new-energy
530

"ไฟฟ้าสีเขียว" คึกคัก รับฮับ Data Center ทุนไทย-เทศทะลัก 1.7 แสนล้าน

    กกพ.เร่งขับเคลื่อนไฟฟ้าสีเขียว รับนักลงทุน Data Center 1.73 แสนล้านบาท 3 การไฟฟ้าคลอดอัตราค่าไฟ UGT1 ไม่เจาะจงแหล่งที่มาแล้ว พร้อมเปิดรับลงทะเบียน 2 ม.ค. นี้ มีจำนวนจำกัด 600 MW

ส่วน UGT2 แบบเจาะจงโรงไฟฟ้าสีเขียว คาดเปิดรับสมัครได้กลางปี 2568 ขณะที่ Direct PPA อยู่ระหว่างร่างเงื่อนไข หลักเกณฑ์ดำเนินงาน

จากที่ภาครัฐมีนโยบายในการพัฒนาพลังงานหมุนเวียน เพื่อสนับสนุนประเทศไปสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ภายในปี ค.ศ. 2050 และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero GHG Emission) ในปี ค.ศ. 2065 รวมถึงนานาประเทศมีเป้าหมายที่จะบรรลุตามเป้าหมายดังกล่าว

ส่งผลให้ไทยเป็นประเทศหนึ่งที่ได้รับความสนใจจากนักลงทุนเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะในกิจการ Data Center และ Cloud Service ที่บริษัทชั้นนำของโลก มีความต้องการใช้ไฟฟ้าสีเขียว หรือ UGT (Utility Green Tarifi) ที่ผลิตมาจากแหล่งที่ไม่ปล่อยคาร์บอน เพื่อลดภาวะโลกร้อน ช่วยเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันในตลาดโลก โดยเฉพาะกลุ่มผู้ส่งออกที่ต้องพิสูจน์ Carbon Tracking จากการผลิต และดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศเพื่อบรรลุเป้าหมายในการพัฒนาอย่างยั่งยืน รวมถึงการยกระดับไทยเป็นศูนย์กลางดิจิทัลแห่งเอเชีย

จากข้อมูลของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือบีโอไอ พบว่า ในช่วง 11 เดือนแรกปี 2567 (ม.ค.-พ.ย.) มีโครงการลงทุน Data Center และ Cloud Service ได้ยื่นขอรับการส่งเสริมการลงทุนรวม 47 โครงการ มูลค่าลงทุนกว่า 173,000 ล้านบาท โดยเป็นการลงทุนจากบริษัทรายใหญ่ทั้งสัญชาติอเมริกัน ออสเตรเลีย จีน ฮ่องกง สิงคโปร์ ญี่ปุ่น อินเดีย และไทย และมีความต้องการใช้ไฟฟ้าสีเขียวทั้งสิ้น อาทิ Amazon Web Services (AWS), Google, Microsoft, Equinix, GDS, NextDC, STT GDC, Evolution Data Centres, Supernap, Telehouse และ One Asia เป็นต้น

ดร.พูลพัฒน์ ลีสมบัติไพบูลย์ เลขาธิการสํานักงานคณะกรรมการกํากับกิจการพลังงาน (สํานักงาน กกพ.) เปิดเผยว่า ในการรองรับความต้องการใช้ไฟฟ้าสีเขียวดังกล่าว ทางกกพ.กำลังเร่งเดินหน้าผลักดันการดําเนินงานไฟฟ้าสีเขียวหรือ UGT (Utility Green Tariff) ที่มาจากพลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม พลังงานน้ำ และพลังงานชีวมวล โดยจะเปิดโอกาสให้ผู้ใช้ไฟฟ้าภาคธุรกิจและอุตสาหกรรม สามารถเลือกใช้ไฟฟ้าจากแหล่งพลังงานสะอาดได้ตามความต้องการ ซึ่งจากการหารือทั้ง 3 การไฟฟ้า ได้ข้อสรุปว่าจะเปิดรับผู้สมัครหรือเริ่มให้บริการในโครงการ UGT1 ได้ในเดือนมกราคม 2568 นี้

ปัจจุบันทางการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค(กฟภ.) ได้ประกาศอัตราค่าบริการไฟฟ้าสีเขียว UGT1 ซึ่งเป็นอัตราค่าไฟฟ้าปกติ รวมค่าไฟฟ้าตามสูตรการปรับอัตราค่าไฟฟ้าโดยอัตโนมัติ (Ft) และค่าบริการส่วนเพิ่ม (Premium) 0.0594 บาทต่อหน่วยโดยยังไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม ซึ่งได้เปิดให้ผู้สนใจลงทะเบียนตั้งแต่วันที่ 2 - 24 มกราคม 2568

ขณะที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) ได้ประกาศอัตราค่าบริการ UGT1 ในระดับขายส่งให้กฟน. และ กฟภ. ที่บวกอัตราค่าบริการส่วนเพิ่ม (Premium) จากค่าไฟฟ้าปกติที่ 0.0527 บาทต่อหน่วย

ทั้งนี้ UGT1 เป็นการให้บริการและการจัดหาใบรับรองเครดิตการผลิตพลังงานหมุนเวียน Renewable Energy Certificate (REC) ด้วยกระบวนการรับรองตามมาตรฐาน I-REC จากโรงไฟฟ้าที่มีอยู่เดิม เพิ่มเติมจากการให้บริการไฟฟ้าตามปกติ โดยที่การไฟฟ้าจะเป็นผู้รวบรวมคำสั่งซื้อจากผู้ใช้ไฟฟ้าแต่ละรายโดยไม่เจาะจงแหล่งที่มา แล้วส่งมอบไฟฟ้าอย่างถูกต้องให้กับผู้ใช้ไฟฟ้าแต่ละรายตามปริมาณที่สั่งซื้อ ซึ่งคิดเพิ่มเฉพาะส่วนที่เป็นการให้บริการของ REC เพราะเป็นบริการที่ผู้ขอใช้ได้รับเพิ่มเติมจากปกติ ในรูปแบบอัตราค่าไฟฟ้าราคาเดียวทั่วประเทศ (Uniform Tariff)

แหล่งข่าวจากสํานักงานคณะกรรมการกํากับกิจการพลังงาน (สํานักงาน กกพ.) เปิดเผยว่า หลังจากดำเนินงานเปิดให้บริการ UGT1 แล้ว ประมาณกลางปี 2568 คาดว่าจะเปิดดำเนินการในส่วนของ UGT2 สำหรับผู้ใช้ไฟฟ้าที่ต้องการเจาะจงกลุ่มโรงไฟฟ้า (portfolio) ในการรับบริการและเป็นผู้รับภาระการพัฒนาโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน( RE) ใหม่

โดยที่การไฟฟ้าจะเป็นผู้ทำสัญญา จะผลิตและส่งไฟฟ้าจากแหล่งผลิตไฟฟ้าของผู้ผลิตไปยังผู้ใช้ไฟฟ้าโดยตรง โดยเช่าสายส่งไฟจากภาครัฐในการนำจ่ายไฟฟ้า ตามแต่ละ portfoio ซึ่งมีอายุของสัญญา 10-25 ปี ซึ่งอัตราค่าบริการกำหนดจากต้นทุนการให้บริการพลังงานไฟฟ้าและ REC ของแต่ละ portfolio รวมถึงองค์ประกอบ อื่น ๆ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการจัดทำรายละเอียด

“สำหรับ UGT1 แหล่งที่มาของไฟฟ้า จะมาจากโรงไฟฟ้าพลังน้ำของกฟผ. ซึ่งมีปริมาณการจำหน่ายจำกัดอยู่ที่ราว 600 เมกะวัตต์ มีระยะเวลาสัญญาซื้อไฟฟ้า 1 ปี ดังนั้น ผู้ที่สนใจสมัครเข้ามาก่อน ก็จะได้รับสิทธิก่อน ขณะที่ UGT2 จะเป็นการซื้อขายภายใต้การจัดหาไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในรูปแบบ Feed - in Tariff (FiT) ปี 2565 - 2573 สำหรับกลุ่มไม่มีต้นทุนเชื้อเพลิง พ.ศ. 2565 ปริมาณราว 7,000 เมกะวัตต์ จากพลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม ชีวมวล เป็นต้น”

ที่ผ่านมามีผู้ประกอบการในกลุ่ม Data Center และ Cloud Service มีความสนใจใช้ไฟฟ้าสีเขียว จำนวนมาก โดยเฉพาะนักลงทุนจากญี่ปุ่น ที่ได้มีการให้ข้อมูลไปแล้ว และในเดือนมกราคม 2568 นี้ จะให้ข้อมูลกับนักลงทุนจากสหรัฐอเมริกา ที่มีความสนใจเข้ามาลงทุนในธุรกิจดังกล่าว

แหล่งข่าวกล่าวอีกว่า ส่วนการดำเนินงานด้านการซื้อขายพลังงานไฟฟ้าสีเขียวได้โดยตรง (Direct Power Purchase Agreement: Direct PPA) ปริมาณ 2,000 เมกะวัตต์นั้น คาดว่าจะดำเนินงานได้หลังจากเปิดให้ซื้อขายไฟฟ้า UGT2 เสร็จสิ้นแล้ว หรือราวช่วงครึ่งหลังปี 2568 ซึ่งจะเป็นอีกทางเลือกให้กับนักลงทุนที่ต้องการไฟฟ้าสีเขียว

ปัจจุบัน กกพ.อยู่ระหว่างการหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อดำเนินการร่างเงื่อนไขหลักเกณฑ์ ในการให้ใบอนุญาตกับผู้ผลิตไฟฟ้าและผู้ที่ต้องการใช้ เนื่องจากต้องมีการจ่ายค่าใช้บริหารสายส่งของทั้ง 3 การไฟฟ้าร่วมด้วย รวมถึงพื้นที่ในการผลิตไฟฟ้าและการใช้ต้องมีความชัดเจนว่าจะอยู่ในบริเวณใด และอัตราค่าไฟฟ้าที่จำหน่าย อีกทั้ง Direct PPA จะต้องเป็นผู้ใช้ไฟฟ้าสีเขียวรายใหญ่ ซึ่งมีความต้องการในระดับ 50 เมกะวัตต์ ขึ้นไป แต่เริ่มแรกสามารถทยอยใช้ในระดับ 5 เมกะวัตต์ ขึ้นไปสู่ตามเงื่อนไขที่กำหนดได้

นางสาวจรีพร จารุกรสกุล ประธานคณะกรรมการบริหารและประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มบริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ WHA Group กล่าวว่าจากการเข้ามาของกลุ่มนักลงทุนต่างชาติ ที่บริษัทแม่มีนโยบายในการบรรลุเป้าหมาย Net Zero โดยเฉพาะลูกค้ากลุ่ม Data Center อุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์และแผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์ ยานยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วน เป็นต้น มีความต้องการใช้พลังงานหมุนเวียนหรือไฟฟ้าสีเขียว

จากนโยบายการส่งเสริมไฟฟ้าสีเขียวของภาครัฐ ส่งผลให้ที่ผ่านมามีนักลงทุนต่างชาติในกลุ่ม Data Center ให้ความสนใจที่จะมาลงทุนในนิคมอุตสาหกรรมของบริษัทกว่า 10 ราย แต่ละรายมีความต้องการพื้นที่ขนาด 100 ไร่ขึ้นไป คาดว่าจะมีความชัดเจนได้ภายในปีนี้ หลังจากที่บริษัทได้ลงนามในสัญญาซื้อขายที่ดินให้กับ Google บริษัทเทคโนโลยีระดับโลก ที่มีแผนสร้าง Data Center และ Cloud Region ไปเมื่อช่วงไตรมาส 3 ปี 2567 ที่ผ่านมา

นายนพเดช กรรณสูต ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธุรกิจในประเทศไทยและโซลูชั่นธุรกิจอุตสาหกรรม กลุ่ม บริษัท บี.กริม เพาเวอร์ กล่าวว่า บริษัทมุ่งสู่การเป็นพันธมิตรหลัก ในการจัดหาไฟฟ้าสีเขียวให้กับ Data Center ร่วมกับนิคมอุตสาหกรรมอมตะ และให้บริการโซลูชั่นพลังงานครบวงจรรองรับความต้องการของ Data Center ในนิคมอุตสาหกรรมอมตะ ชลบุรี ถือเป็นธุรกิจใหม่ของกลุ่มบริษัท

ระหว่างนี้กำลังศึกษาความเป็นไปได้ในการลงทุนธุรกิจ มีการหารือกับผู้สนใจที่จะมาลงทุนประมาณ 4-5 ราย ที่จะมาลงทุนในนิคมอุตสาหกรรมอมตะ คาดว่จะได้ข้อสรุปประมาณไตรมาสแรกของปี 2568 โดยมีความต้องการไฟฟ้าสีเขียวประมาณ 300-500 เมกะวัตต์ และอยู่ระหว่างกระบวนการเจรจาทำสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับศูนย์ข้อมูลขนาดรวม 310 เมกะวัตต์ เนื่องจากทาง บี.กริม มีความพร้อมที่จะซัพพลายไฟฟ้าให้อย่างเพียงพอและเป็นไฟฟ้าที่มีคุณภาพตลอด 24 ชั่วโมงตรงตามความต้องการได้

ปัจจุบันบริษัทมีลูกค้าญี่ปุ่นแล้ว 20 เมกะวัตต์ และจะมีแผนซื้อไฟฟ้าเพิ่มเป็น 40 เมกะวัตต์ และ 100 เมกะวัตต์ในอนาคต