เวิลด์แบงก์หั่นคาดการณ์ศก.โลกปี 66 โตเพียง 1.7% ต่ำสุดในรอบ 30 ปี 

11 ม.ค. 2566 | 18:01 น.
อัปเดตล่าสุด :12 ม.ค. 2566 | 01:28 น.

เวิลด์แบงก์คาดการณ์เศรษฐกิจโลกปี 2566 โดยหั่นประมาณการณ์อัตราขยายตัวลงมาเหลือเพียง 1.7% ซึ่งนับเป็นอัตราการเติบโตที่ "ต่ำสุด"ในรอบเกือบ 30 ปี 


ธนาคารโลก (เวิลด์แบงก์) ปรับลดประมาณการณ์อัตราขยายตัวของ เศรษฐกิจโลกปีนี้ ลงมาจากเดิมที่เคยคาดการณ์ไว้ 3.0% ในเดือน มิ.ย. 2565 เหลือเพียง 1.7% เมื่อวันอังคาร (10 ม.ค.2566) ซึ่งนับเป็นอัตราการเติบโตที่ต่ำสุดในรอบเกือบ 30 ปี หากไม่นับปี 2552 และ 2563 ซึ่งเป็นปีที่โลกเผชิญ ภาวะเศรษฐกิจถดถอย (recession)

 

และในส่วนของ เศรษฐกิจไทย นั้น ธนาคารโลกคาดการณ์ว่า จะขยายตัวในอัตรา 3.6% สำหรับปีนี้ (2566) ลดลง 0.7% จากคาดการณ์เดิมในเดือนมิ.ย. 2565 นอกจากนี้ ยังคาดว่าเศรษฐกิจไทยจะมีการเติบโต 3.7% ในปี 2567 ซึ่งลดลง 0.2% จากคาดการณ์เดิมในเดือนมิ.ย.ที่ผ่านมา


สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า การปรับลดตัวเลขคาดการณ์อัตราเติบโตของเศรษฐกิจโลกโดยเวิลด์แบงก์ครั้งล่าสุดนี้ สะท้อนการขยับเข้าใกล้ภาวะเศรษฐกิจถดถอยสำหรับหลายประเทศทั่วโลก อันเป็นผลกระทบจาก

  • การปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายในหลายประเทศ
  • สงครามรัสเซียและยูเครนที่ยังดำเนินอยู่
  • และฟันเฟืองขับเคลื่อนเศรษฐกิจขนาดใหญ่ของโลกยังทำงานได้ไม่เต็มกำลัง 

ในส่วนของเศรษฐกิจไทยนั้น ธนาคารโลกคาดการณ์ว่าจะขยายตัวในอัตรา 3.6% สำหรับปีนี้
ทั้งนี้ เวิลด์แบงก์คาดการณ์ทิศทางเศรษฐกิจขนาดใหญ่ทั่วโลกว่าอยู่ในภาวะชะลอตัว จึงหั่นตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ของสหรัฐอเมริกาและกลุ่มประเทศที่ใช้สกุลเงินยูโร (ยูโรโซน) ลงมา โดยประเมินว่า จีดีพีสหรัฐและยูโรโซนจะขยายตัวเพียง 0.5% ซึ่งอาจสะท้อนภาพของเศรษฐกิจถดถอยทั่วโลกครั้งใหม่ในระยะเวลาไม่ถึง 3 ปี


ผลกระทบจากการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลงในยูโรโซนและสหรัฐจะบั่นทอนกิจกรรมของกลุ่มประเทศ EMDE โดยเฉพาะประเทศที่เศรษฐกิจเชื่อมโยงกับประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่ เช่น ยุโรปและเอเชียกลาง ลาตินอเมริกาและแคริบเบียน รวมถึงซับซาฮาราแอฟริกา

 

นายเดวิด มัลพาสส์ ประธานธนาคารโลก ออกแถลงการณ์ระบุว่า ภายใต้เงื่อนไขทางเศรษฐกิจอันเปราะบาง และปัจจัยที่ไม่พึงประสงค์ เช่น อัตราเงินเฟ้อที่พุ่งสูงเกินคาด การเพิ่มขึ้นของอัตราดอกเบี้ยนโยบายในการควบคุมภาวะเงินเฟ้อ การกลับมาระบาดของโควิด-19 หรือความตึงเครียดด้านภูมิรัฐศาสตร์ที่ยกระดับขึ้น เหล่านี้อาจผลักให้เศรษฐกิจโลกตกเข้าสู่ภาวะถดถอยได้ทั้งสิ้น

 

นอกจากนี้ แนวโน้มเศรษฐกิจโลกที่ไม่สู้ดีนัก อาจเห็นได้ชัดในกลุ่มประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่และประเทศกำลังพัฒนาที่เรียกว่ากลุ่ม EMDE เวิลด์แบงก์ได้หั่นตัวเลขคาดการณ์เศรษฐกิจกลุ่มนี้ว่า น่าจะโตที่ระดับเพียง 2.7% ในปีนี้ (ไม่นับรวมจีน) และจะโต 3.5% ตลอดระยะเวลา 2 ปีข้างหน้า (2566-2567) ซึ่งเป็นอัตราการเติบโตที่ลดลงเกือบครึ่งหนึ่งในระยะ 20 ปี เนื่องจากประเทศเหล่านี้ประสบปัญหาภาระหนี้สูง ค่าเงินอ่อนค่าหนัก การลงทุนภาคธุรกิจที่ชะลอลง ประกอบกับเงินเฟ้อที่พุ่งสูงขึ้นได้บั่นทอนการบริโภคภาคเอกชน ส่วนอุปสงค์ต่างประเทศที่อ่อนแอก็ถ่วงภาคส่งออกของกลุ่ม EMDE ด้วย


ส่วนเศรษฐกิจจีน เวิลด์แบงก์คาดว่าจะโต 4.3% ในปีนี้(2566) ถือเป็นการปรับลดลงราว 0.9% เมื่อเทียบกับปีก่อน สาเหตุเนื่องจากความรุนแรงของการระบาดรอบใหม่ของโควิด-19


เวิลด์แบงก์ได้เรียกร้อง ให้นานาประเทศช่วยเหลือกลุ่มประเทศรายได้น้อยในการรับมือกับผลกระทบด้านอาหารและพลังงาน การพลัดถิ่นจากสงครามความขัดแย้ง และความเสี่ยงด้านวิกฤตหนี้ ทั้งในรูปแบบเงินให้เปล่าหรือการให้เงินกู้กับกลุ่มประเทศเหล่านี้ ร่วมกับการระดมความช่วยเหลือจากภาคเอกชนในการกระตุ้นการลงทุนด้านต่าง ๆ มากขึ้น