โลกกำลังจับตามองความสัมพันธ์ระหว่างสองมหาอำนาจอย่างจีนและสหรัฐ ภายหลัง โดนัลด์ ทรัมป์ เตรียมเข้าพิธีสาบานตนเพื่อรับตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ เป็นสมัยที่สอง ในวันจันทร์ที่ 20 มกราคม 2568 ภายใต้คำขวัญเดิมที่สะท้อนถึงนโยบายหลักอย่าง “อเมริกาต้องมาก่อน” ในการขับเคลื่อนประเทศ
ครั้งนี้ทรัมป์กลับมาพร้อมความตั้งใจที่จะผลักดันมาตรการเชิงรุกที่เข้มข้นยิ่งขึ้น โดยในช่วงหาเสียงที่ผ่านมา ทรัมป์ได้ประกาศว่าจะเพิ่มอัตราภาษีสินค้าจีนเป็น 60% หรืออาจสูงกว่านั้น เพื่อกดดันเศรษฐกิจจีน นอกจากนี้ ทรัมป์ยังกล่าวว่าจะเก็บภาษีรถยนต์นำเข้าจากเม็กซิโกในอัตราที่สูงถึง 1,000% ในขณะที่จีนกำลังเตรียมพร้อมรับมือสงครามการค้าครั้งใหม่ พร้อมความมั่นใจของผู้นำในการรับมือกับผลกระทบจากนโยบายการเก็บภาษีที่อาจเกิดขึ้น แม้เศรษฐกิจของจีนในปัจจุบันจะเผชิญกับปัญหาหลายประการ
จีน ซึ่งเป็นขั้วอำนาจสำคัญที่ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงทั้งในเศรษฐกิจ การเมือง และความมั่นคงระดับโลก ตระหนักถึงความท้าทายที่อาจเกิดขึ้น และตอบโต้การวิพากษ์วิจารณ์ของทรัมป์ที่มองว่าจีนแทรกแซงเศรษฐกิจโลก เช่น การกล่าวหาว่าจีนเอาเปรียบสหรัฐฯ ทางเศรษฐกิจ ด้วยการปรับกลยุทธ์การค้าใหม่ โดยเน้นการขยายตลาดไปยังเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรืออาเซียน และลาตินอเมริกา เพื่อลดการพึ่งพาสหรัฐฯ โดยจีนได้เริ่มลดการพึ่งพาการค้ากับสหรัฐฯ มาระยะหนึ่งแล้ว ซึ่งการส่งออกไปยังสหรัฐฯ ได้ลดลงอย่างมีนัยสำคัญในปีที่ผ่านมา ขณะเดียวกันส่วนแบ่งการส่งออกของจีนในตลาดโลกกลับเพิ่มขึ้น
ความตึงเครียดทางเศรษฐกิจระหว่างจีนและสหรัฐฯ เริ่มต้นจากสงครามการค้าภายใต้การนำของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ในปี 2561 ซึ่งในขณะนั้นเศรษฐกิจจีนกำลังเติบโตอย่างรวดเร็ว จนมีการคาดการณ์ว่าจะสามารถแซงหน้าสหรัฐฯ เป็นประเทศที่มีเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในอนาคต
อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันจีนต้องเผชิญกับความท้าทายด้านหนี้สิน ภาวะเงินฝืด และปัญหาต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจภายในประเทศพร้อมกับการเตรียมตัวเพื่อรับมือกับการกลับมาของสงครามการค้าครั้งที่สองที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตจากทรัมป์ด้วยการปรับกลยุทธ์โดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจ
ความสัมพันธ์ทางการค้าระหว่างจีนและสหรัฐฯ มีการเปลี่ยนแปลงอย่างชัดเจนในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา โดยในปี 2565 การค้าทวิภาคีระหว่างทั้งสองประเทศยังคงมีมูลค่าสูงสุด โดยเมื่อปีที่ผ่านมา เม็กซิโกได้แซงหน้าจีนขึ้นเป็นผู้ส่งออกสินค้ารายใหญ่ที่สุดไปยังสหรัฐฯ ข้อมูลจากกระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ ชี้ว่า มูลค่าการส่งออกของจีนลดลงถึง 20% เหลือเพียง 427 พันล้านดอลลาร์ ขณะที่การส่งออกของจีนไปยังกลุ่มประเทศ G7 ก็ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ จาก 48% ในปี 2543 เหลือเพียง 30% ในปีที่ผ่านมา สัดส่วนการส่งออกของจีนในตลาดโลกเพิ่มขึ้นเป็น 14% จาก 13% ก่อนที่จะเกิดสงครามการค้า
จีนได้ปรับเปลี่ยนโครงสร้างการค้าของตนเพื่อลดการพึ่งพาการค้ากับสหรัฐฯ โดยเน้นการเพิ่มการบริโภคภายในประเทศและขยายความสัมพันธ์การค้ากับประเทศอื่นๆ ไปพร้อมกับการลดการพึ่งพาธนบัตรกระทรวงการคลังของสหรัฐฯ อีกทั้งยังพยายามหันไปลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานใหม่ๆ เช่น เทคโนโลยีพลังงานสะอาดและเมืองอัจฉริยะ เพื่อสร้างเสถียรภาพให้กับเศรษฐกิจภายในประเทศ
แม้ว่าจีนจะพยายามกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายและการลงทุนในโครงการใหม่ๆ แต่เศรษฐกิจของจีนก็ยังคงเผชิญกับความท้าทายในหลายด้าน รวมถึงการชะลอตัวของเศรษฐกิจและปัญหาตลาดอสังหาริมทรัพย์ที่อ่อนแอ แม้จะมีการประกาศมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมจากรัฐบาลจีนอย่างต่อเนื่อง แต่ความยืดหยุ่นในการปรับตัวยังคงเป็นสิ่งที่จำเป็นเพื่อให้เศรษฐกิจจีนสามารถก้าวผ่านช่วงเวลาที่ยากลำบากนี้ไปได้
นอกจากนี้ จีนยังใช้มาตรการเชิงรุก เช่น การตั้งข้อหาทุ่มตลาดสินค้านำเข้าจากสหรัฐฯ และการจำกัดการส่งออกวัตถุดิบสำคัญสำหรับการผลิตชิป เป็นการส่งสัญญาณว่าจีนพร้อมปกป้องผลประโยชน์ของตนในเวทีโลก อีกหนึ่งในกลไกสำคัญที่จีนกำลังพัฒนาเพื่อเสริมความแข็งแกร่งคือการเร่งผลักดัน “โครงการหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง” หรือ Belt and Road Initiative (BRI) ให้ครอบคลุมภูมิภาคสำคัญทั่วโลก การเชื่อมโยงเศรษฐกิจระหว่างประเทศผ่านเครือข่ายโลจิสติกส์และการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานช่วยลดการพึ่งพาสหรัฐฯ และเพิ่มอิทธิพลของจีนในระดับสากล
การกลับมาของโดนัลด์ ทรัมป์ในตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ อาจส่งผลกระทบต่อยุทธศาสตร์ความมั่นคงในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเฉพาะในพื้นที่ที่จีนให้ความสำคัญ เช่น พม่า อ่าวไทย และทะเลจีนใต้ สถานการณ์ดังกล่าวบีบให้จีนต้องปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ทางการทูตและการเมือง เพื่อปกป้องผลประโยชน์ของตนในภูมิภาคนี้
หนึ่งในแผนสำคัญที่จีนดำเนินการคือการสร้างพันธมิตรใหม่ในเอเชีย โดยเฉพาะการกระชับความสัมพันธ์กับรัสเซีย อินเดีย และกลุ่มประเทศอาเซียน ความร่วมมือเหล่านี้ไม่เพียงช่วยเสริมความมั่นคงในเชิงเศรษฐกิจและการเมือง แต่ยังเพิ่มอำนาจต่อรองของจีนในเวทีโลก ทำให้จีนสามารถยืนหยัดได้อย่างมั่นคงท่ามกลางการแข่งขันที่รุนแรง
ในขณะเดียวกัน ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ได้แสดงท่าทีเปิดกว้างต่อการเจรจากับสหรัฐฯ โดยส่งผู้แทนระดับสูงเข้าร่วมพิธีสาบานตนของทรัมป์ สัญญาณนี้สะท้อนถึงความพร้อมของจีนที่จะปรับความสัมพันธ์ให้เหมาะสมกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลง อย่างไรก็ตาม จีนไม่ได้พึ่งพาการเจรจาเพียงอย่างเดียว การเสริมสร้างศักยภาพทางทหารยังคงเป็นส่วนสำคัญในยุทธศาสตร์ของประเทศ การเปิดตัวเรือรบรุ่นใหม่ การฝึกซ้อมทางทหารรอบเกาะไต้หวัน และการพัฒนาเทคโนโลยีด้านป้องกันประเทศ เป็นเครื่องยืนยันถึงความมุ่งมั่นของจีนที่จะเตรียมพร้อมรับมือกับทุกสถานการณ์ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต
จีนได้เพิ่มความเคลื่อนไหวทางทหารและใช้กลยุทธ์สงครามไฮบริดในช่วงหลังการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ปี 2567 ซึ่งอาจเป็นการทดสอบท่าทีของรัฐบาลสหรัฐฯ และกำหนดทิศทางการปฏิบัติของสหรัฐฯ ต่อจีนในอนาคต
จีนได้ดำเนินการฝึกซ้อมทางทหารขนาดใหญ่รอบๆ ไต้หวันและหมู่เกาะญี่ปุ่น โดยส่งเรือรบและเรือพิทักษ์ฝั่งประมาณ 90 ลำไปฝึกซ้อม ซึ่งถือเป็นการฝึกซ้อมที่ใหญ่ที่สุดนับตั้งแต่วิกฤตช่องแคบไต้หวันในปี 2539 และเกิดขึ้นหลังจากการเยือนพันธมิตรในแถบมหาสมุทรแปซิฟิกของประธานาธิบดีไต้หวัน นอกจากการฝึกซ้อมทหาร จีนยังได้เปิดเผยเทคโนโลยีทางทหารที่ทันสมัย เช่น เครื่องบินขับไล่ J-35A และเรือบรรทุกเครื่องบิน Type 076 ซึ่งช่วยเสริมสร้างขีดความสามารถของจีนในทั้งทางอากาศและทะเล รวมถึงการแสดงออกถึงการเตรียมพร้อมทางทหารในระดับสูง
ความตึงเครียดระหว่างจีนและสหรัฐฯ ไม่ได้จำกัดอยู่แค่ในมิติทางเศรษฐกิจหรือการทหาร แต่ยังขยายไปถึงโลกไซเบอร์ โดยจีนกำลังวางแผนกลยุทธ์ระยะยาวเพื่อกำหนดทิศทางการเมืองโลกในยุคของทรัมป์ ในขณะเดียวกัน ความร่วมมือระหว่างจีน รัสเซีย อิหร่าน และเกาหลีเหนือก็ก่อให้เกิดความวิตกกังวลในประเทศตะวันตกเกี่ยวกับความพยายามที่จะท้าทายระเบียบโลกที่นำโดยสหรัฐฯ
อย่างไรก็ตาม ความท้าทายจากสหรัฐฯ ไม่ได้จำกัดเพียงเท่านี้ แต่ยังรวมถึงนโยบายระยะยาวที่มุ่งลดการพึ่งพาจีนในห่วงโซ่อุปทาน โดยผลักดันให้บริษัทอเมริกันย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศอื่นๆ เช่น เวียดนามและเม็กซิโก ซึ่งส่งผลให้จีนต้องตอบสนองด้วยการปรับตัวในเชิงนวัตกรรมและพัฒนาความสามารถในการแข่งขันของตนเอง
นักวิเคราะห์ยังคาดการณ์ว่า การกลับมาของทรัมป์อาจนำไปสู่ยุทธศาสตร์ที่คาดเดาไม่ได้ ซึ่งจะเพิ่มความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจโลกและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ดังนั้น จีนจึงต้องเตรียมพร้อมรับมือไม่เพียงแค่ในด้านนโยบาย แต่ยังต้องปรับตัวให้ทันกับกระแสโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว