“พี่ใหญ่”ส่งสัญญาณ“น้องตู่”รอด! ปมนายกฯ 8 ปี

10 ส.ค. 2565 | 09:09 น.
1.1 k

“พี่ใหญ่”ส่งสัญญาณ“น้องตู่”รอดปม“นายกฯ 8 ปี” หลังออกมาระบุ “นายกฯ จะอยู่ต่ออีก 2 ปี” ขณะที่พรรคร่วมฝ่ายค้านมีมติใช้ช่องทาง“รัฐสภา” ส่งศาลรัฐธรรมนูญตีความ 17 ส.ค.นี้

ท่างกลาง “มรสุมลูกสุดท้าย” ปมปัญหาการดำรงตำแหน่ง “นายกฯ 8 ปี” ของ พล.อ.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่ขณะนี้ นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ได้ยื่นคำร้องต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) และผู้ตรวจการแผ่นดิน ขอให้เสนอเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัยเกี่ยวกรณีดำรงตำแหน่งครบ 8 ปี ในคืนวันที่ 23 ส.ค.2565 นี้

 

ขณะเดียวกัน พรรคร่วมฝ่ายค้านก็มีมติร่วมกันที่จะใช้ช่องทางของ “รัฐสภา” เพื่อขอให้ส่งศาลรัฐธรรมนูญตีความการดำรงตำแหน่งนายกฯ  8 ปีของ พล.อ.ประยุทธ์ โดยจะยื่นต่อประธานรัฐสภา ในวันพุธที่ 17 ส.ค.2565 นี้ 

ปรากฏว่า เมื่อวันที่ 9 ส.ค.2565 ที่ผ่านมา พี่ใหญ่ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ก็ได้ออกมาระบุถึงการดำรงตำแหน่งนายกฯ 8 ปี ของ น้องตู่ พล.อ.ประยุทธ์ ที่จะครบในวันที่ 23 ส.ค.2565 นี้ ทำนองว่า พล.อ.ประยุทธ์ จะอยู่ต่ออีก 2 ปี  
 

ที่มาของประเด็นดังกล่าวเริ่มจากการที่ พล.อ.ประวิตร ได้ตอบคำถามของผู้สื่อข่าวที่ตั้งข้อสังเกตว่า พรรคพลังประชารัฐ(พปชร.) จะชู พล.อ.ประวิตร เป็นนายกฯ ว่า ไม่ใช่ ทุกอย่างอยู่ที่ พล.อ.ประยุทธ์ นายกฯ ไม่ครบ 8 ปีก็ไปต่อไป เมื่อครบแล้วก็ว่ากันว่าจะเอาใคร ไม่ใช่ตน

เมื่อถามว่า พล.อ.ประวิตร พร้อมเป็นนายกฯ หรือไม่ พล.อ.ประวิตร รีบปฏิเสธว่า “ผมจะไปพร้อมได้อย่างไร ผมยังไม่ได้คิดเลย นายกฯ ยังอยู่ต่ออีก 2 ปี” ผู้สื่อข่าวซักว่าหมายถึงสมัยหน้าใช่หรือไม่ รองนายกรัฐมนตรี ตอบว่า "อ้า ก็ว่าไป"


เมื่อถามว่าหาก พล.อ.ประยุทธ์ ไม่สะดุดประเด็น 8 ปี เลือกตั้งสมัยหน้า พปชร.จะเสนอเป็นแคนดิเดตนายกฯ หรือไม่ พล.อ.ประวิตร ตอบว่า “ก็ต้องเสนอ” ส่วนจะเสนอหัวหน้าพรรคพปชร.ด้วยหรือไม่ พล.อ.ประวิตร กล่าวว่า ก็แล้วแต่สมาชิกเขาประชุมกัน เขาว่าอย่างไรก็ว่ากัน ไม่ใช่ตนคนเดียวเพราะพรรคคือพรรคไม่ใช่ตน ตนไม่ได้ตั้งพรรคนี้ขึ้นมา ทุกคนร่วมกันตั้งทุกคน


… การที่ พล.อ.ประวิตร ออกมาระบุว่า พล.อ.ประยุทธ์ จะอยู่ต่ออีก 2 ปี ทำให้วิเคราะห์ไปได้เหมือนกันว่า หากเรื่องการตีความปม “นายกฯ 8 ปี” ส่งไปถึง “ศาลรัฐธรรมนูญ” เมื่อไหร่ และมีคำวินิจฉัยออกมา อาจจะทำให้ “น้องตู่” รอด สามารถดำรงตำแหน่งนายกฯ ต่อไปได้อีกอย่างนั้นหรือไม่???  


“บิ๊กตู่”ส่ายหัวไม่มีคำตอบ


ด้านปฏิกิริยา ของ พล.อ.ประยุทธ์ ได้ตอบคำถามเพียงสั้นๆ หลังการประชุม ครม.เมื่อวันอังคารที่ 9 ส.ค.ที่ผ่านมา ถีงกรณี พล.อ.ประวิตร ระบุ นายกฯ จะอยู่ต่ออีก 2 ปี โดย พล.อ.ประยุทธ์ ส่ายหัวและกล่าวว่า  “ไม่มีคำตอบ” ก่อนเดินขึ้นตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาลไปทันที

                                   “พี่ใหญ่”ส่งสัญญาณ“น้องตู่”รอด! ปมนายกฯ 8 ปี

ขณะที่ นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงการยื่นตีความการดำรงตำแหน่งนายกฯ  8 ปี ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่มีการยื่นทั้งช่องทางผู้ตรวจการแผ่นดิน และ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ว่า ผู้ตรวจการแผ่นดินไม่ถือเป็นช่องทาง เพราะสุดท้ายต้องยื่นต่อไปที่ กกต.


โดยช่องทางมีอยู่ 2 แบบเท่านั้น คือ ส.ส.เข้าชื่อกัน 1 ใน 10 หรือ ส.ว.เข้าชื่อกัน 1 ใน 10 ตามมาตรา 82 กับอีกช่องทางคือ กกต. ยื่นตามมาตรา 170 แต่ถ้ายื่นต่อ กกต.จะมีน้ำหนัก เพราะต้องมีการกลั่นกรองคล้ายกับการไต่สวนมูลฟ้อง


ดังนั้น ถ้าผ่าน กกต.ถือว่ามีน้ำหนักผ่านไปหนึ่งชั้น แต่จะยื่นผู้ตรวจการแผ่นดินก็ได้ ซึ่งก็ต้องยื่นกกต.อีกอยู่ดี เพราะผู้ตรวจฯ ยื่นศาลรัฐธรรมนูญเองไม่ได้ และขอให้รีบทำ เพราะศาลรัฐธรรมนูญจะได้รีบวินิจฉัยเหมือนที่ นายจรัญ ภักดีธนากุลอดีตตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ เคยบอกไว้ให้ทำให้ชัดเจน


“ปัญหาเรื่องข้อกฎหมายเป็นเรื่องที่ศาลรู้ได้เอง ชาวบ้านอาจไม่เข้าใจ แต่ไม่ต้องสืบพยาน ซึ่งอาจให้ผู้เกี่ยวข้องเป็นผู้ชี้แจง ไม่ต้องเรียกพยานมาเหมือนกับคดีฆ่ากัน เพราะอันนี้เป็นการตีความกฎหมาย และดูเจตนารมณ์”



เปิดคำร้องตีความนายกฯ  8 ปี

 

นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ยื่นคำร้องต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) และผู้ตรวจการแผ่นดิน เมื่อวันที่ 5 ส.ค.2565 ขอให้เสนอเรื่องพร้อมความเห็นต่อศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยเกี่ยวกับสถานะนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่จะดำรงตำแหน่งครบ 8 ปี ในคืนวันที่ 23 ส.ค.2565 นี้


หากนับตั้งแต่การเป็นนายกรัฐมนตรีครั้งแรกเมื่อวันที่ 24 ส.ค.2557 ว่าเข้าข่ายขัดรัฐธรรมนูญ มาตรา 158 วรรคสี่ ที่บัญญัติว่า นายกรัฐมนตรีจะดำรงตำแหน่งรวมกันแล้วเกิน 8 ปีมิได้ ทั้งนี้ไม่ว่าจะดำรงตำแหน่งติดต่อกันหรือไม่ แต่ไม่ให้นับรวมระยะเวลาในระหว่างที่อยู่ปฏิบัติหน้าที่ต่อไปหรือไม่


พล.อ.ประยุทธ์ ได้รับการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี 2 ครั้ง ครั้งที่ 1 วันที่ 24 ส.ค.2557 ตามรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว 2557 ครั้งที่ 2 วันที่ 9 มิ.ย.2562 ตามรัฐธรรมนูญ 2560 ทำให้ขณะนี้มีข้อถกเถียงในสังคมต่อเรื่องดังกล่าวเป็น 3 ทาง คือ


แนวทางที่ 1 เห็นว่า พล.อ.ประยุทธ์ จะดำรงตำแหน่งได้ถึงแค่คืนวันที่ 23 ส.ค.นี้ เพราะไม่มีบทยกเว้นตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 158 โดยมองว่าถ้ารัฐธรรมนูญมีเจตนาที่จะไม่ให้ใช้บทบัญญัติว่าด้วยคุณสมบัติ และลักษณะต้องห้ามของคณะรัฐมนตรีในข้อใดมาบังคับใช้กับคณะรัฐมนตรีที่ดำรงตำแหน่งมาก่อนวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญ 2560 ต้องเขียนระบุชัดเจนไว้ในบทเฉพาะกาล 

                                   “พี่ใหญ่”ส่งสัญญาณ“น้องตู่”รอด! ปมนายกฯ 8 ปี
แต่ในบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญ 2560 ไม่ได้บัญญัติให้มีการยกเว้นการนำมาตรา 158 วรรคสี่ มาใช้บังคับกับนายกรัฐมนตรีที่ดำรงตำแหน่งอยู่ก่อนหน้ารัฐธรรมนูญประกาศใช้ ระยะ 8 ปี ของ พล.อ.ประยุทธ์ จึงต้องเริ่มนับตั้งแต่วันที่ได้โปรดเกล้าฯ เป็นนายกรัฐมนตรี ครั้งที่ 1 คือ 24 ส.ค.2557 และดำรงตำแหน่งได้ถึงคืนวันที่ 23 ส.ค.2565 เท่านั้น


แนวทางที่ 2 มองว่าตามหลักกฎหมายทั่วไปและหลักนิติธรรมจะบังคับใช้กฎหมายที่เป็นโทษกับบุคคลย้อนหลังไม่ได้ ถ้าจะบังคับใช้ต้องมีการบัญญัติไว้อย่างชัดเจน ซึ่งกรณีนี้รัฐธรรมนูญ 2560 ใช้บังคับเมื่อวันที่ 6 เม.ย.2560 และ พล.อ.ประยุทธ์ ได้รับการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 9 มิ.ย. 2562


หากนับเวลาการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีได้ 8 ปี นับแต่ได้รับการโปรดเกล้าฯ พล.อ.ประยุทธ์ จะสามารถดำรงตำแหน่งถึงปี 2570 โดยจะเกินวันที่ 24 ส.ค.2570  เพราะจะต้องมีการเลือกตั้งทั่วไปใหม่อย่างน้อย 1 ครั้ง คืออย่างช้าที่สุดต้นปี 2566 เนื่องจากสภาผู้แทนราษฎรครบวาระ 4 ปี จึงจะมีช่วงดำรงตำแหน่งในฐานะนายกรัฐมนตรีที่อยู่ปฏิบัติหน้าต่อไปหลังพ้นตำแหน่ง ตามมาตรา 158 วรรคสี่ตอนท้าย ไม่ได้ให้นับรวมเข้าไว้เป็นข้อจำกัด 8 ปี


ส่วนแนวทางที่ 3 มองว่า การนับระยะเวลาการดำรงตำแหน่ง 8 ปี ของ พล.อ.ประยุทธ์ ให้เริ่มนับแต่วันที่ 6 เม.ย.2560 ที่รัฐธรรมนูญประกาศใช้ ซึ่งถ้าเริ่มนับระยะเวลาตามนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีครบ 8 ปี ในปี 2568 


กรณีดังกล่าวสังคมไทยวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างมากว่าสุดท้ายแล้ว พล.อ.ประยุทธ์ จะดำรงตำแหน่งได้ถึงเมื่อใด ทางสมาคมฯ เห็นควรหาข้อยุติ และเห็นช่องทางว่า กกต. และ ผู้ตรวจการแผ่นดิน สามารถจะคลี่คลายปัญหาความขัดแย้งได้โดยการยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย และเพื่อไม่ให้เกิดปัญหากับการบริหารราชการแผ่นดิน ขอให้ในการยื่นเรื่องมีคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญสั่งให้ พล.อ.ประยุทธ์ ยุติปฏิบัติหน้าที่จนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัย