สี จิ้นผิง ถึงมอสโกแล้ว โลกจับตาสัมพันธ์จีน-รัสเซียบทใหม่ในประวัติศาสตร์

20 มี.ค. 2566 | 20:02 น.
อัปเดตล่าสุด :20 มี.ค. 2566 | 20:21 น.
644

ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ผู้นำจีน เดินทางถึงกรุงมอสโกแล้ววันนี้ (20 มี.ค.) เป็นการเดินทางเยือนรัสเซียอย่างเป็นทางการ 3 วันเพื่อกระชับความสัมพันธ์จีนและรัสเซีย พร้อมยกบทบาทจีนเป็นคนกลางเจรจาไกล่เกลี่ยความขัดแย้งในยูเครน

 

สื่อต่างประเทศรายงานว่า ในวันแรก (20 มี.ค.) ที่เดินทางถึงกรุงมอสโก ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ผู้นำจีน มีกำหนดพบปะอย่างไม่เป็นทางการกับ ประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ผู้นำรัสเซีย โดยผู้นำทั้งสองจะร่วมงานเลี้ยงอาหารค่ำ ก่อนที่จะจัดการเจรจาอย่างเป็นทางการในวันอังคาร (21 มี.ค.) ซึ่งจะมีการลงนามใน “ข้อตกลงความร่วมมือทางเศรษฐกิจ” ระหว่างจีนและรัสเซีย ที่จะใช้ไปจนถึงปี พ.ศ. 2573

การเดินทางเยือนรัสเซีย ครั้งนี้ นับเป็นครั้งแรกของปธน.สี นับตั้งแต่รัสเซียใช้ปฏิบัติการพิเศษทางทหารโจมตียูเครนเมื่อวันที่ 24 ก.พ.2565 เป็นต้นมา และเป็นการเดินทางเยือนต่างประเทศเป็นครั้งแรกของเขา นับตั้งแต่ที่ปธน.สีเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีจีนเป็นสมัยที่ 3

เป็นที่คาดหมายว่า ปธน.สีจะนำข้อเสนอสันติภาพ 12 ข้อของจีนในการยุติสงครามรัสเซีย-ยูเครน เข้าหารือกับปธน.ปูตินในการพบปะกันครั้งนี้ด้วย (อ่านเพิ่มเติม: เปิดแผนสันติภาพจีน 12 ข้อ ยุติสู้รบ "รัสเซีย-ยูเครน")

ทั่วโลกต่างฝากความหวังไว้ที่ปธน.สี ซึ่งจะมารับบทบาทผู้ปลดชนวนสงครามยูเครน โดยที่ผ่านมาผู้นำโลกหลายคนไม่ว่าจะเป็นประธานาธิบดีเอมมานูเอล มาครง ผู้นำฝรั่งเศส หรือประธานาธิบดีเรเซป ตอยยิบ เออร์โดกัน ผู้นำตุรกี ต่างก็ได้เคยเจรจากับปธน.ปูติน แต่ก็ยังไม่สามารถทำให้เกิดสันติภาพในยูเครน

ปธน.สี จิ้นผิง เดินทางถึงกรุงมอสโกแล้ววันนี้ (20 มี.ค.2566)

นายสตีเฟน โรช นักเศรษฐศาสตร์ของมอร์แกน สแตนลีย์ กล่าวไว้ก่อนหน้านี้ว่า “ปธน.สีเป็นบุคคลเดียวในโลกที่จะสามารถโน้มน้าวปธน.ปูตินในการยุติสงครามในยูเครน”

"ผมคิดว่ามีบุคคลเดียวในโลกที่จะสามารถมีอิทธิพลต่อปธน.ปูติน นั่นก็คือประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ผู้นำของจีน ซึ่งเขาควรจะฉวยโอกาสนี้ สิ่งดีที่สุดที่จีนสามารถทำได้ในขณะนี้ คือการเป็นคนกลางในการเจรจาไกล่เกลี่ยระหว่างรัสเซียและยูเครน" นายโรชกล่าวขณะให้สัมภาษณ์สำนักข่าว CNBC สื่อใหญ่ของสหรัฐ

อย่างไรก็ดี ชาติตะวันตกยังคงแสดงความคลางแคลงใจต่อบทบาทของจีนในการเป็นคนกลางเจรจาไกล่เกลี่ยวิกฤตการณ์ในยูเครน โดยมองว่า ข้อเสนอสันติภาพของจีนเอื้อประโยชน์ต่อรัสเซีย เช่น เสนอให้ยกเลิกแนวคิดแบบสงครามเย็น และยกเลิกการคว่ำบาตรแต่เพียงฝ่ายเดียว รวมทั้งให้ทุกฝ่ายยุติการสู้รบ ขณะที่รัสเซียยังคงยึดครองดินแดนบางส่วนของยูเครน

นอกจากนี้ จีนไม่เคยประณามการที่รัสเซียส่งกำลังทหารโจมตียูเครน และยังมีข่าวลือว่าจีนเตรียมส่งอาวุธช่วยเหลือรัสเซียในการโจมตียูเครนอีกด้วย

การเดินทางเยือนรัสเซียของปธน.สีในครั้งนี้ จึงเป็นการพิสูจน์ความจริงใจของจีนในการยุติสงครามยูเครน ขณะที่การสู้รบระหว่างรัสเซียและยูเครนนั้น ยืดเยื้อยาวนานมากว่า 1 ปีแล้ว และได้สร้างความเสียหายต่อเศรษฐกิจโลก รวมทั้งส่งผลกระทบต่อประชาชนชาวยูเครนนับล้านๆคน

จีน-รัสเซียประกาศยกระดับการเป็น “หุ้นส่วนไร้ขีดจำกัด” ตั้งแต่ก่อนรัสเซียจะบุกยูเครน

ความพยายามของจีนที่จะยกระดับความสัมพันธ์ทางการทูตกับรัสเซียครั้งนี้ ถือเป็นก้าวสำคัญก้าวหนึ่งของกรุงปักกิ่งที่เพิ่งช่วยทำหน้าที่เป็นคนกลางในการเจรจาข้อตกลงระหว่างซาอุดิอาระเบียและอิหร่านให้สามารถกลับมาฟื้นฟูความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกันได้อีกครั้ง และหลังนำเสนอ “แผนสันติภาพ” ให้ยูเครนพิจารณาเพื่อหาทางออกให้กับสงครามที่เกิดจากการรุกรานของกองทัพมอสโกและดำเนินมากว่า 1 ปีแล้ว ข่าวระบุว่า หลังการเยือนมอสโกครั้งนี้ ปธน.สีจะต่อสายตรงคุยกับปธน.โวโลดิเมียร์ ซาเลนสกี ผู้นำยูเครนด้วย

นายยูริ อูชาคอฟ ที่ปรึกษาด้านนโยบายต่างประเทศของปูติน กล่าวว่า การหารือของสองผู้นำน่าจะนำมาซึ่งหนทางใหม่ ๆ เกี่ยวกับวิธีการสู้รบในยูเครน โดยระบุว่า “ผมมั่นใจว่า ผู้นำของเราและผู้นำจีนจะแลกเปลี่ยนการประเมินสถานการณ์ของกันและกัน” และว่า “เราจะได้เห็นแนวคิดใหม่ ๆ ออกมาหลังจากนั้น”

นักวิเคราะห์กล่าวว่า การเดินทางเยือนรัสเซียครั้งนี้ เป็นการเดินทางเยือนต่างประเทศครั้งแรกของปธน.สี หลังได้รับการรับรองให้ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสมัยที่ 3 ซึ่งเรื่องเช่นนี้ไม่เคยเกิดขึ้นกับผู้นำจีนคนใดมาก่อน และสะท้อนภาพความพยายามของปักกิ่งและมอสโกที่จะเสริมสร้างความสัมพันธ์ระหว่างกัน หลังจากที่ทั้งสองฝ่ายประกาศยกระดับการเป็น “หุ้นส่วนไร้ขีดจำกัด” ตั้งแต่ก่อนรัสเซียจะบุกยูเครนแล้ว และหลังจากนั้นมา จีนก็มีท่าทีเข้าข้างรัสเซียในกรณีสงครามนี้มาตลอด พร้อม ๆ กับการสร้างภาพว่า ตนมีจุดยืนเป็นกลางและเพิ่งเสนอแผนสันติภาพให้คู่กรณีทั้งสอง แต่ก็ยังไม่ได้รับการตอบรับจากฝ่ายใด

กระทรวงการต่างประเทศจีนระบุว่า ความสัมพันธ์ระหว่างจีนและรัสเซีย คือ ขุมกำลังสำคัญของโลก และว่า ขณะที่โลกกำลังก้าวเข้าสู่ช่วงเวลาใหม่แห่งความปั่นป่วนและการเปลี่ยนแปลง ในฐานะสมาชิกถาวรของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติและขุมพลังสำคัญ ความสำคัญและอิทธิพลของความสัมพันธ์ระหว่างจีนและรัสเซียนั้น ได้ขยายขอบเขตออกไปไกลว่าระดับทวิภาคีแล้ว

“อย่าแหย่มังกร ขณะที่คุณยังสู้อยู่กับหมี”

เมื่อเดือนก.พ.ที่ผ่านมา จีนออกมาเรียกร้องให้ยูเครนและรัสเซียประกาศหยุดยิงและร่วมเจรจาสันติภาพ ซึ่งประธานาธิบดีโวโลดิเมียร์ เซเลนสกี ตอบรับคำแนะนำของจีนอย่างระมัดระวังและไม่ได้แสดงท่าทีอะไรเพิ่มเติม

ทั้งนี้ ยูเครนต้องการให้รัสเซียถอนกำลังของตนออกจากพื้นที่ที่กองทัพมอสโกบุกเข้ามายึดครอง และออกจากแคว้นไครเมียที่ฝ่ายเครมลินประกาศผนวกเข้ากับรัสเซียตั้งแต่ปี ค.ศ. 2014 แต่ ปูติน แสดงท่าทีชัดเจนแล้วว่า จะไม่ยอมคืนพื้นที่ใด ๆ ที่รัสเซียยึดครองและผนวกเข้ามา โดยเฉพาะไครเมีย

ยูรี โพอิตา หัวหน้าแผนกเอเชียจาก New Geopolitics Research Network ที่ตั้งอยู่ที่กรุงเคียฟ เตือนยูเครนไม่ให้ติดกับดักจากข้อเสนอสันติภาพของจีนซึ่ง “จะไม่ได้นำไปสู่สันติภาพใด ๆ” แต่ก็เชื่อว่า รัฐบาลยูเครนอาจจะยอมตกลงตามคำแนะนำของจีน เพราะไม่ต้องการจะสร้างศัตรูใหม่ โดยเฉพาะประเทศมหาอำนาจเช่นจีน

โพอิตา กล่าวกับกับสำนักข่าวเอพีว่า “อย่าแหย่มังกร ขณะที่คุณยังสู้อยู่กับหมี”

ขณะเดียวกัน สหรัฐได้แสดงจุดยืนชัดเจนว่า จะคัดค้านความพยายามใด ๆ ของจีน ในการผลักดันให้มีการหยุดยิงในยูเครน ด้วยความกังวลว่า การทำเช่นนั้นจะเป็นการรับรองชัยชนะของรัสเซีย(ในยูเครน)ในทันที

นายจอห์น เคอร์บี ที่ปรึกษาด้านความมั่นคงแห่งชาติประจำทำเนียบขาว บอกกับผู้สื่อข่าวด้วยว่า การหยุดยิงนั้น “จะเป็นการยอมรับการมีชัยชนะของรัสเซียและความพยายามของรัสเซียในการใช้กำลังพิชิตเขตแดนของเพื่อนบ้าน ทั้งยังจะเป็นการเปิดทางให้ทหารรัสเซียเดินหน้ายึดครองอาณาเขตอธิปไตยของยูเครนต่อไปด้วย”

ยิ่งไปกว่านั้น เคอร์บี เตือนว่า การหยุดยิงอาจเป็นโอกาสให้รัสเซียจัดทัพใหม่ “เพื่อว่า พวกเขาจะได้เริ่มทำการโจมตียูเครนอีกครั้ง เมื่อต้องการ”

ในเรื่องนี้ โฆษกของนายกรัฐมนตรี ริชี ซูแน็ก ของอังกฤษ กล่าวให้ความเห็นเช่นกันว่า อังกฤษยินดีความพยายามอันจริงใจใดๆก็ตามของจีนที่มุ่งฟื้นฟูอธิปไตยให้กับยูเครน แต่เขาก็กล่าวเผื่อไว้ด้วยว่า ข้อตกลงสันติภาพใด ๆ ที่ไม่ได้พิจารณาอธิปไตยและสิทธิในการกำหนดอนาคตตนเองของยูเครน ย่อมไม่ใช่ข้อตกลงสันติภาพอย่างแน่นอน