การสาบานตนเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐในวันที่ 20 มกราคม 2568 ของ “โดนัลด์ ทรัมป์” ถือเป็นจุดเริ่มต้นของยุคใหม่ที่มาพร้อมกับนโยบายสุดโต่งที่ตั้งเป้าเปลี่ยนแปลงโครงสร้างเศรษฐกิจ สังคม และความมั่นคงของสหรัฐฯ ในทันที
ผู้เชี่ยวชาญด้านการต่างประเทศและความมั่นคง รศ.ดร.ปณิธาน วัฒนายากร วิเคราะห์ว่า 100 วันแรก หลังการเข้ารับตำแหน่งของทรัมป์ โลกอาจเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ เมื่ออเมริกาเริ่มวางยุทธศาสตร์ระยะยาวในช่วง 100 วันแรก เพื่อรับมือกับการผงาดขึ้นของ “จีน” ที่กำลังจะก้าวขึ้นมาเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจอันดับหนึ่งของโลก
การเคลื่อนไหวที่น่าสนใจอย่างหนึ่งคือ ความพยายามของสหรัฐฯ ในการขยายอิทธิพลไปยัง “กรีนแลนด์” ดินแดนขนาดใหญ่ที่มีประชากรเพียง 50,000 คน แต่อุดมไปด้วยทรัพยากรมหาศาลทั้งแร่ธาตุหายากและพลังงาน และยังมีความสำคัญทางยุทธศาสตร์อย่างยิ่ง เนื่องจากตั้งอยู่กึ่งกลางระหว่างสหรัฐฯ และรัสเซีย ซึ่งคล้ายกับกรณี อลาสก้าที่สหรัฐฯ เคยซื้อมาจากรัสเซีย
รศ.ดร.ปณิธานรวมทั้งนักวิเคราะห์หลายคนมองว่า การที่โลกกำลังเข้าสู่ยุคของ “Total War” หรือ สงครามแบบเบ็ดเสร็จ ที่อาจนำไปสู่การเผชิญหน้าด้วยอาวุธนิวเคลียร์ระหว่างสหรัฐฯ กับจีน โดยเฉพาะประเด็นไต้หวันที่อาจเป็นชนวนสำคัญ สถานการณ์นี้เห็นได้ชัดจากกรณีรัสเซีย-ยูเครน ที่มีการลดขั้นตอนการใช้อาวุธนิวเคลียร์ลง โดยสหรัฐฯ สามารถยิงหัวรบนิวเคลียร์ไปถึงรัสเซียได้ภายในเวลาเพียง 3-7 นาที
ขณะที่จีนกำลังขยายอิทธิพลอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยไม่ใช้วิธีการรุนแรงหรือก้าวร้าว แต่มุ่งเน้นการพัฒนาเศรษฐกิจควบคู่กับการเสริมสร้างกำลังทางทหาร คาดการณ์ว่าภายในอีก 10 ปีข้างหน้า จีนจะมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่กว่าสหรัฐฯ และภายในอีก 10 ปีถัดไป ความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจนี้จะถูกแปรเปลี่ยนเป็นกำลังทางทหารที่แข็งแกร่ง
100 วันแรกเป็นจุดเริ่มต้นเริ่มสงคราม total wall เป็นการเปิดศักราชใหม่ของสงครามของยุคสมัยใหม่ ก่อนหน้านั้นมีการเปิดตัวขึ้นมาหลังที่รัสเซียบุกเข้าไปยูเครนอันนั้นก็ถือว่าเป็น Pre total war เราได้เห็นชัดเจนแล้วว่ารัสเซียทําอะไร ขณะนี้แม้แต่สูญเสียทหารไปวันละเกือบ 2000 คนก็ยังยืนอยู่ได้ จนถูกคว่ำบาตรก็ยังอยู่ได้
รศ.ดร.ปณิธานระบุว่า ไทยในฐานะประเทศที่อยู่ในจุดยุทธศาสตร์สำคัญ มีโอกาสที่จะมีบทบาทสำคัญในการเป็นตัวกลางไกล่เกลี่ยความขัดแย้งในภูมิภาค และสร้างความร่วมมือระหว่างมหาอำนาจในประเด็นที่เป็นกลาง อย่างไรก็ตาม ความล่าช้าในการเจรจากับสหรัฐฯ อาจส่งผลเสียต่อไทย โดยเฉพาะเมื่อ Economic Intelligence Unit ของ Economist ได้จัดให้ไทยอยู่ในกลุ่มประเทศที่อาจได้รับผลกระทบจากนโยบายของทรัมป์ เนื่องจากความใกล้ชิดกับจีน
100 วันแรกที่จะเป็นช่วงทดสอบนโยบาย
รศ.ดร.ปณิธาน วิเคราะห์ว่า การกลับมาของโดนัลด์ ทรัมป์สู่ทำเนียบขาวกำลังจะสร้างการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ให้กับเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะในช่วง 100 วันแรกที่จะเป็นช่วงทดสอบนโยบายที่เคยหาเสียงไว้ ไม่ว่าจะเป็นการปรับนโยบายการเข้าเมือง การปรับอัตราภาษี การค้าและศุลกากร รวมถึงจุดยืนทางการเมืองและความมั่นคง การสนับสนุนสงคราม และการผลักดันสันติภาพ
นโยบายในช่วง 100 วันแรก อาจมีความเข้มข้นสูง แต่หลังจากนั้นอาจมีการปรับเปลี่ยน เช่น การขึ้นอัตราภาษีที่อาจสูงมาก ในช่วงแรก อาจถูกปรับลดลงเหลือ 90% ในภายหลัง ขึ้นกับผลลัพธ์ทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้น เพราะสหรัฐฯ กำลังเผชิญความท้าทายในการลดค่าใช้จ่ายหารายได้เพิ่ม และลดความสูญเสียในความสามารถการแข่งขัน รวมถึงการจัดการกับความแปรปรวนในตลาดแรงงาน เงินเฟ้อ และพลังงาน
อีกหนึ่งประเด็นที่หลายฝ่ายจับตามอง คือการสนับสนุนกลุ่มทุนขนาดใหญ่ที่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับทรัมป์ เช่น อุตสาหกรรมไฮเทค คริปโต เคอร์เรนซี และพลังงานฟอสซิล แม้ว่าการลดระเบียบข้อจำกัดเหล่านี้จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะสั้น แต่กลับสร้างความกังวลเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อนและการผูกขาดตลาด
ประเด็นที่น่าจับตามองคือบทบาทของกลุ่มที่ใกล้ชิดกับทรัมป์ โดยเฉพาะอีลอน มัสก์ ที่จะเข้ามามีบทบาทในการบริหารหนี้ของรัฐบาลกลาง หากสามารถลดค่าใช้จ่ายให้ต่ำกว่า 6% ของ GDP ได้ จะช่วยเพิ่มความยืดหยุ่นในการกำหนดอัตราภาษี
อย่างไรก็ตาม จีนแสดงความแข็งแกร่งผ่านตัวเลขการส่งออกที่เติบโตถึง 11% สร้างความมั่นใจในการเจรจาต่อรองกับสหรัฐฯ แม้จะมีการคาดการณ์ว่าภาษีอาจทำให้ GDP ของจีนลดลง 2-2.5% จีนได้เตรียมรับมือด้วยการสะสมทุนสำรองจำนวนมากเพื่อควบคุมค่าเงินหยวน และออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่เข้มข้นที่สุดหลังโควิด
ขณะที่ธนาคารโลกปรับประมาณการการเติบโตของจีนเป็น 4.9% แต่กำแพงภาษีจะเป็นตัวกำหนดสำคัญของเศรษฐกิจและการเมืองโลก รวมถึงความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับสหรัฐฯ ซึ่งจะส่งผลต่อเนื่องถึงพันธมิตรของจีน รวมถึงไทยด้วย
แม้จะมีความกังวลเกี่ยวกับนโยบายของทรัมป์ แต่ความเป็นจริงทางเศรษฐกิจอาจทำให้การดำเนินนโยบายมีความยืดหยุ่นมากขึ้น โดยเฉพาะความสัมพันธ์ระหว่างจีนและสหรัฐฯ ที่ต่างพึ่งพากันบนฐานเศรษฐกิจเดียวกัน การตัดความสัมพันธ์ทั้งหมดจึงเป็นไปไม่ได้ในทางปฏิบัติ ท้ายที่สุดทั้งสองประเทศอาจต้องหาจุดสมดุลร่วมกันเพื่อรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจของโลก
การที่ทรัมป์ชนะการเลือกตั้งส่งผลให้เงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้น สร้างทั้งโอกาสและความท้าทายให้ประเทศต่างๆ สหรัฐฯ อาจต้องบริหารค่าเงินให้สอดคล้องกับความเป็นจริงมากขึ้น และอาจใช้ทั้งนโยบายการค้าและการเงินอย่างเข้มข้น โดยเฉพาะใน 100 วันแรก
ด้านความมั่นคง สงครามยูเครน-รัสเซีย อาจไม่จบลงในเร็ววัน แม้ทีมงานของประธานาธิบดีเซเลนสกีได้เจรจากับทีมทรัมป์แล้ว แต่ยังไม่มีการเจรจากับปูติน อย่างไรก็ตาม อาจมีกรอบการเจรจาใหม่ที่สร้างบรรยากาศที่ดีขึ้น
รศ.ดร.ปณิธาน แนะนำว่า ไทยควรเร่งดำเนินการเจรจากับทีมทรัมป์ โดยเสนอการซื้อสินค้าราคาแพง ไฮเทค และยุทโธปกรณ์จากสหรัฐฯ เพื่อต่อรองลดกำแพงภาษี พร้อมทั้งนำเสนอโอกาสการลงทุนในอุตสาหกรรมที่ไทยเชี่ยวชาญ เช่น อุตสาหกรรมบริการและอาหาร เนื่องจากขณะนี้หลายประเทศได้เริ่มเจรจากับทรัมป์แล้ว ทั้งผู้นำจากยุโรป เม็กซิโก และยูเครน ในขณะที่ญี่ปุ่นยังประสบความยากลำบากในการเจรจา เนื่องจากความไม่แน่นอนทางการเมืองภายในประเทศ