา ก็คงรู้สึกเหมือนกับผมว่า จีนในปีนี้ร้อนมากถึงมากที่สุด หลายสถานที่เผชิญกับปัญหาคลื่นความร้อนหลายระลอก อุณหภูมิในพื้นที่กลางแจ้งกับในร่มต่างกันราวฟ้ากับเหว จนแทบไม่เห็นคนเดินตากแดดในช่วงเวลากลางวัน จึงเกิดคำถามตามมาว่า แล้วจีนทำอย่างไรจึงลดอุณหภูมิของอาคารลงได้?
เพื่อรับมือกับแสงแดดที่แรงกล้าและอุณหภูมิสูง จีนจึงต้องเตรียมการเพิ่มเติมในหลายส่วน เพื่อปรับตัวให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ อาทิ การกำหนดนโยบายอาคารสีเขียว การวางผังเมือง และ การออกแบบสถาปัตยกรรม
อันที่จริง กระทรวงการเคหะและการพัฒนาเมือง-ชนบท (Ministry of Housing and Urban-Rural Development) ของจีน ได้เริ่มดำเนินการเพื่อต่อสู้กับปัญหาดังกล่าวเมื่อกว่า 20 ปีก่อน ดังปรากฎในแผนพัฒนา 5 ปีฉบับที่ 10 (2001-2005) โดยพยายามพัฒนาประสิทธิภาพการใช้พลังงานของอาคารมาอย่างต่อเนื่อง
แต่นโยบายดังกล่าวลึกซึ้งอย่างเห็นได้ชัดในเวลาต่อมา
ต่อมา ในการประชุมสมัชชาใหญ่แห่งองค์การสหประชาชาติครั้งที่ 75 เมื่อวันที่ 22 กันยายน 2020 จีนโดยท่านผู้นำ สี จิ้นผิง ได้ประกาศเป้าหมาย “คาร์บอนสูงสุด” และ “ความเป็นกลางด้านคาร์บอน” ในปี 2030 และปี 2060 ตามลำดับ
เพื่อให้บรรลุเป้าหมายดังกล่าว จีนจึงยกระดับการดำเนินนโยบายอาคารสีเขียว และนโยบายอื่นที่เกี่ยวข้อง โดยปรากฏอยู่ในแผนพัฒนา 5 ปีฉบับที่ 14 (2021-2025)
นโยบายดังกล่าวนำไปสู่การดำเนินงานอย่างเป็นรูปธรรมในหลายรูปแบบ ...
ตัวอย่างแรกได้แก่ เซี่ยงไฮ้ มหานครในด้านซีกตะวันออกของจีน ถือเป็นเมือง “นำร่อง” ในการพัฒนา “อาคารที่หายใจได้” (Breathing Building) นี่ไม่ใช่เพียงการเพิ่มพื้นที่การปลูกต้นไม้ในพื้นที่ภายนอกเพื่ออาศัยร่มเงาเท่านั้น
แต่ยังหมายรวมถึงการสนับสนุนส่งเสริมการปลูกต้นไม้ภายในและนอกชานอาคาร การใช้วัสดุก่อสร้างที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และการติดตั้งอุปกรณ์ผลิตกระแสไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ ลม และอื่นๆ ในจุดที่เหมาะสม
“อาคารที่หายใจได้” จึงพยายามเปลี่ยนสถานะของการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ความร้อน และมลพิษอื่น สู่การผลิตพลังงานสีเขียวและลดการใช้พลังงานดั้งเดิม และสร้างความร่มรื่น จนกลายเป็นต้นแบบของอาคารยุคใหม่ของจีนในเวลาต่อมา
ฉงชิ่ง มหานครแห่งเดียวของซีกตะวันตกของจีน เป็นที่รู้จักในสมญานาม “เมืองเตา” ที่ต้องเผชิญกับความท้าทายของสภาพอากาศที่ “ร้อนระอุ” ในช่วงฤดูร้อนอยู่เสมอ ทำให้ผู้ออกแบบและก่อสร้างอสังหาริมทรัพย์ในพื้นที่พยายามทำทุกวิถีทาง เพื่อปรับลดอุณหภูมิ ส่งผลให้ฉงชิ่ง เป็นที่ตั้งของอาคารประหยัดพลังงานหลายแห่ง ซึ่งได้นํานวัตกรรมด้านเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้อย่างแพร่หลาย เช่น การใช้แสงเงา การระบายอากาศ และการกระจายความร้อน
ที่ผมชื่นชอบในนวัตกรรมด้านเทคโนโลยีและความสร้างสรรค์ก็ได้แก่ การใช้ “กระจกอัจฉริยะ” ที่คล้ายแว่นตาที่ใช้เลนส์ปรับแสงอัตโนมัติ
ในด้านเทคนิค กระจกอัจฉริยะดังกล่าวมีนาโนเจลโพลีเมอร์ชนิดหนึ่งซึ่งโมเลกุลของกระจกจะกระจายตัวอย่างสม่ำเสมอ ที่ระดับอุณหภูมิต่ำ แสดงสถานะโปร่งใสและปล่อยให้แสงแดดส่องผ่านเข้าสู่ตัวอาคาร
แต่เมื่ออุณหภูมิสูงขึ้น โมเลกุลจะรวมตัวเข้าหากันเป็นกระจุก ซึ่งสามารถหักเหและสะท้อนแสงได้ ซึ่งเมื่อรวมวัสดุนี้เข้ากับแผ่นระจกสองชิ้น กระจกอัจฉริยะก็จะสามารถป้องกันความร้อนจากภายนอกได้ ไม่ต้องเสียพลังงานในการปรับลดอุณหภูมิสู้กับความร้อน
ทั้งนี้ อาคารแห่งหนึ่งในพื้นที่ท่าเรือของฉงชิ่ง ก็ติดตั้งด้วยกระจกอัจฉริยะนี้ โดยมีขนาดพื้นที่ราว 10,000 ตารางเมตร ที่สามารถตอบสนองต่อความร้อนที่กระทบถึงตัวอาคารได้ โดยเมื่ออุณหภูมิอากาศสูงกว่า 35 องศาเซลเซียส กระจกก็จะทำหน้าที่เป็นเสมือน “ม่านบังแดด” โดยปรับเปลี่ยนเป็นทึบแสงโดยอัตโนมัติ เพื่อป้องกันไม่ให้แสงแดดและความร้อนเข้าสู่อาคาร
ขณะที่ในพื้นที่ใหม่เหลียงเจียง (Liangjiang New Area) ซึ่งก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2010 ครอบคลุมบางพื้นที่ของเขตเจียงเป่ย (Jiangbei) หยูเป่ย (Yubei) และเป้ยเป่ย (Beibei) รวมกว่า 1,200 ตารางกิโลเมตรก็มีการก่อสร้างบ้านสีเขียวที่รู้จักกันในนาม “บ้านฉงชิ่ง” (Chongqing House)
บ้านฉงชิ่งมีความโดดเด่นในเรื่องการรักษาความเย็น โดยอาศัยพืชหลายสิบชนิด เช่น ไผ่สีทองและไม้เลื้อย ไปปลูกในพื้นที่สวนที่เปิดโล่งเพื่อปกคลุมผนังด้านนอกเกือบทั้งหมดของอาคาร
เมื่อมองอาคารจากระยะไกล ก็ดูเหมือนว่าจะสวมเสื้อคลุมสีเขียวในฤดูร้อน พืชที่หนาแน่นช่วยเก็บน้ำฝนและความชุ่มชื้นไว้กับตัวเอง และช่วยลดอุณหภูมิของพื้นผิวอาคารลงไปได้มาก
ขณะเดียวกัน การออกแบบของ “บ้านฉงชิ่ง” ก็มีความสำคัญเช่นกัน โดยใช้ประโยชน์จากลมของเนินเขาใกล้เคียง ทางเดินอากาศรูปตัว L จากมุมทิศตะวันตกเฉียงเหนือของอาคารไปยังมุมตะวันออกเฉียงเหนือทําให้อุณหภูมิห้องเย็นลง
ผู้เชี่ยวชาญคาดว่า ด้วยระบบการไหลเวียนของอากาศและระบบการรีไซเคิลน้ำฝน อาคารเหล่านี้สามารถประหยัดพลังงานได้ถึง 40-50% ต่อตารางเมตรมากกว่าอาคารประหยัดพลังงานทั่วไป
ในการดำเนินนโยบายอาคารสีเขียว จีนทำอย่างไรและมีนวัตกรรมดีๆ อะไรออกมาอีกบ้าง และด้วยมูลค่าตลาดมหาศาล จะเป็นโอกาสของเราได้บ้างไหม เราไปคุยกันต่อตอนหน้าครับ ...