เปิด 10 เหตุผล “ไฟฟ้าสะอาด” เวียดนามเหนือไทย ปัจจัยชี้ขาดดึงดูด FDI

12 ม.ค. 2568 | 17:16 น.
อัปเดตล่าสุด :12 ม.ค. 2568 | 17:29 น.
1.6 k

พลังงานสะอาด (Clean Energy) เป็นอุตสาหกรรมที่มีอนาคตและมูลค่าการลงทุนสูง The International Energy Agency (IEA) รายงานว่าในปี 2024 มีการลงทุนในพลังงานสะอาดทั่วโลก 3 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ เพราะเป็นอุตสาหกรรมที่ลดคาร์บอน และเพื่อไม่ให้สินค้าถูกเก็บภาษีข้ามพรมแดน (CBAM)

บทความโดย : รองศาสตราจารย์ ดร.อัทธ์ พิศาลวานิช ผู้เชี่ยวชาญเศรษฐกิจระหว่างประเทศและอาเซียน  ที่ปรึกษาบริษัท อินเทลลิเจนท์ รีเสิร์ช คอนซัลแตนท์ (ไออาร์ซี) จำกัด

ขณะเดียวกันก็มีการตื่นในการใช้ไฟฟ้าสะอาด จนเกิดเป็นข้อริเริ่ม RE100 เมื่อปี 2014 ที่ผลักดันให้มีการใช้ไฟฟ้าสะอาด 100% ปัจจุบันมีบริษัทดังของโลกเป็นสมาชิกมากกว่า 400 บริษัท เช่น Apple, Microsoft และ Google เป็นต้น

อุตสาหกรรมพลังงานสะอาด 80% เป็นอุตสาหกรรมไฟฟ้าสะอาด เป็นการผลิตไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์สัดส่วนมากสุด 45% ของมูลค่าการลงทุนไฟฟ้าสะอาด ตามด้วยจากลม (มีทั้งบนบก onshore และในทะเล offshore ) สัดส่วน 35% และจากนํ้า สัดส่วน 10% (จีนจะสร้างเขื่อนที่ใหญ่สุดในโลกเพื่อผลิตไฟฟ้า 3 แสนล้านกิโลวัตต์ต่อปี บริเวณที่ราบสูงทิเบต บนแม่นํ้า Yarlung Tsangpo ที่ไหลผ่านทิเบตและรัฐอรุณาจัลประเทศ ของอินเดีย)

สหรัฐฯ เรียก “พลังงานสะอาด” แต่ยุโรปเรียก “พลังงานหมุนเวียน”  (Renewable Energy) ไฟฟ้าสะอาดเป็นปัจจัยชี้ขาดในการดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ (FDI) เข้าประเทศทั้งไทยและเวียดนาม ปี 2021 เวียดนามผลิตไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ ได้ 16.5 กิกะวัตต์ จากพลังงานลม 11.8 กิกะวัตต์ (Viktor Tachev, 09 June 2024)

ปี 2023 เวียดนามเป็นประเทศที่มีศักยภาพการผลิตพลังงานแสงอาทิตย์สูงสุดในอาเซียนที่ 17.08 กิกะวัตต์ อยู่อันดับ 12 ของโลก ในขณะที่ไทยผลิตที่ 3.19 กิกะวัตต์ (Wikipedia) ปี 2022 เวียดนามผลิตไฟฟ้าจากพลังงานลม 5.89 กิกะวัตต์ เป็นอันดับหนึ่งของอาเซียน ตามด้วย ไทย 1.55 กิกะวัตต์ และฟิลิปปินส์

นอกจากนี้เวียดนามสามารถผลิตไฟฟ้าจากพลังงานนํ้าได้ 79,000 กิโลวัตต์ต่อชั่วโมง อันดับหนึ่งอาเซียน ตามด้วยลาว และมาเลเซีย ส่วนไทยผลิตได้เพียง 6,800 กิโลวัตต์ต่อชั่วโมง (Hydroelectricity Generation, Global Economy.com)

หน่วยงานเวียดนามที่จัดการไฟฟ้า 47% มาจาก Vietnam Electricity (EVN), Vietnam Oil and Gas Group (PetroVietnam) และ Vietnam National Coal and Mineral Industries Group (Vinacomin) และมี 3 บริษัทของ EVN คือ Genco 1, Genco 2, and Genco 3 หน่วยงานเหล่านี้บริหารจัดการไฟฟ้าในเวียดนามที่มีความแตกต่างจากไทย ทำให้ราคาค่าไฟฟ้าเวียดนามถูกกว่าไทย ซึ่งจะเป็นปัจจัยสำคัญในการตัดสินใจของนักลงทุนต่างชาติ รวมถึงเป้าหมายในการเปลี่ยนไปใช้พลังงานสะอาดที่ชัดเจน สามารถสร้างความเชื่อมั่นให้นักลงทุน

เปิด 10 เหตุผล “ไฟฟ้าสะอาด” เวียดนามเหนือไทย ปัจจัยชี้ขาดดึงดูด FDI

มี “10 เหตุผล” ที่เวียดนามบริหารจัดการไฟฟ้าสะอาดได้ดีกว่าไทย เพราะ

1.ผลิตไฟฟ้าจากฟอสซิลน้อยกว่าไทย เวียดนามใช้ฟอสซิลต่อพลังสะอาด สัดส่วน 50 ต่อ 50 ในขณะที่ไทยสัดส่วน 75 ต่อ 25 นั่นหมายความว่า เวียดนามมีสัดส่วนการใช้พลังงานสะอาดมากกว่าไทย 2.ไม่มีการกำหนดโควตาการรับซื้อไฟฟ้าสะอาดจากเอกชน ทั้งแบบ DPPA (DirectPower Purchase Agreement) และ Solar Rooftop

3.ราคารับซื้อไฟฟ้าสะอาดของเวียดนามจากภาคประชาชน ถูกกว่าไทย อยู่ที่ 1.9 บาท/กิโลวัตต์ชั่วโมง ไทยรับซื้อที่ 2.2 บาท/กิโลวัตต์ชั่วโมง 4.เวียดนามมีศักยภาพการผลิตไฟฟ้าสะอาดมากกว่าไทย 5.เวียดนามมีเป้าหมาย Net Zero Emission ในปี 2050 เร็วกว่าไทย สร้างความเชื่อมั่นต่อนักลงทุน 6.เวียดนามมี FDI ที่เข้าไปลงทุนไฟฟ้าสะอาดมากกว่าไทย

7.การใช้ถ่านหินเป็นหลักทำให้ราคาไฟฟ้าเวียดนามต่ำกว่าไทย เพราะราคาถ่านหินถูกกว่าก๊าซธรรมชาติ 8.ต้นทุนการผลิตอื่นๆ ถูกกว่าไทย 9.แรงกดดัน Scoop 2 จาก EU CBAM ทำให้เวียดนามเร่งเปลี่ยนผ่านไปสู่ไฟฟ้าสะอาดให้เร็วขึ้น จากการมี FTA เวียดนาม-สหภาพยุโรป และ 10.การผลิตและความต้องการไฟฟ้าเวียดนามมีความเหมาะสมผลิตมากกว่าความต้องการอยู่ที่ 10% ส่วนไทยผลิตมากกว่าความต้องการ 30%