บีโอไอทำถึง ดึงลงทุนดาต้าเซ็นเตอร์-EV 2.5 แสนล้าน ลุยฮับเซมิคอนดักเตอร์

25 ธ.ค. 2567 | 11:39 น.
อัปเดตล่าสุด :25 ธ.ค. 2567 | 12:13 น.

บีโอไอ โชว์ผลงาน ดึงลงทุนดาต้าเซ็นเตอร์-คลาวด์ เข้าไทยแล้ว 1.7 แสนล้าน ขณะ 7 ยักษ์อีวีจีนขอรับส่งเสริมพ่วงแบตเตอรี่ สถานีชาร์จ กว่า 8 หมื่นล้าน ภาพรวม 9 เดือนแรกยอดขอรับส่งเสริมโดยรวมพุ่ง 7.2 แสนล้าน สูงสุดรอบ 10 ปี ลุยดันไทยฮับเซมิคอนดักเตอร์ เป้า 5 ปี ดูด 5 แสนล้าน

วันที่ 25 ธันวาคม 2567 สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก BOI News ระบุข้อความ “ส่งท้ายปี 2024 ปีนี้ บีโอไอทำถึง !” ดึงดูดการลงทุนหลากหลายอุตสาหกรรมสร้างโอกาสและผลักดันอนาคตไปอีกขั้น เปิดมุมมองใหม่ดันไทยเป็นเป้าหมายการลงุทนจากบริษัทระดับโลก

โดยเนื้อหาระบุข้อมูลผลงานที่สำคัญ ประกอบด้วย

1. การลงทุนใน Data Center ยกระดับไทยเป็นศูนย์กลางดิจิทัลแห่งเอเชีย

ประเทศไทยกลายเป็นเป้าหมายสำคัญของการลงทุนด้านศูนย์ข้อมูล (Data Center) และบริการคลาวด์ (Cloud Service)   ที่ผ่านมา มีโครงการลงทุนแล้ว 47 โครงการ รวมมูลค่ากว่า 173,000 ล้านบาท โดยในปี 2024 มีบริษัทเทคโนโลยีชั้นนำทั่วโลกเข้ามาลงทุนในไทยไม่ว่าจะเป็น Amazon Web Services  (AWS), Google, Microsoft, Equinix, GDS, NextDC, STT GDC, Evolution Data Centres, Supernap, Telehouse และ One Asia  เสริมความแข็งแกร่งให้ไทยในฐานะศูนย์กลางดิจิทัลแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

2. การส่งเสริมอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า (EV)

บีโอไอได้อนุมัติการลงทุนในอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า (EV) จากบริษัทชั้นนำในหลายโครงการ หนึ่งในไฮไลต์ คือ Hyundai Motor ตั้งโรงงานรถไฟฟ้าและแบตเตอรี่ในไทย พร้อมเริ่มผลิตปี 2026 ขณะที่ Chery Automobile ลงทุนสร้างฐานผลิตรถพวงมาลัยขวาในระยอง รวมถึงการลงทุนจากบริษัทจีนรายใหญ่ก่อนหน้า เช่น BYD, MG, Great Wall Motor, Changan Automobile, GAC Aion, NETA และ Foton โดยการลงทุนใน EV ครอบคลุมการผลิต BEV แบตเตอรี่ ชิ้นส่วนสำคัญ และสถานีอัดประจุไฟฟ้า รวมมูลค่ากว่า 80,000 ล้านบาท

นฤตม์  เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการบีโอไอ

รวมถึงปลดล็อกศักยภาพรถยนต์ไฟฟ้าแบบไฮบริด จากบอร์ดนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ (EV Board) ได้อนุมัติมาตรการลดภาษีสรรพสามิตสำหรับรถ HEV และ MHEV เพื่อสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านอุตสาหกรรมยานยนต์สู่การใช้พลังงานไฟฟ้า

3. การส่งเสริมอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์

ปี 2024 รัฐบาลจัดตั้ง "บอร์ดเซมิคอนดักเตอร์แห่งชาติ" โดยบีโอไอเป็นฝ่ายเลขาคณะฯ เพื่อยกระดับไทยขึ้นแท่นฮับเซมิคอนดักเตอร์ของภูมิภาค

• ดึงดูดการลงทุนระดับโลก : บีโอไอให้ส่งเสริมการลงทุนจากบริษัทชั้นนำหลากลายสัญชาติทั่วโลก ล่าสุด Foxsemicon Integrated Technology Inc. หรือ FITI ในเครือของฟ็อกซ์คอนน์ (Foxconn) ผู้ผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์รายใหญ่ที่สุดของโลกจากไต้หวันลงทุน 10,500 ล้านบาท ตั้งโรงงานในนิคมอุตสาหกรรมชลบุรีและระยอง

• ยกระดับอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ต้นน้ำ: โครงการลงทุนผลิตชิป (Wafer Fabrication) แห่งแรกของประเทศไทยจังหวัดลำพูน ของบริษัทเอฟทีวัน คอร์เปอเรชั่น จำกัด (FT1)  ที่เป็นการร่วมทุนของบริษัท ฮานา ไมโครอิเล็คโทรนิคส จำกัด (มหาชน) ร่วมกับกลุ่ม ปตท. ด้วยมูลค่าเฟสแรก 11,500 ล้านบาท คาดเริ่มผลิตในไตรมาสแรกของปี 2570 เพื่อรองรับการเติบโตของอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า ดาต้าเซ็นเตอร์ และระบบกักเก็บพลังงาน นับเป็นก้าวสำคัญต่อการยกระดับประเทศไทยไปสู่อุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ต้นน้ำ

• เดินหน้าสร้างฐานอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ : ตั้งเป้าหมายการลงทุนกว่า 5 แสนล้านบาทใน 5 ปีข้างหน้า โดยที่ผ่านมาตั้งแต่ปี 2561 - กันยายน 2567 มีการขอรับส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้า รวมกว่า 1,213 โครงการ มูลค่าเงินลงทุน 876,328 ล้านบาท โดยในช่วง 2 ปีหลัง มีการลงทุนในกลุ่มเซมิคอนดักเตอร์ แผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์ (PCB) และชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์เพิ่มขึ้นอย่างมาก ส่วนใหญ่เป็นการลงทุนจากสหรัฐอเมริกา ยุโรป จีน ไต้หวัน และญี่ปุ่น

บีโอไอทำถึง ดึงลงทุนดาต้าเซ็นเตอร์-EV 2.5 แสนล้าน ลุยฮับเซมิคอนดักเตอร์

4. มูลค่าการลงทุนสูงสุดในรอบ 10 ปี

ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2024 การลงทุนในไทยภายใต้การส่งเสริมของบีโอไอทำสถิติใหม่ ด้วยจำนวนโครงการยื่นขอรับการส่งเสริมถึง 2,195 โครงการ รวมมูลค่าการลงทุนสูงถึง 722,528 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 42% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า นับเป็นมูลค่าการลงทุนที่สูงที่สุดในรอบ 10 ปี สะท้อนความมั่นใจของนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศที่มีต่อประเทศไทย

5. บีโอไอเปิดสำนักงานใหม่ที่กรุงริยาด

เมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม 2567 บีโอไอได้เปิดสำนักงานแห่งใหม่ในกรุงริยาด ราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบีย เป็นสำนักงานเศรษฐกิจการลงทุนในต่างประเทศแห่งที่ 17 และเป็นแห่งแรกในภูมิภาคตะวันออกกลางเพื่อเสริมสร้างความร่วมมือด้านการค้าและการลงทุนระหว่างไทยกับภูมิภาคตะวันออกกลาง  โดยครอบคลุมอุตสาหกรรมสำคัญ เช่น อาหาร ยานยนต์ และสุขภาพ พร้อมขยายความร่วมมือใน 13 ประเทศในภูมิภาค เพื่อเชื่อมโยงเศรษฐกิจไทยกับตะวันออกกลาง

6. อุตสาหกรรม PCB มาแรง

ในปี 2024 อุตสาหกรรมแผงวงจรพิมพ์ (PCB) ในประเทศไทยเติบโตอย่างก้าวกระโดด จาก 2 ปีที่ผ่านมา (2566-2567) มีการลงทุนอุตสาหกรรม PCB มากกว่า 100 โครงการ รวมมูลค่ากว่า 170,000 ล้านบาท ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการลงทุนจากผู้ผลิต PCB ชั้นนำระดับโลกจากจีน ไต้หวัน และญี่ปุ่น ล่าสุด“คอมเปค” ผู้ผลิตแผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์ (PCB) ยักษ์ใหญ่อันดับ 5 ของโลกจากไต้หวัน ลงทุนกว่า 10,000 ล้านบาท เพื่อใช้ประเทศไทยเป็นฐานการผลิตสำคัญรองรับตลาด PCB ที่กำลังเติบโต

ประกาศจุดยืนสำคัญ สนับสนุนอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ไทย ก้าวสู่การเป็น "ฐานการผลิตแผ่นวงจรอิเล็กทรอนิกส์ชั้นนำในตลาดโลก" ในงาน THECA 2567 งานแสดงสินค้าและบริการวงจรอิเล็กทรอนิกส์แห่งเอเชียครั้งแรกในประเทศไทย

7. โรดโชว์ระดับโลก 5 ครั้ง ใน 4 ประเทศ เสริมความเชื่อมั่นการลงทุน

• จีน (ฝูเจี้ยน และกวางตุ้ง) เมษายน 2024

บีโอไอนำคณะเดินทางเยือนจีน โดยได้เข้าพบผู้บริหารของบริษัทผลิตแบตเตอรี่ชั้นนำระดับโลกจากจีน 7 ราย เพื่อชักจูงการลงทุนเข้ามาตั้งฐานผลิตเซลล์แบตเตอรี่ ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมต้นน้ำที่ใช้เทคโนโลยีและองค์ความรู้ด้านเคมีและวัสดุศาสตร์ขั้นสูง ใช้เงินลงทุนสูง และเป็นหัวใจสำคัญของอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า

• ญี่ปุ่น (โตเกียวและโอซากา) มิถุนายน 2024

บีโอไอ ร่วมกับธนาคาร MUFG จัดงาน "Thailand – Japan Investment Forum 2024" เพื่อส่งเสริมความร่วมมือด้านการลงทุน โดยมีนักลงทุนเข้าร่วมกว่า 400 รายจากอุตสาหกรรมสำคัญ เช่น ยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ และเซมิคอนดักเตอร์

• ซาอุดีอาระเบีย (ริยาด) กรกฎาคม 2024

จัดงานประชุมภาคธุรกิจครั้งใหญ่ "Thai – Saudi Investment Forum" และงานเจรจาจับคู่ธุรกิจ ได้รับความสนใจจากนักธุรกิจไทยและซาอุดีอาระเบีย รวมถึงนักธุรกิจจากประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาคตะวันออกกลาง เข้าร่วมงานอย่างคับคั่งกว่า 300 คน จากกว่า 200 บริษัท/หน่วยงาน และเกิดการเจรจาธุรกิจกว่า 100 คู่ นอกจากนี้ ภายในงานยังมีการลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) ด้านความร่วมมือทางธุรกิจรวม 11 ฉบับ ในหลากหลายสาขา

• เกาหลีใต้ (โซล) สิงหาคม 2024

บีโอไอ จัดสัมมนา "Thailand – Korea Investment Forum" ดึงดูดนักธุรกิจเกาหลีมากกว่า 160 บริษัท โดยเน้นอุตสาหกรรมที่กำลังเติบโต เช่น ดิจิทัล การแพทย์ เทคโนโลยีชีวภาพ และพลังงานสะอาด เพื่อสร้างโอกาสใหม่ในเศรษฐกิจสีเขียว

• จีน (เซี่ยงไฮ้) พฤศจิกายน 2024

ภาครัฐ และบีโอไอจัดงาน "Thailand – China Investment Forum 2024" โดยมีนักลงทุนจีนกว่า 500 คนเข้าร่วมจากอุตสาหกรรมสำคัญ เช่น ยานยนต์ไฟฟ้า แบตเตอรี่ อิเล็กทรอนิกส์ และเครื่องใช้ไฟฟ้า เพื่อแสดงศักยภาพของไทยในฐานะศูนย์กลางการผลิตและส่งออกของภูมิภาค

8. Subcon เชื่อมซัพพลายเชนระดับโลก

ในปี 2024 บีโอไอจัดงาน "SUBCON Thailand 2024" และ กิจกรรมพิเศษ "BOI Symposium: EV Supply Chain Edition" เชื่อมโยงผู้ผลิตชิ้นส่วนไทยสู่ซัพพลายเชนระดับโลกและยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ร่วมกับ 7 ค่ายอีวีชั้นนำ ผู้ร่วมงานกว่า 46,000 คน โดยมีผู้ซื้อจาก 500 บริษัทชั้นนำทั้งในและต่างประเทศ เกิดการจับคู่ธุรกิจ 9,000 คู่ สร้างมูลค่าเชื่อมโยงอุตสาหกรรมกว่า 22,000 ล้านบาทความสำเร็จเหล่านี้สะท้อนถึงความมุ่งมั่นของบีโอไอในการส่งเสริมการลงทุนและพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศไทยให้เติบโตอย่างยั่งยืน