BDMS ปักหมุด Wellness Destination สยายปีกรับเทรนด์สุขภาพโลกโตแรง

18 ม.ค. 2568 | 05:20 น.

เทรนด์สุขภาพโลกโตแรง “BDMS” เดินหน้าสยายปีกตลาดเวลเนส นำร่องเปิดเวลเนส คลินิกในโรงแรมย่านท่องเที่ยวดังทั้งภูเก็ต เกาะสมุย ตอบโจทย์คนรักสุขภาพ ตั้งเป้า Wellness Destination จุดหมายปลายทางด้านสุขภาพระดับประเทศ วางกรอบ BDMS Sustainability Framework พัฒนาองค์กร คน นวัตกรรมสู่ความยั่งยืน

ในยุคที่ผู้คนหันมาใส่ใจสุขภาพมากขึ้น การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพจึงกลายเป็นเทรนด์ที่ได้รับความนิยมทั่วโลก รายงานของ Global Wellness Institute (GWI) หรือ สถาบันเพื่อสุขภาพแห่งโลก ระบุว่า ตลาดสุขภาพโลกเติบโตจาก 4.6 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2563 เป็น 6.3 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2566 และคาดการณ์ว่าจะเพิ่มเป็น 9 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็นเงินไทยกว่า 313 ล้านล้านบาท ในปี 2571 ด้วยอัตราการเติบโตเฉลี่ย 7.3% ต่อปี

โดยปัจจัยขับเคลื่อนการเติบโตมาจากการที่ผู้คนตระหนักถึงความสำคัญของสุขภาพมากขึ้น ทำให้เกิดความต้องการผลิตภัณฑ์และบริการที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพเพิ่มขึ้น โดยเทคโนโลยีใหม่ๆ ขณะเดียวกันจำนวนผู้สูงอายุที่เพิ่มขึ้นทั่วโลก ทำให้ความต้องการบริการดูแลสุขภาพสูงขึ้นตามไปด้วย

สำหรับ 5 กลุ่มธุรกิจที่เติบโตเร็วที่สุดได้แก่ 1. อสังหาริมทรัพย์เพื่อสุขภาพ (15.8%) 2. สุขภาพจิต (12.2%) 3. การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ (10.2%) 4. น้ำพุร้อนและน้ำแร่ (9.2%) และ 5. การรับประทานอาหารเพื่อสุขภาพ โภชนาการ และการลดน้ำหนัก (6.4%)

 

สอดคล้องกับมุมมองของแพทย์หญิงปรมาภรณ์ ปราสาททองโอสถ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ และประธานคณะผู้บริหารอาวุโส กลุ่ม 1 บริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด (มหาชน) หรือ BDMS ที่กล่าวภายในงาน The Next Marketing Battle จัดทัพฝ่าสมรภูมิการตลาดยุคใหม่

ในหัวข้อ Service Warfare: Winning the Tourism, Care & Wellness Economy through Sustainable Innovation พลิกโฉมวงการท่องเที่ยวและสุขภาพด้วยนวัตกรรมความยั่งยืนว่า หลังวิกฤต COVID-19 อุตสาหกรรมโรงแรมทั่วโลกเผชิญการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่

แพทย์หญิงปรมาภรณ์ ปราสาททองโอสถ

โดยเฉพาะเทคโนโลยีที่เข้ามามีบทบาทสำคัญในการดำเนินธุรกิจและพฤติกรรมผู้บริโภคที่หันมาใส่ใจสุขภาพมากขึ้นโดยตลาด Wellness เติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่องทั่วโลกถึง 20% และประเทศไทยมีเป้าหมายที่จะเป็น Top 5 ของโลก

ทั้งนี้ในส่วนของ BDMS ซึ่งมีเครือข่ายกลุ่มโรงพยาบาล ได้แก่ โรงพยาบาลกรุงเทพ, โรงพยาบาลสมิติเวช, โรงพยาบาลบีเอ็นเอ็ช, โรงพยาบาลพญาไท, โรงพยาบาลเปาโล, โรงพยาบาลรอยัล, และ BDMS Wellness Clinic ดำเนินธุรกิจเวลเนสมานานกว่า 10 ปี เป็นการดูแลสุขภาพแบบองค์รวม เริ่มจากในโรงพยาบาล คลินิก และมีความตั้งใจพัฒนาในส่วนของโรงแรมให้มีเวลเนสในต่างจังหวัดด้วย

 “การขยายธุรกิจของ BDMS มีแผนจะเปิดคลินิกขนาดเล็กนอกรพ.ควบคู่ไปกับโรงแรมขนาดเล็กที่เน้นการดูแลสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี หรือที่เรียกว่า Wellness โดยโรงแรมเหล่านี้จะตั้งอยู่ในทำเลที่บรรยากาศดี เช่น ภูเก็ต ซึ่งร่วมมือกับลากูน่า และกำลังจะเปิดตัวที่ศรีพันวา รวมถึงที่เกาะสมุย ซึ่งจะเป็นคลินิก Wellness โดยเฉพาะ

BDMS มองว่า Wellness เป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวัน ไม่ใช่เพียงแค่การมาใช้บริการเป็นครั้งคราว แต่เป็นการดูแลสุขภาพอย่างต่อเนื่อง ซึ่งอาจรวมถึงการรับประทานอาหารเสริมที่เหมาะสมกับแต่ละบุคคลด้วย โดย BDMS มุ่งเน้นที่จะให้บริการที่เป็นประโยชน์ต่อสุขภาพของอย่างแท้จริง”

BDMS ปักหมุด Wellness Destination สยายปีกรับเทรนด์สุขภาพโลกโตแรง

สำหรับโครงการใหญ่ของบริษัทที่หลายคนอาจสงสัยว่าทำไม BDMS ถึงเลือกพัฒนาพื้นที่บริเวณหัวมุมสวนลุมให้เป็นมิกซ์ยูส ด้าน Wellness หรือศูนย์รวมสุขภาพแบบครบวงจร โดยมีเป้าหมายที่จะสร้างให้ Wellness Destination หรือจุดหมายปลายทางด้านสุขภาพระดับประเทศ

แม้ BDMS จะเชี่ยวชาญด้านการแพทย์ แต่โครงการนี้จะประกอบไปด้วยหลากหลายองค์ประกอบ ไม่ว่าจะเป็นคลินิก, ร้านค้า, โรงแรม เพื่อสร้างระบบนิเวศที่ครบวงจรด้านสุขภาพ และเป็นตัวแทนสะท้อนถึงแนวคิดด้านสุขภาพของประเทศไทย

อย่างไรก็ดี การดูแลสุขภาพเป็นเรื่องที่ต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายภาคส่วน ไม่ใช่แค่ BDMS เพียงอย่างเดียว การดูแลสุขภาพที่ดีนั้นต้องครอบคลุมทุกช่วงวัย ทุกกลุ่มคน และทุกสถานที่ ซึ่งจำเป็นต้องมีการบูรณาการบริการจากหลากหลายสาขา ไม่ว่าจะเป็นโรงแรม หรือบริการอื่นๆ เพื่อให้การดูแลสุขภาพเป็นไปอย่างสมบูรณ์แบบ

หัวใจสำคัญอีกประการหนึ่งที่คือเรื่องของความยั่งยืน หากต้องการให้ธุรกิจด้านสุขภาพอยู่ได้อย่างยั่งยืน นอกจากการให้บริการที่หลากหลายแล้ว ยังต้องให้บริการที่ “เท่าเทียม” หมายถึงทุกคนไม่ว่าจะเป็นเด็ก ผู้ใหญ่ หรืออยู่ในพื้นที่ใด ก็ต้องมีโอกาสเข้าถึงบริการสุขภาพที่เหมาะสมได้อย่างง่ายดาย

โดย BDMS ใช้กรอบความยั่งยืน “BDMS Sustainability Framework” เน้นปรับปรุงประสิทธิภาพความยั่งยืนขององค์กร การพัฒนานวัตกรรม เพื่อให้องค์กรเจริญก้าวหน้า ควบคู่ไปกับการพัฒนาคนในองค์กร และสร้างการมีส่วนร่วมกับสังคม

แพทย์หญิงปรมาภรณ์ ปราสาททองโอสถ

นอกจากนี้การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศส่งผลกระทบต่อความยั่งยืนในวงกว้าง โดยเฉพาะในภาคธุรกิจ เช่น อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและโรงแรม ซึ่งต้องเผชิญกับความท้าทายในการปรับตัวและดำเนินงานให้สอดคล้องกับมาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อมที่เข้มงวดขึ้น

BDMS เน้นการบริหารจัดการบุคลากรแบบ Bottom-up เพื่อส่งเสริมให้พนักงานทุกระดับมีส่วนร่วมในการสร้างความเปลี่ยนแปลงและตระหนักถึงความสำคัญของความยั่งยืน ซึ่งอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและสุขภาพเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมหลักที่สร้างรายได้ให้กับประเทศไทย และ BDMS จะผลักดันให้ประเทศไทยเป็นผู้นำด้านการท่องเที่ยวเพื่อสุขภาพในระดับโลก

ทั้งนี้ผลสำเร็จที่เกิดขึ้นจากการดำเนินธุรกิจเพื่อความยั่งยืน โดยคำนึงถึงผลกระทบต่อเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ควบคู่ไปกับการทำให้ธุรกิจสุขภาพมีความก้าวหน้าจากการพัฒนานวัตกรรมทำให้ได้รับรางวัล SET Awards ประเภท Value Based Healthcare นวัตกรรมการผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพกเทียม ซึ่งเป็นเทคนิคใหม่แบบไม่ตัดกล้ามเนื้อ เป็นต้น

BDMS ปักหมุด Wellness Destination สยายปีกรับเทรนด์สุขภาพโลกโตแรง

แพทย์หญิงปรมาภรณ์ กล่าวว่า ทิศทางการดำเนินงานของ BDMS มุ่งเน้นไปที่การดูแลสุขภาพแบบองค์รวม ไม่เพียงแต่การรักษาโรค แต่ยังรวมถึงการส่งเสริมสุขภาพที่ดีตั้งแต่ต้นทาง ผ่านการตรวจสุขภาพประจำปี การดูแลสุขภาพส่วนบุคคล และการส่งเสริมวิถีชีวิตที่สุขภาพดี อีกทั้งยังมีการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการให้บริการและตอบสนองความต้องการของผู้ป่วยได้อย่างทันท่วงที

ส่วนแนวโน้มของอุตสาหกรรมสุขภาพ มองว่ารพ.จะมุ่งเน้นการพัฒนาศูนย์ความเป็นเลิศในสาขาต่างๆ เพื่อให้บริการที่เฉพาะเจาะจงและมีคุณภาพสูง เทคโนโลยีดิจิทัลและ AI เหล่านี้จะเข้ามามีบทบาทสำคัญในการปฏิวัติวงการแพทย์

ทั้งในด้านการวินิจฉัย การรักษา และการบริหารจัดการโรงพยาบาล โดยผู้ป่วยสามารถเข้าถึงบริการทางการแพทย์ได้จากทุกที่ทุกเวลา ผ่านอุปกรณ์สวมใส่และแพลตฟอร์มดิจิทัล ในอนาคตโรงพยาบาลจะให้ความสำคัญกับการดำเนินงานที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และการเข้าถึงบริการสุขภาพที่เท่าเทียมกัน

สำหรับแนวทางการดำเนินงานของ BDMS เพื่อความยั่งยืน ได้แก่ 1.SATI เป็นกรอบแนวคิดที่นำมาใช้ในการขับเคลื่อนองค์กรให้เติบโตอย่างยั่งยืน โดยมุ่งเน้นไปที่ระบบที่ยั่งยืน ภาวะผู้นำ การใช้เทคโนโลยี และการเติบโตแบบมีส่วนร่วม

2. Beyond Excellence การมุ่งมั่นที่จะพัฒนาอย่างต่อเนื่อง นำนวัตกรรม มาใช้ และมีส่วนร่วมในการพัฒนาสังคม และ3.Climate Change ให้ความสำคัญกับการรับมือกับปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และมีมาตรการเพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม


หน้า 15 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจฉบับที่ 4,062 วันที่ 16 - 18 มกราคม พ.ศ. 2568