จบแล้ว! นายกฯ 8 ปี นับย้อนตั้งแต่ดำรงตำแหน่ง

10 ส.ค. 2565 | 11:11 น.
อัปเดตล่าสุด :10 ส.ค. 2565 | 22:30 น.
19.7 k

จบแล้ว! นายกฯ 8 ปี นับย้อนตั้งแต่ดำรงตำแหน่ง : สามารถนับระยะเวลาดังกล่าวรวมกับระยะเวลาที่ดำรงตำแหน่งนายกฯ ตามรัฐธรรมนูญ 2560 ได้ ซึ่งเมื่อนับรวมระยะเวลาที่ดำรงตำแหน่งนายกฯ ต้องมีระยะเวลาไม่เกิน 8 ปี ... รายงานพิเศษฐานเศรษฐกิจออนไลน์ โดย...บากบั่น บุญเลิศ

ในที่สุดปมปัญหาว่าด้วยอายุการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี คนปัจจุบัน ก็มีข้อยุติ หากยึดตามเจตนารมย์ของกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ เมื่อมีบันทึกการประชุมคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ครั้งที่ 500 เมื่อวันศุกร์ ที่ 7 กันยายน 2561 ณ ห้องประชุมคณะกรรมาธิการ หมายเลข 220 อาคารรัฐสภา 2 ซึ่งมีผู้เข้าร่วมประชุมทั้งสิ้น 19 คน โผล่ออกมา....


คณะกรรมการยกร่างรัฐธรรมนูญที่ประชุมกันวันนั้น มี นายมีชัย ฤชุพันธุ์ เป็นประธาน นายสุพจน์ ไข่มุกด์ เป็นรองประธานกรรมการ คนที่ 1 นายอภิชาต สุขัคคานนท์ เป็นรองประธานกรรมการ คนที่ 2 นายนรชิต สิงหเสนี เป็นโฆษกกรรมการ นางจุรี วิจิตรวาทการ นายชาติชาย ณ เชียงใหม่ นายภัทระ คำพิทักษ์ นายประพันธ์ นัยโกวิท ฯลฯ เป็นกรรมการ 

ความว่า....ประธานคณะกรรมการ กล่าวว่า เมื่อพิจารณาบทเฉพาะกาลในมาตรา 264 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “ให้คณะรัฐมนตรีที่บริหารราชการแผ่นดินอยู่ในวันก่อนวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้ เป็นคณะรัฐมนตรีตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้ จนกว่าคณะรัฐมนตรีที่ตั้งขึ้นใหม่ภายหลังการเลือกตั้งทั่วไปครั้งแรกตามรัฐธรรมนูญนี้จะเข้ารับหน้าที่ และให้นำความในมาตรา 263 วรรคสาม มาใช้บังคับแก่การดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีด้วยโดยอนุโลม”

                               จบแล้ว! นายกฯ 8 ปี นับย้อนตั้งแต่ดำรงตำแหน่ง

การบัญญัติในลักษณะดังกล่าว แสดงให้เห็นว่า แม้จะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอยู่ก่อนที่รัฐธรรมนูญฉบับนี้ใช้บังคับ ก็สามารถนับระยะเวลาดังกล่าวรวมกับระยะเวลาที่ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญ 2560 ได้ ซึ่งเมื่อนับรวมระยะเวลาที่ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีต้องมีระยะเวลาไม่เกิน 8 ปี”

แม้บันทึกการประชุมนี้ เป็นความเห็นของประธานกรรมการ คือ นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรรมการยกร่างรัฐธรรมนูญ ไม่ใช่มติ แต่นี่คือ เจตนารมณ์ของคณะผู้ยกร่างรัฐธรรมนูญ 
ดังนั้น เวลาที่ศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัยข้อขัดแย้งทางรัฐธรรูญก็ต้องดูที่เจตนารมณ์ของผู้ร่างรัฐธรรมนูญเป็นหลัก


ทั้งนี้ รัฐธรรมนูญ มาตรา 264 ระบุว่า...


ให้คณะรัฐมนตรีที่บริหารราชการแผ่นดินอยู่ในวันก่อนวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้เป็นคณะรัฐมนตรีตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้ จนกว่าคณะรัฐมนตรีที่ตั้งขึ้นใหม่ภายหลังการเลือกตั้งทั่วไปครั้งแรกตามรัฐธรรมนูญนี้จะเข้ารับหน้าที่ และให้นำความในมาตรา 263 วรรคสาม มาใช้บังคับแก่การดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีด้วยโดยอนุโลม

                                     
รัฐมนตรีตามวรรคหนึ่งนอกจากต้องมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 แล้ว ต้องไม่มีลักษณะต้องห้ามตามที่บัญญัติไว้สำหรับรัฐมนตรีตามมาตรา 160 ยกเว้น (6) เฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับมาตรา 98 (12) (13) (14) และ (15) และต้องพ้นจากตำแหน่งตามมาตรา 170 ยกเว้น (3) และ (4) แต่ในกรณีตาม (4) เฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับมาตรา 98 (12) (13) (14) และ (15) และยกเว้นมาตรา 170 (5) เฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับการดำเนินการตามมาตรา 184 (1)

                                จบแล้ว! นายกฯ 8 ปี นับย้อนตั้งแต่ดำรงตำแหน่ง
การดำเนินการแต่งตั้งรัฐมนตรีในระหว่างเวลาตามวรรคหนึ่ง ให้ดำเนินการตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 1) พุทธศักราช 2558 และรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พุทธศักราช 2559 แต่ต้องไม่มีลักษณะต้องห้ามตามวรรคสองด้วย


ให้นำความในมาตรา 263 วรรคเจ็ด มาใช้บังคับแก่การสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของรัฐมนตรี ตามวรรคหนึ่งและวรรคสามด้วยโดยอนุโลม


ดังนั้น ไม่ว่าใครจะตีความการดำรงตำแหน่งนายกรัฐนตรี 8 ปี เป็นอย่างไรจะไปจบอยู่ที่ศาลรัฐธรรมนูญ จะวินิจฉัย


และศาลรัฐธรรมนูญจะสร้างบรรทัดฐานอย่างไรในการวินิจฉัย ก็จะเป็นบรรทัดฐานของประเทศไทย เช่นเดียวกัน 


23 สิงหาคม 2565 จะเป็นวันคิกออฟชี้ชะตาการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา


ว่าแต่ว่า จะเกิดอะไรขึ้นก่อนหน้านั้นก็ค่อยว่ากัน 


เพราะโดยวิสัยของนักรบ...ชายชาติทหาร ส่วนใหญ่แล้ว จะไม่ยอมตายคาสนามรบ แน่นอน!