"สี-ปูติน" ลงนามความร่วมมือด้านยุทธศาสตร์จีน-รัสเซียฉบับใหม่

22 มี.ค. 2566 | 05:06 น.
อัปเดตล่าสุด :22 มี.ค. 2566 | 07:03 น.

ผู้นำรัสเซีย-จีน ร่วมลงนามใน “สนธิสัญญาความเป็นพันธมิตรด้านยุทธศาสตร์” ฉบับใหม่เมื่อวันอังคาร (21 มี.ค.) ครอบคลุมความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการลงทุนด้านพลังงาน พร้อมเรียกร้องให้มีการใช้แนวทางทางการทูตต่อสงครามในยูเครน

 

ประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ผู้นำรัสเซีย เป็นเจ้าภาพ การประชุมสุดยอด ร่วมกับ ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ผู้นำจีน ซึ่งเยือนกรุงมอสโกอย่างเป็นทางการเป็นเวลา 3 วัน โดยในการเยือนเป็นวันที่สอง ทั้งสองฝ่ายได้ร่วมลงนามใน “สนธิสัญญาความเป็นพันธมิตรด้านยุทธศาสตร์” ฉบับใหม่ หลังจากที่เมื่อวันจันทร์ (20 มี.ค.) ปธน.ปูติน ได้แสดงความยินดีต่อข้อเสนอแผนสันติภาพของจีนที่จะนำไปสู่การหยุดยิงในยูเครน และส่งสัญญาณไปยังชาติตะวันตกต่อสิ่งที่เรียกว่า "ความสัมพันธ์ไร้ขีดจำกัด" ระหว่างรัสเซียกับจีนด้วย

ปธน.ปูตินยกย่อง "จุดยืนที่เป็นกลางของจีน" ในสงครามครั้งนี้ พร้อมกล่าวถึงการหารือกับประธานาธิบดีสีว่า เป็นไปอย่างเปิดเผยและเป็นมิตร โดยทั้งจีนและรัสเซียมีจุดมุ่งหมายกระชับความสัมพันธ์อย่างไร้ขีดจำกัดตามที่ได้ตกลงกันไว้เมื่อปีที่แล้ว (2565) ก่อนที่รัสเซียจะส่งกำลังทหารบุกยูเครน

ทั้งนี้ เอกสารที่ผู้นำรัสเซียและจีนลงนามร่วมกันนั้นเรียกว่า "ความร่วมมือด้านยุทธศาสตร์" ระหว่างสองประเทศ ซึ่งครอบคลุมถึงการสร้างท่อส่งก๊าซธรรมชาติจากรัสเซียไปยังจีน โดยประธานาธิบดีปูตินกล่าวด้วยว่า พร้อมที่จะช่วยเหลือบริษัทจีนให้เข้ามาลงทุนในรัสเซีย แทนที่บริษัทของชาติตะวันตกที่ถอนธุรกิจออกไปจากรัสเซียหลังการรุกรานยูเครน

เอกสารที่ผู้นำรัสเซียและจีนลงนามร่วมกันนั้นเรียกว่า "ความร่วมมือด้านยุทธศาสตร์"

ส่วนโครงการท่อส่งก๊าซ Power of Siberia 2 ที่ผู้นำทั้งสองได้หารือกันนั้น ทางฝ่ายรัสเซียจะจัดส่งก๊าซธรรมชาติจำนวน 5 หมื่นล้านลูกบาศก์เมตรต่อปีให้แก่จีนผ่านทางมองโกเลีย โดยโครงการนี้ รัสเซียมีแนวคิดการก่อสร้างเมื่อหลายปีก่อน แต่ได้เร่งผลักดันโครงการในขณะนี้ เพื่อให้จีนมาเป็นลูกค้าทดแทนยุโรปซึ่งได้ระงับการซื้อก๊าซจากรัสเซียไปแล้ว

กระทรวงการต่างประเทศจีนมีแถลงการณ์หลังการพบปะของผู้นำทั้งสองว่า รัสเซียและจีนต่างเชื่อว่าควรมีการปฏิบัติตามมติของสหประชาชาติและกฎหมายสากล แต่มิได้ระบุให้รัสเซียถอนกำลังออกจากยูเครนหรือดินแดนที่ได้รับการยอมรับว่าเป็นของยูเครน

ก่อนหน้านี้ จีนเสนอแผนสันติภาพ 12 ข้อ เพื่อลดความขัดแย้งและนำไปสู่การหยุดยิงในยูเครน แต่ชาติตะวันตกได้ปฏิเสธแผนดังกล่าวเพราะเห็นว่าจะเป็นการยอมรับดินแดนของยูเครนที่รัสเซียผนวกเข้าเป็นส่วนหนึ่งของตน รวมทั้งแคว้นไครเมีย และดินแดนที่รัสเซียยึดไว้ระหว่างการรุกรานยูเครนในช่วง 13 เดือนที่ผ่านมา

"เราเชื่อว่าบทบัญญัติหลายอย่างในแผนสันติภาพที่จีนเป็นผู้ผลักดันนั้น สอดคล้องกับสิ่งที่รัสเซียกระทำอยู่ และสามารถใช้เป็นพื้นฐานของข้อตกลงสันติภาพเมื่อชาติตะวันตกและรัฐบาลยูเครนพร้อม อย่างไรก็ตามเรายังไม่เห็นสัญญาณของความพร้อมนั้นในเวลานี้" ปธน.ปูตินกล่าว

ปฏิกริยาของยูเครนและชาติตะวันตก

รัฐบาลกรุงเคียฟกล่าวยินดีต่อท่าทีทางการทูตของปักกิ่ง แต่ยังคงยืนยันว่า “รัสเซียต้องถอนกำลังทหารออกจากยูเครนเสียก่อน”

ขณะเดียวกัน นายแอนโทนี บลิงเคน รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐ กล่าวต่อผู้สื่อข่าวในกรุงวอชิงตันว่า ข้อเสนอใด ๆ ก็ตามที่ยังคงอนุญาตให้มีทหารรัสเซียประจำการในยูเครนต่อไป จะทำให้รัสเซียสามารถกลับมารุกรานยูเครนได้อีกในอนาคต

"การเรียกร้องให้หยุดยิงโดยไม่รวมการถอนทหารรัสเซียออกจากดินแดนของยูเครน จะเป็นการสนับสนุนสัตยาบันของรัสเซียในการครอบครองดินแดนยูเครน" บลิงเคนกล่าว

ปธน.สี ได้กล่าวเชิญปธน.ปูติน เดินทางเยือนจีนปลายปีนี้

ด้านนายจอห์น เคอร์บี โฆษกสภาความมั่นคงแห่งชาติสหรัฐ เรียกร้องให้ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ผู้นำจีน ใช้โอกาสนี้กดดันประธานาธิบดีปูตินโดยตรง เพื่อให้เคารพต่ออธิปไตยและบูรณภาพเหนือดินแดนของยูเครน

เมื่อวันจันทร์ (20 มี.ค.) ปธน.ปูตินซึ่งเรียกปธน.สี ว่า “เพื่อนรัก” กล่าวว่า รัสเซีย "อิจฉาเล็กน้อย" ต่อการเจริญเติบโตอย่างรวดเร็วของจีนในช่วงไม่กี่ทศวรรษที่ผ่านมาและจีนได้กลายเป็นประเทศที่มีเศรษฐกิจขนาดใหญ่อันดับสองของโลก รองจากสหรัฐอเมริกา

สื่อของรัสเซียรายงานว่า ผู้นำทั้งสองได้หารือกันนานเกือบ 4 ชั่วโมงครึ่ง ก่อนที่จะพักรับประทานอาหารค่ำร่วมกัน ซึ่งโฆษกทำเนียบเครมลิน นายดมิทรี เพสคอฟ กล่าวว่า ปูตินได้ "อธิบายอย่างละเอียด" ถึงปฏิบัติการของรัสเซียในยูเครน ให้ประธานาธิบดีสีได้รับทราบ นอกจากนี้ ผู้นำรัสเซียยังได้กล่าวว่า เขาเคารพต่อแผนสันติภาพในยูเครนที่จีนเป็นผู้เสนอ ขณะที่ปธน.สี ได้กล่าวเชิญปธน.ปูติน เดินทางเยือนจีนปลายปีนี้

 

ข้อมูลอ้างอิง