เปิดเอกสาร กรธ. “มีชัย-สุพจน์” ชี้ 8 ปีนายกฯ นับรวมก่อนปี 60

10 ส.ค. 2565 | 11:45 น.
อัปเดตล่าสุด :10 ส.ค. 2565 | 18:48 น.
2.8 k

เปิดเอกสารคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ชุดของ “มีชัย” ครั้งที่ 500 ปมวาระการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และการนับระยะเวลา 8 ปี ระบุ ต้องนับรวมก่อนปี 60 ด้าน “สุพจน์” ยันเป็นแค่การแสดงความเห็น ไม่ใช่มติของ กรธ. รับสุดท้ายก็ต้องรอศาลรธน.วินิจฉัย

จากกรณีโลกออนไลน์มีการแชร์เอกสารบันทึกการประชุมของคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ชุดของนายมีชัย ฤชุพันธุ์ เมื่อวันศุกร์ที่ 7 กันยายน 2561 เกี่ยวกับประเด็นวาระการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และการนับระยะเวลา 8 ปี

 

สำหรับเนื้อหาของบันทึกรายงานการประชุมดังกล่าว แหล่งข่าวระบุว่า ได้มีการหารือเรื่องการรนับวาระนายกฯ ว่าถ้าดำรงตำแหน่งอยู่ก่อนรัฐธรรมนูญปี 2560 บังคับใช้ ต้องนับรวมด้วยหรือไม่ ปรากฏว่า รองประธาน กรธ. คุณสุพจน์ ไข่มุกด์ และประธาน กรธ. คือ นายมีชัย ฤชุพันธุ์ บอกว่าต้องนับรวม 

เบื้องต้นได้ตรวจสอบกับกรรมการร่างรัฐธรรมนูญท่านหนึ่งที่มีชื่อในผู้เข้าร่วมประชุมแล้วยอมรับว่าเป็นเอกสารจริง มีการประชุมครั้งที่ 500 จริง ส่วนการหารือเรื่องนี้ในปี 2561 หลังรัฐธรรมนูญประกาศใช้ไปแล้ว เพราะเป็นช่วงจัดทำกฎหมายลูก และจัดทำ "เอกสารความมุ่งหมายและคำอธิบายประกอบรายมาตราของรัฐธรรมนูญฯ" หรือที่เรียกว่า "เจตนารมณ์รัฐธรรมนูญ" นั่นเอง 

 

ฉะนั้นจึงไม่ใช่เรื่องพิรุธที่มีการประชุมเรื่องเนื้อหาของรัฐธรรมนูญ หลังรัฐธรรมนูญประกาศใช้ไปแล้ว แต่ในเอกสารความมุ่งหมายฯ หรือที่เรียกว่าเจตนารมณ์นั้น ไม่มีข้อความเหมือนในบันทึกการประชุม เพราะในเอกสารความมุ่งหมายฯ หน้า 275 เขียนถึงเรื่องวาระการดำรงตำแหน่งนายกฯ ตามรัฐธรรมมนูญ มาตรา 158 เอาไว้แค่นี้เอง

นอกจากนี้ ได้กำหนดหลักการใหม่เกี่ยวกับการนับระยะเวลาการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เพื่อให้เกิดความชัดเจนในการนับระยะเวลา กล่าวคือ การนับระยะเวลา 8 ปีนั้น แม้บุคคลดังกล่าวจะมิได้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีติดต่อกันก็ตาม แต่หากรวมระยะเวลาทั้งหมดที่ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของบุคคลดังกล่าวแล้วเกิน 8 ปี ก็ต้องห้ามมิให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี 

 

แต่อย่างไรก็ตาม ได้กำหนดข้อยกเว้นไว้ว่าการนับระยะเวลาการดำรงตำแหน่งของนายกรัฐมนตรีในระหว่างรักษาการภายหลังจากพ้นจากตำแหน่ง จะไม่นับรวมกับระยะเวลาการดำรงตำแหน่งของนายกรัฐมนตรีดังกล่าว การกำหนดระยะเวลา 8 ปีไว้ก็เพื่อมิให้เกิดการผูกขาดอำนาจในทางการเมืองยาวเกินไปอันจะเป็นต้นเหตุเกิดวิกฤติทางการเมืองได้
แหล่งข่าวได้ตั้งข้อสังเกตุในเรื่องนี้ว่า

 

1.บันทึกการประชุมของคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ถือเป็นเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญหรือไม่ 

 

2.การแสดงความเห็นในที่ประชุมของกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ และประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ถือเป็นมติของคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญหรือไม่ 

 

ประเด็นที่น่าสนใจก็คือ หากบันทึกการประชุมคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ มีน้ำหนักในแง่ของการเป็นเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะในมาตรา 158 เพราะผู้แสดงความเห็นก็เป็นประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ เป็นมือกฎหมายชั้นเซียน และอีกคน (คุณสุพจน์) ก็เคยเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญมาก่อน 

 

หากเป็นเช่นนั้นก็จะเท่ากับวาระการดำรงตำแหน่งของนายกฯประยุทธ์ จะครบในวันที่ 23 สิงหาคม นี้ แต่คนที่วินิจฉัยเรื่องนี้ในขั้นตอนสุดท้ายคือศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งฝ่ายค้านจะยื่นคำร้องในวันที่ 17 สิงหาคม 2565 

 

จากการพูดคุยกับกรรมการร่างรัฐธรรมนูญท่านหนึ่ง ได้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า เป็นแค่บันทึกการประชุมที่มีการหยิบยกขึ้นมาพูด แต่ไม่ได้นำมาเป็นประเด็นในการลงมติว่าเป็นความมุ่งหมายฯ หรือเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ ซึ่งเมื่อเทียบกับเอกสารบันทึกการประชุมครั้งที่ 500 ฉบับเดียวกัน ในส่วนของบทสรุปและมติของกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ จะพบว่าในมติ ไม่มีประเด็นตามความเห็นของ อ.มีชัย และ คุณสุพจน์  

 

มีข้อสังเกตเพิ่มเติมจากกรรมการร่างรัฐธรรมนูญท่านนี้ว่า การพิจารณาวินิจฉัยประเด็นข้อกฎหมายของศาลรัฐธรรมนูญ มักจะไม่นำความคิดเห็นที่เสนอหรือถกเถียงกันในที่ประชุมมาใช้ประกอบการพิจารณา และหลาย ๆ ครั้งศาลรัฐธรรมนูญก็ไม่ได้ยึดเอาบันทึกการประชุม เจตนารมณ์ หรือความมุ่งหมายฯ มาใช้ในการพิจารณาเลยด้วยซ้ำ หากเนื้อหาตามสารบัญญัติชัดเจนอยู่แล้ว

 

แต่กรรมการร่างรัฐธรรมนูญท่านนี้ และที่ปรึกษา กรธ.ที่ไม่ได้เข้าประชุม บอกตรงกันว่า เมื่อมีเอกสารนี้เผยแพร่สู่สาธารณะ ทำให้พล.อ.ประยุทธ์ ย่อมเหนื่อยยิ่งขึ้น และศาลรัฐธรรมนูญก็วินิจฉัยยากขึ้น หากจะฟันธงว่า วาระการดำรงตำแหน่งนายกฯของ พล.อ.ประยุทธ์ ยังไม่ครบ 8 ปี 

 

ล่าสุด นายสุพจน์ ไข่มุกด์ อดีตรองประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ เปิดเผยผ่านรายการ เจาะลึกทั่วไทย อินไซด์ไทยแลนด์ ถึงบันทึกรายงานการประชุมที่มีการแสดงความเห็นวาระดำรงตำแหน่งนายกฯ 8 ปี ในครั้งนั้นว่า ข่าวที่ออกเป็นบันทึกประชุมความเห็นของตนเองและนายมีชัย เเต่ไม่มีมติของ กรธ. โดยครั้งนั้นเป็นการแสดงความเห็นในมุมมองของผม โดยอายุ 8 ปี นายกฯ นับแต่ รธน.2560 ประกาศใช้ เเต่สุดท้ายก็ต้องรอศาลรธน.วินิจฉัย 

 

ด้าน ดร.เจษฎ์ โทณวณิก อดีตที่ปรึกษากรรมการร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวว่า การประชุมครั้งที่ 500 ตามที่มีเอกสารเผยแพร่ทางสื่อ ตนไม่ได้เข้าประชุม จึงไม่ทราบรายละเอียด แต่เมื่ออ่านแล้วก็เห็นว่า เป็นการแสดงความคิดเห็นส่วนตัวของทั้ง 2 ท่าน คือ นายสุพจน์ ไข่มุกด์ และ อาจารย์มีชัย ฤชุพันธุ์ โดยความเห็นนี้ไม่ได้ถูกสรุปเป็นมติของ กรธ. และไม่ได้ถูกนำไปบรรจุในเอกสารความมุ่งหมายและคำอธิบายประกอบรายมาตราของรัฐธรรมนูญฯ 

 

ฉะนั้นข้อความที่มีการนำเสนอผ่านสื่อ จึงเป็นความเห็นส่วนตัวของทั้งสองท่าน ไม่ใช่มติของ กรธ. เช่นเดียวกับตนที่มีความเห็นส่วนตัวในเรื่องนี้เช่นกัน แต่ผู้ที่จะชี้ขาดคือศาลรัฐธรรมนูญ หากมีผู้ยื่นคำร้องเข้าไป ศาลก็จะวินิจฉัยและชี้ขาดประเด็นข้อกฎหมายทั้งหมด