ดร.ชัยยุทธ ชุณหะชา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท จีเอเบิล จำกัด (มหาชน) เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่าเทรนด์เทคโนโลยีที่กำลังเป็นที่จับตามองในปี 2568 คือ Data Center ด้วยความพร้อมในด้านโครงสร้างพื้นฐานของประเทศไทยที่เหนือกว่าประเทศอื่นในภูมิภาค ส่งผลให้เทคโนโลยีโครงสร้างพื้นฐาน( Infrastructure) อย่าง Cloud ได้รับความนิยมในการถูกนำมาใช้เก็บข้อมูลแทนการเก็บข้อมูลแบบเดิม ด้วยความยืดหยุ่นของเทคโนโลยี Cloud ที่สามารถควบคุมต้นทุนค่าใช้จ่ายได้ตามการใช้งาน
สอดคล้องกับทิศทางข้อมูลของ Gartner ที่เผยให้เห็นว่าองค์กรในประเทศไทยมีการลงทุนด้านคลาวด์สูงถึง 592 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ ประมาณ 2 หมื่นล้านบาท และมีการเติบโตเฉลี่ยมากกว่า 30% จนถึงปี 2569 ประกอบกับปัจจัยการย้ายฐาน Data Center มาที่ประเทศไทย ทำให้การใช้งานคลาวด์ภายในประเทศเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
อีกทั้งเทคโนโลยี และ แพลตฟอร์ม ด้านการจัดการข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data Analytics) ก็จะได้รับผลพลอยได้จากเทรนด์ Data Center เช่นกัน เพราะข้อมูลที่ถูกเก็บ จะต้องเป็นข้อมูลที่ผ่านการวิเคราะห์เพื่อต่อยอดและนำใช้ประโยชน์ได้จริง ดังนั้นการเตรียมความพร้อมด้านข้อมูลจึงเป็นเรื่องที่สำคัญสำหรับทุกธุรกิจองค์กร
ดร.ชัยยุทธ กล่าวต่อไปอีกว่า มองว่าความท้าทายของธุรกิจองค์กรที่จะต้องเจอต่อจากนี้ ไม่ใช่แค่การทำ Digital Transformation ในรูปแบบที่แค่การนำเอาเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาใช้ในองค์กรเพียงอย่างเดียว เพราะจะไม่เกิดผลลัพธ์ตามที่ต้องการ แต่จะต้องสร้างความพร้อมในการนำเทคโนโลยี AI เข้ามาใช้ในอนาคตอันใกล้ให้พร้อมเสียก่อน ดังนั้นทุกธุรกิจองค์กรจึงควรให้ความสนใจและใส่ใจในเรื่องของ AI Readiness อย่างจริงจังก่อน จึงจะสามารถสร้างความพร้อมสู่การนำเทคโนโลยีมาใช้ในธุรกิจองค์กรได้อย่างยั่งยืน เพราะสิ่งสำคัญที่เป็นหัวใจในการขับเคลื่อนสู่การเชื่อมต่อเทคโนโลยี AI ในอนาคตที่ธุรกิจองค์กรส่วนใหญ่มักจะมองข้าม คือ ข้อมูล (Data), เทคโนโลยีโครงสร้างพื้นฐานที่ทันสมัย ระบบ Cybersecurity รวมถึง Business Application ที่กำลังเป็นที่ต้องการของธุรกิจองค์กรต่างๆ ทั่วโลก ฯลฯ
“แต่ไม่ว่าเทคโนโลยีต่างๆ จะหมุนโลกธุรกิจไปให้พร้อมกับการแข่งขัน หรือเทคโนโลยีต่างๆ จะถูกพัฒนาให้เชื่อมต่อกับเทคโนโลยี AI ไปได้มากขนาดไหน แต่หนึ่งเทคโนโลยีที่จะยังคงอยู่เพื่อปกป้องภัยคุกคามทางไซเบอร์ในทุกรูปแบบคือ เทคโนโลยี Cybersecurity ที่ได้รับการพัฒนาขีดความสามารถให้ปกป้องระบบจากการโจมตีของเหล่าแฮกเกอร์ได้”
ขณะที่ นายปิยะ จิตต์นิมิตร ผู้จัดการประจำประเทศไทย บริษัทพาโล อัลโต้ เน็ตเวิร์กส์ จำกัด กล่าวว่า“การทำดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชันในประเทศไทยทำให้ภาครัฐและองค์กรต้องหันมาทบทวนการป้องกันตนเองใหม่ เพราะวิวัฒนาการทางเทคโนโลยีที่รวดเร็วอย่าง AI และควอนตัมคอมพิวติ้งทำให้สถานการณ์ภัยคุกคามทางไซเบอร์เข้มข้นยิ่งขึ้นทั้งในเรื่องความซับซ้อนและความร้ายแรง การผสานรวม AI ตั้งแต่ระดับโค้ดโปรแกรมจนถึงคลาวด์ทำให้เกิดช่องโหว่ใหม่ที่สร้างปัญหาข้อมูลรั่วไหล จึงควรมีการยกระดับนโยบายและเทคโนโลยีให้มีความพร้อมยิ่งขึ้น อีกทั้งยังควรเน้นย้ำถึงแนวทางปฏิบัติด้าน AI อันมีจริยธรรมในการใช้ปัญญาประดิษฐ์ ทั้งการพัฒนาและการใช้เทคโนโลยี AI อย่างมีความรับผิดชอบ การทำงานเป็นแพลตฟอร์มจะมีบทบาทสำคัญในการรักษาความปลอดภัยไซเบอร์ในอนาคตอันใกล้นี้ และการรวมระบบไอทีและเครื่องมือรักษาความปลอดภัยไว้ในแพลตฟอร์มเดียวจะทำให้กระบวนการทุกอย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น”
ทั้งนี้ ทั้งประเด็นด้านการโจมตีทางไซเบอร์ที่ก่อให้เกิดความเสียหายมากขึ้น ไปจนถึงการผสานรวมควอนตัม AI เพื่อโซลูชันที่ประหยัดพลังงานได้ดีกว่าเดิม แนวโน้มคาดการณ์เหล่านี้จะช่วยวางแนวทางแก่องค์กรในการปรับกลยุทธ์ความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์และการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี AI ให้เกิดประโยชน์สูงสุด
1. โครงสร้างระบบทางไซเบอร์จะกลายเป็นแกนกลางของแพลตฟอร์มการรักษาความปลอดภัยทางข้อมูลแบบรวมศูนย์ ในปี 2568 องค์กรจะต้องรับมือกับความซับซ้อนที่เพิ่มขึ้นจนต้องลดจำนวนเครื่องมือระบบรักษาความปลอดภัยไซเบอร์ที่ใช้งาน และย้ายไปสู่แพลตฟอร์มแบบรวมศูนย์ซึ่งแจ้งสถานการณ์และมอบการควบคุมที่รอบด้านกว่า เมื่อประกอบกับการขาดแคลนแรงงานที่มีทักษะทางไซเบอร์ ก็ยิ่งทำให้แนวโน้มดังกล่าวนี้เป็นจริงในอัตราที่เร็วขึ้น เพราะแพลตฟอร์มแบบรวมศูนย์จะเพิ่มการมองเห็นและให้บริบทเชิงสถานการณ์ได้ในทุกส่วน ตั้งแต่คลังเก็บโค้ด เวิร์กโหลดของระบบคลาวด์ ไปจนถึงข้อมูลด้านระบบเครือข่ายและศูนย์ SOC ทั้งหมดนี้ทำให้องค์กรมองเห็นภาพรวมภายใต้สถาปัตยกรรมความปลอดภัยที่ชัดเจนผ่านแดชบอร์ดเพียงไม่กี่รายการ การผนวกรวมระบบรักษาความปลอดภัยทุกระดับไว้ในแพลตฟอร์มแบบรวมศูนย์จะทำให้การใช้ทรัพยากรเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด ปรับปรุงการทำงานโดยรวม และทำให้องค์กรมีภูมิคุ้มกันและปราการป้องกันที่ปรับตัวให้เข้ากับภัยคุกคามยุคใหม่ได้ดียิ่งขึ้น
2. ปี 2568 เป็นปีที่ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกต้องเผชิญกับกระแส Deepfake โดย Deepfake ถูกนำไปใช้ในทางที่ไม่ดีมาแล้วมากมายในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ที่เห็นบ่อยในข่าวอาจเป็นรื่องการปล่อยข้อมูลเท็จเพื่อวัตถุประสงค์ทางการเมือง แต่การโจมตีที่สร้างความเสียหายอย่างเป็นรูปธรรมมักมุ่งเป้าไปที่การล่อลวงทางการเงินต่อองค์กร ดังเช่นกรณีที่บริษัทวิศวกรรมรายหนึ่งในฮ่องกงโดนหลอกให้โอนเงินหลายล้านดอลลาร์แก่คนร้ายที่ปลอมตัวเป็น CFO และฝ่ายบริหารคนอื่นๆ ในการประชุมทางวิดีโอ
Generative AI ที่ใช้งานให้สามารถโจมตีเป้าหมายด้วย Deepfake ที่ดูน่าเชื่อถือมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ยังมีการใช้ Deepfake ประเภทเสียงในการหลอกลวงมากขึ้น อันเป็นผลจากเทคโนโลยีการโคลนเสียงที่เหมือนจริงยิ่งกว่าเดิมในปัจจุบัน ดังนั้นในปี 2568 จึงน่าจะพบการใช้ Deepfake เป็นเครื่องมือการโจมตีหลัก หรือใช้เป็นเครื่องมือหนึ่งภายใต้แผนการโจมตีขนาดใหญ่มากยิ่งขึ้น
3. แนวโน้มกระแสการรักษาความปลอดภัยเชิงควอนตัมในปี 2568 โปรเจ็กต์ด้านควอนตัมคอมพิวเตอร์กำลังขยายตัวทั่วภูมิภาคนี้ ดังเห็นได้จากทั้งภาครัฐและบริษัทนักลงทุนต่างเร่งเดินหน้าโครงการในแต่ละพื้นที่ แม้การโจมตีด้วยควอนตัมต่อเทคนิคการเข้ารหัสที่นิยมใช้ในปัจจุบันจะยังทำไม่ได้จริง แต่กลุ่มคนร้ายที่มีบางรัฐหนุนหลังได้ดำเนินมาตรการ “รวบรวมไว้ก่อน ถอดรหัสทีหลัง” โดยมีเป้าหมายไปที่ข้อมูลลับที่อาจถูกถอดรหัสด้วยเทคโนโลยีควอนตัมในอนาคต ซึ่งเรื่องนี้กำลังเป็นความเสี่ยงสำคัญที่รัฐบาลและภาคธุรกิจต้องเผชิญ เพราะเป็นอันตรายต่อการสื่อสารทั้งระดับพลเรือนและการทหาร กระทบต่อโครงสร้างพื้นฐานสำคัญ และสามารถจัดการกับโปรโตคอลรักษาความปลอดภัยที่ใช้ในธุรกรรมทางการเงินบนอินเทอร์เน็ตได้ส่วนใหญ่ และเรายังมีโอกาสเห็นคนร้ายที่มีรัฐหนุนหลังมุ่งเป้าไปที่องค์กรที่พัฒนาควอนตัมคอมพิวเตอร์ผ่านการโจมตีแนวจารกรรมด้วย