เวิลด์แบงก์เผย “3สัญญาณ” บ่งชี้เศรษฐกิจโลกจ่อถดถอย

15 ต.ค. 2565 | 01:10 น.
อัปเดตล่าสุด :15 ต.ค. 2565 | 13:24 น.
870

ประธานเวิลด์แบงก์เปิดเผย 3 สัญญาณบ่งชี้เศรษฐกิจโลกใกล้เข้าสู่ภาวะถดถอย ไม่ว่าจะเป็นเงินเฟ้อที่ยังคงอยู่ในระดับสูง อัตราดอกเบี้ยที่ยังปรับตัวขึ้นเรื่อยๆ หรือภาระหนี้สินที่เพิ่มขึ้นในประเทศกำลังพัฒนา

นายเดวิด มัลพาส ประธานธนาคารโลก (เวิลด์แบงก์) กล่าวในการแถลงข่าวระหว่าง การประชุมประจำปีของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) และ ธนาคารโลก เมื่อช่วงปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา (13 ต.ค.) ว่า เศรษฐกิจโลก ใกล้เข้าสู่ภาวะถดถอยมากขึ้นทุกที เนื่องจากสถานการณ์เหล่านี้ 

  1. อัตราเงินเฟ้อยังคงอยู่ในระดับสูง
  2. อัตราดอกเบี้ยปรับตัวขึ้น
  3. และภาระหนี้สินที่เพิ่มขึ้นกำลังส่งผลกระทบต่อประเทศกำลังพัฒนา

เดวิด มัลพาส ประธานธนาคารโลก

"เราได้ปรับลดคาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจโลกในปีหน้า (2566) ลงจาก 3% สู่ระดับ 1.9% ซึ่งใกล้เข้าสู่ภาวะถดถอยอย่างมาก" นายมัลพาสกล่าวและว่า

ปัญหาทั้งหมดที่ประชาชนทั่วโลกกำลังเผชิญ ซึ่งได้แก่ ปัญหาเงินเฟ้อ ดอกเบี้ยสูง และการลดลงของกระแสเงินทุนที่ไหลเข้าสู่ประเทศกำลังพัฒนานั้น ได้ส่งผลกระทบอย่างหนักต่อคนยากจน นอกจากนี้ เขายังได้บ่งชี้ถึงภาระหนี้สินที่เพิ่มขึ้นของประเทศกำลังพัฒนา

 

"ภาวะเศรษฐกิจโลกถดถอยนั้นอาจเกิดขึ้นภายใต้สถานการณ์ดังกล่าว"

 

ในรายงานที่เปิดเผยเมื่อกลางเดือนก.ย.ที่ผ่านมานั้น ธนาคารโลกเตือนว่า ขณะที่ธนาคารกลางทั่วโลกพร้อมใจกันปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อแก้ปัญหาเงินเฟ้อ เศรษฐกิจโลกอาจจะเข้าสู่ภาวะถดถอยในปีหน้า (2566) โดยคาดว่า เศรษฐกิจอาจจะมีการขยายตัวเพียง 0.5%

 

นายมัลพาสกล่าวว่า การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ส่งผลกระทบมากที่สุดต่อความพยายามในการลดความยากจนทั่วโลกนับตั้งแต่ปี 2533 โดยโรคระบาดดังกล่าวทำให้ประชากรโลกราว 70 ล้านคนต้องเข้าสู่ภาวะยากจนที่สุดในปี 2563 และหลังจากนั้น สงครามในยูเครน ก็ยิ่งทำให้สถานการณ์ดังกล่าวรุนแรงมากขึ้น

 

ทั้งนี้ รายงานด้านความยากจนและความเจริญรุ่งเรืองร่วมกันนั้นได้บ่งชี้ว่า รายได้เฉลี่ยทั่วโลกลดลง 4% ในปี 2563 ซึ่งเป็นการลดลงครั้งแรกนับตั้งแต่ที่มีการวัดรายได้เฉลี่ยของประชากรในประเทศต่างๆ เริ่มมีขึ้นในปี 2533