“เปิด 10 เหตุผล” แรงงานเวียดนาม แม่เหล็กดึงดูด “FDI”

01 ก.พ. 2568 | 15:23 น.
อัปเดตล่าสุด :01 ก.พ. 2568 | 15:45 น.

หลายหน่วยงานต่างประเทศ “ฟันธง” ตรงกันว่า หนึ่งปัจจัยสำคัญที่ดึงดูดการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ ( FDI) เข้าเวียดนามคือ “แรงงาน”

บทความโดย : รองศาสตราจารย์ ดร.อัทธ์ พิศาลวานิช ผู้เชี่ยวชาญเศรษฐกิจระหว่างประเทศและอาเซียน

ส่งผลให้ 30 ปีที่ผ่านมา FDI เวียดนามขยับจากอันดับที่ 7 ของอาเซียน ขึ้นมาเป็นอันดับที่ 3 ของอาเซียน (รองจากสิงคโปร์และอินโดนีเซีย) จุดเด่นแรงงานเวียดนามมี 3 ประเด็น คือ ราคาถูก แรงงานมีมาก และมีศักยภาพตรงกับการพัฒนาประเทศ

เวียดนามผลิตแรงงานให้มีศักยภาพอย่างไร ที่สามารถดึงดูดทุนต่างชาติ ผมให้นํ้าหนักไปที่ “การพัฒนาการศึกษา” พัฒนาการศึกษาเวียดนามแบ่งออกเป็น 4 ช่วง

1.ภายใต้อาณานิคมของจีน 1,000 ปี ตั้งแต่ 111 ปี ก่อนคริสต์ศักราช (ตรงกับราชวงศ์ฮั่นและอีก 4 ราชวงศ์) การศึกษาเวียดนามช่วงนี้ได้รับอิทธิพลจาก “ลัทธิขงจื๊อ” ที่เน้นคุณธรรม (Virtue) เช่น ความซื่อสัตย์ ความกตัญญู ความยุติธรรม ความสัมพันธ์ทางสังคม เช่น ลูกกับครอบครัว ผู้ใหญ่กับผู้น้อย เคารพครูอาจารย์ ลัทธิขงจื๊ออยู่คู่กับเวียดนามมากกว่า 2 พันปี (หลังได้รับเอกราชจากจีนในปี ค.ศ. 938) การศึกษาในช่วงนี้เป็นการท่องจำ เรียนตามครูบอกเพื่อสอบเข้าทำงาน

 2.ภายใต้อาณานิคมฝรั่งเศส (1887–1954) ฝรั่งเศสเข้ามาเปลี่ยนระบบการศึกษาให้เน้นวิทยาศาสตร์และให้คิดวิเคราะห์ตามแบบตะวันตก 3.ได้รับเอกราชในปี 1945 และ 1975 โดยท่านโฮจิมินห์และพรรคคอมมิวนิสต์ ที่เน้นความเท่าเทียมและโอกาสการศึกษาของประชาชน 4.ปฎิรูปเศรษฐกิจ (Doi Moi) ในปี 1986 เน้นผลิตนักเรียนและนักศึกษาให้สอดคล้องกับการพัฒนาประเทศ

เปิด “10 เหตุผล” ที่เวียดนามสร้างแรงงานให้เป็นแม่เหล็กในการดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ คือ

1.เปลี่ยนชื่อกระทรวงเป็น "กระทรวงศึกษาธิการและการฝึกอบรม ( MOET)" ในปี 1990 รวมกระทรวงศึกษาธิการและกระทรวงการฝึกอบรมวิชาชีพ ซึ่งทั้ง 2 กระทรวงตั้งในสมัยอาณานิคม

 2.เน้นการเรียน STEM (วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์ และคณิตศาสตร์) ที่เข้มข้นและแข่งขันสูง ทำให้นักเรียนเวียดนามมีคะแนน PISA สูงเป็นอันดับสองของอาเซียน ในปี 2022 แข่งขัน 81 ประเทศ สิงคโปร์ได้ อันดับ 1 เวียดนาม อันดับ 34 บรูไน อันดับ 42 มาเลเซีย อันดับ 55 ไทย อันดับ 63 อินโดนีเซีย อันดับ 69 และฟิลิปปินส์ อันดับ 77

3.สร้างวิชาชีพในมัธยมต้น มีวิชาทักษะเป็นวิชาบังคับและหลากหลายให้นักเรียนที่ต้องการเรียนสายวิชาชีพตั้งแต่ระดับมัธยม เพื่อไปต่อสายวิชาชีพ

4.ร่วมมือกับต่างประเทศ เช่น ญี่ปุ่น องค์กรเพิ่มผลผลิตแห่งเอเชีย (APO) และธนาคารโลกเพื่อพัฒนาศักยภาพแรงงาน และความร่วมมือมากกว่า 100 ฉบับ

5.ทักษะภาษาอังกฤษอันดับ 4 อาเซียน ดัชนีความสามารถทางภาษาอังกฤษ ประจำปี 2024 รองจากสิงคโปร์ ฟิลิปปินส์และมาเลเซีย และไทยอันดับ 8 ของอาเซียน

6.งบประมาณการศึกษาสัดส่วนสูงกว่าไทย เวียดนามเป็นหนึ่งในประเทศอาเซียนที่ใช้งบประมามาณการศึกษาที่สูง สัดส่วน 2.9% ต่อ GDP สูงกว่าไทยที่มีสัดส่วน 2.5%

“เปิด 10 เหตุผล” แรงงานเวียดนาม แม่เหล็กดึงดูด “FDI”

7.การเรียนรู้ตลอดชีวิต รัฐบาลมีนโยบายสร้างระบบศูนย์การศึกษาต่อเนื่องตามชุมชน ปรับปรุงระบบการศึกษาระดับชาติให้มุ่งสู่ระบบการศึกษาที่เปิดกว้าง การเรียนรู้ตลอดชีวิต และสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้

8.แรงงานมีประสิทธิภาพเพิ่มสูงขึ้น ไม่ว่าจะวัดจากดัชนีแรงงานใด แรงงานเวียดนามมีอัตราการพัฒนาศักยภาพสูงสุดในอาเซียน

9.ส่งเสริมการเรียนต่อต่างประเทศ ปี 2020 นักเรียนเวียดนาม 190,000 คนไปศึกษาต่อในต่างประเทศ และมีจำนวนเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ เนื่องจากครอบครัวต่าง ๆ มีรายได้ครัวเรือนเพิ่มขึ้นและต้องการส่งลูกๆ ไปเรียนต่อต่างประเทศเพื่อให้แน่ใจว่าพวกเขามีโอกาสทางการศึกษาที่ดีที่สุด

โดยจุดหมายปลายทางในการเรียนต่อต่างประเทศ ได้แก่ ญี่ปุ่น (22%) สหรัฐอเมริกา (17%) ออสเตรเลีย (17%) แคนาดา (12%) สหราชอาณาจักร (7%) จีน (6%) และอื่น ๆ (19%)

และ 10. เวียดนามมีวิทยาลัยเทคนิควิชาชีพ สถาบัน ศูนย์ฝึกอบรบเกือบทุกจังหวัด โดยเฉพาะจังหวัดที่มีเขตอุตสาหกรรม และทำงานร่วมกันกับบริษัทที่ตั้งในจังหวัดเหล่านั้นเพื่อพัฒนาทักษะฝีมือแรงงาน