GDP จีน Q4 พุ่งแรง 5.4% ฝ่ามรสุมเศรษฐกิจ ทะลุทุกความคาดหมาย

17 ม.ค. 2568 | 11:30 น.

GDP จีน Q4 พุ่งแรง 5.4% โตเกินคาดการณ์ แต่ยังเผชิญแรงกดดันจากความต้องการในประเทศที่อ่อนแอ-ความเสี่ยงสงครามการค้ากับสหรัฐฯ

เศรษฐกิจจีนในไตรมาสที่ 4 ของปี 2567 GDP ทะยานขึ้นสูง ถึง 5.4% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า ตัวเลขดังกล่าวเกินกว่าการคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ตั้งไว้เพียง 5% และยังถือเป็นการเติบโตที่รวดเร็วที่สุดนับตั้งแต่ไตรมาสที่ 2 ของปี 2566 สะท้อนผลจากมาตรการกระตุ้นที่เริ่มส่งผล เช่น การปรับลดอัตราดอกเบี้ย และการอนุมัติงบประมาณการคลังมูลค่า 10 ล้านล้านหยวน (ราว 1.4 ล้านล้านดอลลาร์) เพื่อช่วยรัฐบาลท้องถิ่นแก้ปัญหาวิกฤตการเงิน รวมถึงมาตรการส่งเสริมให้ผู้บริโภคซื้อรถยนต์และเครื่องใช้ไฟฟ้าใหม่ในราคาส่วนลด

แม้เศรษฐกิจจะแสดงสัญญาณฟื้นตัว แต่ยังมีความท้าทายที่รออยู่ รัฐบาลจีนยอมรับว่า สภาพแวดล้อมภายนอกยังสร้างผลกระทบในทางลบมากขึ้น ประกอบกับความต้องการในประเทศที่ยังคงอ่อนแอ

ในภาคการผลิต การผลิตอุตสาหกรรมในเดือนธันวาคมเพิ่มขึ้น 6.2% จากปีที่แล้ว สูงกว่าการคาดการณ์ของตลาดที่ 5.4% ขณะที่ยอดค้าปลีกขยายตัว 3.7% ในเดือนเดียวกัน แต่ก็ยังสะท้อนการบริโภคที่ไม่ฟื้นตัวเต็มที่ สอดคล้องกับรายได้ที่ใช้จ่ายได้ของประชากรในเมืองที่เพิ่มขึ้นเพียง 4.4% ขณะที่รายได้ของประชากรในชนบทเพิ่มขึ้น 6.3%

ในทางกลับกัน การลงทุนในสินทรัพย์ถาวรตลอดทั้งปีเพิ่มขึ้นเพียง 3.2% ต่ำกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้ และการลงทุนในภาคอสังหาริมทรัพย์หดตัวถึง 10.6% ในช่วงเดือนมกราคมถึงพฤศจิกายน 2567  ซึ่งสะท้อนวิกฤตที่ยังคงกดดันความมั่นใจของนักลงทุนและผู้บริโภค

อัตราการว่างงานในเมืองขยับขึ้นเป็น 5.1% ในเดือนธันวาคม จาก 5.0% ในเดือนก่อนหน้า ท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับสงครามการค้ากับสหรัฐฯ ซึ่งโดนัลด์ ทรัมป์ ที่กำลังจะเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีอีกครั้ง ประกาศแผนการเพิ่มภาษีนำเข้าสินค้าจีน

ท่ามกลางความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจ จีนยังเผชิญกับความเสี่ยงจากภาวะเงินฝืดโดยดัชนีราคาผู้บริโภคยังเพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อย และราคาสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดลดลงติดต่อกันเป็นเวลา 27 เดือน

นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าจีนจะตั้งเป้าการเติบโตทางเศรษฐกิจในปี 2568 ไว้ที่ระดับใกล้เคียง 5% เช่นเดิม และจะมีการเปิดเผยมาตรการกระตุ้นเพิ่มเติมในที่ประชุมประจำปีเดือนมีนาคม

สัญญาณการเติบโตที่ดีขึ้นนี้เป็นผลจากมาตรการสนับสนุนที่รัฐบาลเริ่มดำเนินการในช่วงปลายปี 2567 และมีแนวโน้มว่าจะมีบทบาทสำคัญในการช่วยเศรษฐกิจจีนฟื้นตัวอย่างยั่งยืนในอนาคต แต่ในขณะเดียวกัน การพึ่งพาการส่งออกที่อาจลดลงในปีหน้าและความกดดันด้านนโยบายการค้าระหว่างประเทศยังคงเป็นปัจจัยที่ต้องจับตามองอย่างใกล้ชิด