นับตั้งแต่เปิดต้นปี 2568 มาดัชนี SET Index ปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง โดย 9 วันทำการแรกที่ผ่านมา ดัชนีตลาดหุ้นไทยปิดตัวยืนแดนลบไปแล้ว 6 วันทำการ ซึ่งวันเปิดทำการซื้อขายวันแรกดัชนีเปิดตลาดอยู่ที่ 1,400.21 จุด และวันที่ 14 ม.ค.68 ดัชนีปิดตลาดที่ระดับ 1,340.25 จุด ลดลงกว่า 59.96 จุด หรือเปลี่ยนแปลง -4.28%
โดยในวันนี้ 15 ม.ค.68 ตลาดหุ้นไทยเปิดทำการซื้อขายภาคเช้าร่วงลงต่อเนื่องจนกระทั่งแตะที่ระดับ 1,334.79 จุด แม้จะสอดคล้องไปในทิศทางเดียวกันกับตลาดหุ้นเอเชียส่วนใหญ่ที่ยืนแดนลบเช่นเดียวกัน แต่ก็อาจเป็นอีกสัญญาณที่สะท้อนให้เห็นว่าตลาดหุ้นไทยกำลังขาดความเชื่อมั่นในการลงทุน
นายวิจิตร อารยะพิศิษฐ นักวิเคราะห์การลงทุนปัจจัยพื้นฐาน บริษัทหลักทรัพย์ ลิเบอเรเตอร์ จำกัด (Liberator) เปิดเผยว่า การปรับตัวลดลงของดัชนีตลาดหุ้นไทยนับตั้งแต่เปิดต้นปี 2568 ต่อเนื่องจนถึงปัจจุบันนั้น หลักๆ เป็นผลมาจากแรงกดดันทั้งจากต่างประเทศและในประเทศ
โดยปัจจัยต่างประเทศนั้น น้ำหนัดส่วนใหญ่เป็นผลมาจากความกังวลใจต่อนโยบายทางเศรษฐกิจของ "โดนัลด์ ทรัมป์" ซึ่งกำลังจะเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐอย่างเป็นทางการในวันที่ 20 มกราคม 2568 นี้ แน่นอนว่าปัญหาสงครามการค้ายังคงเป็นประเด็นหลักที่ทั่วโลกให้การจับตารอดูนโยบายว่าจะเป็นไปในทิศทางใด
เพราะดูเหมือนว่ามีโอกาสทั้งการปรับอย่างรวดเร็วและรุนแรง และมีโอกาสที่จะค่อยๆ ทยอยปรับขึ้นในส่วนของอุตสาหกรรมที่มีผลขาดดุลการค้าของสหรัฐฯ ซึ่งยิ่งส่งแรงให้นักลงทุนเกิดความกังวลใจต่อการลงทุนในตลาดหุ้น เป็นผลให้ในระยะนี้ตลาดหุ้นเอเชียส่วนใหญ่จึงแกว่งตัวในแดนลบ
นอกจากนี้ จากการรายงานตัวเลขดัชนีเงินเฟ้อผู้ผลิตสหรัฐฯ (US PPI) เดือนธันวาคม ขยายตัว 3.3% จากเทียบช่วงเดียวกันในปีก่อน เพิ่มขึ้นจากเดือนพฤศจิกายนที่ 3.0% แต่ต่ำกว่าคาดที่ 3.5% เช่นเดียวกับ US Core PPI ที่ขยายตัว 3.5% จากเทียบช่วงเดียวกันในปีก่อน ต่ำกว่าตลาดคาดที่ 3.8% ช่วยคลาดกังวลระยะสั้นต่อการกำหนดนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed)
ส่วนคืนนี้แนะจับตาสัญญาณเงินเฟ้อของผู้บริโภคเพิ่มเติม (US CPI) ซึ่งคาดว่าจะขยายตัว 2.9% จากเทียบช่วงเดียวกันในปีก่อน เพิ่มขึ้นจาก 2.7% จากเทียบช่วงเดียวกันในปีก่อน และ US Core CPI คาดที่ 3.3% จากเทียบช่วงเดียวกันในปีก่อน ทรงตัวจากเดือนพฤศจิกายน ซึ่งจะเป็นจุดตอกย้ำมาตรการการเงินของ FED มากยิ่งขึ้น โอกาสที่จะ Cut rate ก็น้อยลง
จากรายงานเงินเฟ้อผู้ผลิตที่ต่ำคาด ช่วยผ่อนคลายความกังวลระยะสั้นต่อประเด็นดอกเบี้ยของ FED แต่อย่างไรก็ดี ด้านอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ 10 ปี ยังคงอยู่ในระดับสูง โดยวานนี้ปิดที่ 4.78% สะท้อนความเสี่ยงของการดำเนินนโยบายของทรัมป์ในช่วงถัดไป ที่ยังคงต้องติดตามใกล้ชิด
"ถามว่าดัชนีตลาดหุ้นไทยในวันนี้ที่ปรับตัวลดลงมาต่ำกว่า 1,330 จุด เป็นจุดต่ำสุดแล้วหรือไม่ ก็ต้องบอกว่าในปี 2567 ที่ผ่านมา ดัชนีเคยทำ New Low ที่ระดับ 1,270 จุด มาแล้ว ดังนั้นจึงมองว่าการลดลงของ SET Index ก็ไม่ได้แย่ขนาดนั้น เพียงแต่ที่ยังยืนแดนลบเพราะยังขาดปัจจัยใหม่ๆ เข้ามาขับเคลื่อน และยังได้รับแรงกดดันจากต่างประเทศ"
ในขณะที่ปัจจัยภายในประเทศนั้น แม้ที่ผ่านมาภาครัฐพยายามที่จะออกนโยบายต่างๆ เพื่อหวังว่าจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้บ้างไม่มากก็น้อย แต่ต้องยอมรับว่าดูเหมือนว่าจะไม่ค่อยออกผลเท่าไหร่นัก และยังไม่เห็นผลที่ชัดเจน ทำให้นักวิเคราะห์หลายรายประเมิน GDP ไทยในปี 2568 ว่าอาจอยู่ที่ระดับ 2% ปลายๆ ขณะที่ปี 2567 GDP อยู่ที่ประมาณ 2% ตอนกลาง
ภาครัฐพยายามเร่งเติมให้ GDP ขยับขึ้นมาเป็นระดับ 3% ตอนต้น แต่ด้วยนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจที่ไม่ได้ออกฤทธิ์แรงมากพอ การที่จะเข็นให้ขึ้นไปแตะระดับ 3% ตอนต้นได้ก็อาจเหนื่อยหน่อย นอกจากนี้ ยังมีเรื่องมาตรการทางภาษีที่ยังคงค้างอยู่ ดังนั้นจึงเป็นผลให้นักลงทุนจึงลดความเสี่ยงของการลงทุนลง
ทั้งนี้ มองว่าตลาดหุ้นไทยในขณะนี้ยังคงเผชิญการขาดความเชื่อมั่นต่อการลงทุน ทำให้ SET ยังอยู่ในช่วงการปรับฐาน โดยแนวรับถัดไปในเชิงเทคนิคอยู่ที่บริเวณ 1,330 จุด ขณะที่ในเชิงปัจจัยพื้นฐาน ประเมินแนวรับที่ระดับ PE เฉลี่ยย้อนหลัง 10 ปี ลบ 1.5.SD และ ลบ 2.0 SD. ที่ 1,350 และ 1,300 จุด ตามลำดับ
ซึ่งบ่งชี้ว่า ณ ปัจจุบัน SET มี Valuation ที่อยู่ในระดับที่ไม่แพง และน่าสะสมในการลงทุนระยะกลาง-ยาวแล้ว สำหรับกลยุทธ์การลงทุน มองความน่าสนใจไปที่หน้าหุ้นที่มีแนวโน้มผลประกอบการในไตรมาส 4/2567 จะออกมาดี และสามารถทำนิวไฮได้ เช่น MASTER คาดไตรมาส 4/2567 ทำกำไรสูงสุดใหม่ที่ 200 ล้านบาท และ COCOCO ทำกำไรนิวไฮ
หุ้นที่ปันผลดีอย่างกลุ่มแบงก์ แนะนำ KTB หุ้นที่คาดว่าจะได้รับอานิสงส์เชิงบวกจากสงครามการค้า องิสติรี่การย้ายฐานผลิตเข้ามายังประเทศไทย แนะนำกลุ่มนิคมฯ AMATA และกลุ่มค้าปลีก ที่ได้รับอานิสงส์มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจภาครัฐ Easy E-Receipt 2568 แนะนำ CRC เป็นต้น