เร่งสร้างแพลตฟอร์ม “Medical AI Data” ยกระดับวินิจฉัยโรคคนไทย

01 ก.พ. 2568 | 10:18 น.
อัปเดตล่าสุด :01 ก.พ. 2568 | 10:36 น.

เนคเทค เดินหน้าพัฒนา “Medical AI Data Platform” แพลตฟอร์มกลางผลิต AI วินิจฉัยโรคของคนไทย ตั้งเป้าหมายเพิ่มจำนวนภาพให้ได้ถึง 3 ล้านภาพภายในเฟสแรก พร้อมเปิดให้บุคลากรทางการแพทย์ทั่วประเทศได้เข้าใช้งาน เฟสแรกภายในปี 69

ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) กำลังเข้ามามีบทบาทสำคัญในวงการแพทย์ทั่วโลก โดยเฉพาะการนำมาช่วยวินิจฉัยโรคจากภาพถ่ายทางการแพทย์ ด้วยความสามารถในการประมวลผลและวิเคราะห์ข้อมูลภาพที่รวดเร็วและแม่นยำ ทำให้สามารถช่วยแบ่งเบาภาระงานด้านการคัดกรองโรคเบื้องต้นของบุคลากรทางการแพทย์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

เร่งสร้างแพลตฟอร์ม “Medical AI Data”  ยกระดับวินิจฉัยโรคคนไทย กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดยศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ได้ร่วมมือกับกรมการแพทย์ และคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล จัดตั้ง “Medical AI Consortium” หรือภาคีเครือข่ายปัญญาประดิษฐ์ทางการแพทย์ขึ้น โดยได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนากำลังคนและทุนด้านการพัฒนาสถาบันอุดมศึกษาการวิจัยและการสร้างนวัตกรรม (บพค.) สำหรับการดำเนินงานในช่วงปี 2566-2569

ดร.ศวิต กาสุริยะ รองผู้อำนวยการ ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) เปิดเผยว่า เนคเทค สวทช. ในฐานะผู้ร่วมก่อตั้ง Medical AI Consortium ได้พัฒนา “Medical AI Data Platform” ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มกลางที่รวบรวมเทคโนโลยีสำคัญสำหรับสนับสนุนการดำเนินงานของภาคีเครือข่ายฯ โดยภายในแพลตฟอร์มประกอบด้วยเทคโนโลยีหลัก 3 ส่วน

เร่งสร้างแพลตฟอร์ม “Medical AI Data”  ยกระดับวินิจฉัยโรคคนไทย

ส่วนแรกคือเทคโนโลยี “Open-D” สำหรับจัดเก็บและเผยแพร่ภาพถ่ายทางการแพทย์จากทั่วประเทศ ที่มีฟังก์ชันกำหนดระดับการเผยแพร่ข้อมูลได้ทั้งแบบสาธารณะ (Open Data) และแบบแบ่งปันเฉพาะกลุ่ม (shared data)

ส่วนที่สองคือ “RadiiView” เทคโนโลยีสำหรับกำกับข้อมูล (Annotation) ภาพถ่าย ที่รองรับไฟล์ภาพได้หลากหลายประเภท ทั้งภาพถ่ายทั่วไป ฟิล์มเอกซ์เรย์ และภาพสแกน 3 มิติ เพื่อเตรียมข้อมูลสำหรับนำไปใช้ในการผลิตโมเดล AI และส่วนที่สามคือ “NomadML” เว็บแอปพลิเคชันสำหรับผลิตโมเดล AI แบบไม่ต้องเขียนโค้ด ที่ผู้ใช้งานสามารถนำภาพที่ผ่านการกำกับข้อมูลแล้วมาเทรนโมเดล AI ได้ง่าย โดยสามารถเลือกกำหนดพารามิเตอร์เองหรือให้ระบบกำหนดให้โดยอัตโนมัติ

เร่งสร้างแพลตฟอร์ม “Medical AI Data”  ยกระดับวินิจฉัยโรคคนไทย

ทั้งนี้ ทุกเทคโนโลยีที่นำมาให้บริการใน Medical AI Data Platform ได้ผ่านการออกแบบและพัฒนาต่อยอดร่วมกับบุคลากรทางการแพทย์หรือกลุ่มเป้าหมายหลักที่จะเป็นผู้ใช้งานระบบอย่างใกล้ชิด เพื่อให้การใช้งานง่าย สะดวก และรวดเร็ว รวมทั้งยังออกแบบให้สามารถปรับเสริมเพิ่มฟังก์ชันเพื่อรองรับความต้องการที่อาจมีมากขึ้นในอนาคตได้ โดยรูปแบบการให้บริการจะอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของคณะกรรมการบริหารแพลตฟอร์มข้อมูลเปิดเพื่อการพัฒนาปัญญาประดิษฐ์ทางการแพทย์ ซึ่งมีหน้าที่ควบคุมและดูแลความปลอดภัยของข้อมูล ภายใต้การกำกับของกรมการแพทย์

เร่งสร้างแพลตฟอร์ม “Medical AI Data”  ยกระดับวินิจฉัยโรคคนไทย

ปัจจุบัน Medical AI Data Platform ได้พัฒนาเสร็จสมบูรณ์แล้ว และในปี 2567 ภาคีเครือข่ายฯ ได้รับความร่วมมือในการนำภาพถ่ายทางการแพทย์เข้าสู่ระบบมากกว่า 1 ล้านภาพ โดยตั้งเป้าหมายเพิ่มจำนวนภาพให้ได้ถึง 3 ล้านภาพภายในเฟสแรกของการดำเนินงาน (2566-2569) ขณะที่ในปี 2568 นอกจากจะเป็นช่วงประชาสัมพันธ์เชิญชวนผู้เกี่ยวข้อง เช่น โรงเรียนแพทย์ มหาวิทยาลัย สถานพยาบาล บริษัทซอฟต์แวร์ และผู้พัฒนาจากทั่วประเทศเข้าร่วมภาคีเครือข่ายฯ แล้ว ยังเป็นช่วงที่เริ่มดำเนินงานกำกับข้อมูลภาพถ่ายทางการแพทย์ที่ได้รับการสนับสนุนด้วย

ในช่วงเริ่มต้น ผู้ดำเนินงานหลักด้านการกำกับข้อมูลภาพจะเป็นบุคลากรจากคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ที่มีความเชี่ยวชาญทั้งศาสตร์ทางการแพทย์และการกำกับข้อมูลภาพสำหรับใช้เทรนโมเดล AI เพื่อให้ได้ต้นแบบการกำกับข้อมูลที่ได้มาตรฐาน ก่อนที่กรมการแพทย์จะขยายผลในการจัดสรรบุคลากรมาร่วมดำเนินงานกำกับข้อมูลที่จะมีจำนวนภาพเพิ่มเติมในอนาคต

สำหรับการผลิตโมเดล AI เพื่อคัดกรองโรค สมาชิกภาคีเครือข่ายฯ และบุคคลทั่วไปจากภายนอก จะเริ่มดำเนินงานหลังจากที่มีภาพคุณภาพสูงที่ผ่านการกำกับข้อมูลเรียบร้อยแล้วจำนวนมากเพียงพอ โดยจำนวนภาพขั้นต่ำสำหรับเทรนโมเดล AI เพื่อคัดกรองแต่ละรอยโรคคือ 10,000 ภาพ ซึ่งระดับความแม่นยำจะขึ้นอยู่กับจำนวนภาพถ่ายคุณภาพสูงที่ผ่านการกำกับข้อมูลอย่างถูกต้อง รวมทั้งการมีส่วนร่วมของแพทย์ นักวิจัย นักพัฒนา และผู้ใช้งานที่นำ AI ไปใช้งานจริงในการตรวจสอบความถูกต้องของผลลัพธ์ เพื่อนำข้อมูลที่ได้กลับมาใช้ปรับปรุงโมเดล AI ให้มีความแม่นยำและประสิทธิภาพที่ดียิ่งขึ้น

แม้ในเฟสแรกหรือภายในช่วงไตรมาสแรกของปี 2569 ภาคีเครือข่ายฯ อาจยังขาดความพร้อมที่จะผลิตโมเดล AI คุณภาพสูงเพื่อให้บริการแก่สาธารณะ เนื่องจากยังมีจำนวนภาพถ่ายทางการแพทย์คุณภาพสูงที่ผ่านการกำกับข้อมูลเสร็จเรียบร้อยแล้วไม่มากพอ และการพัฒนาโมเดล AI ให้มีความแม่นยำสูงในระดับที่เหมาะกับการเปิดให้บริการจำเป็นต้องอาศัยเวลาในการวิจัยและพัฒนา อย่างไรก็ตาม ภาคีเครือข่ายฯ มีแผนที่จะนำระบบบริการ AI ที่เนคเทค สวทช. และพันธมิตรพัฒนาจนพร้อมใช้งานแล้วมาเปิดให้บุคลากรทางการแพทย์ทั่วประเทศได้เข้าใช้งานก่อนภายในการทำงานเฟสแรกหรือภายในปี 2569 ผ่านทาง National Medical AI Service Platform

ดร.ศวิต กล่าวทิ้งท้ายว่า แม้การจัดการกับข้อมูลปริมาณมหาศาลที่ไหลเข้าสู่ระบบในช่วงเริ่มต้นจะต้องใช้ทั้งเวลา แรงกาย และแรงใจในการทำงานสูง แต่เมื่อการดำเนินงานแล้วเสร็จไปถึงขั้นตอนที่พร้อมให้บริการ จะเป็นช่วงที่บุคลากรทางการแพทย์จากทั่วประเทศมีเทคโนโลยี AI ของไทยไว้ช่วยแบ่งเบาภาระ เพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน และลดเวลาในการดูแลผู้ป่วย