กลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยตัวเลขประมาณการการผลิตรถยนต์และรถจักรยานยนต์ ในปี 2568 โดยระบุว่าปีนี้ได้ตั้งเป้าผลิตรถยนต์ 1,500,000 คัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.11 ส่วนรถจักรยานยนต์ได้ตั้งเป้าผลิต 2,100,000 คัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 11.28
เป้าหมายการผลิตรถยนต์-รถจักรยานยนต์ ปี 2568
ยอดผลิตรถยนต์ปี 2568 จำนวน 1,500,000 คัน แบ่งเป็น
- ขายในประเทศ จำนวน 500,000 คัน
- ส่งออกตลาดต่างประเทศ จำนวน 1,000,000 คัน
ยอดผลิตรถจักรยานยนต์ จำนวน 2,100,000 คัน แบ่งเป็น
- ขายในประเทศ จำนวน 1,700,000 คัน
- ส่งออกตลาดประเทศ จำนวน 400,000 คัน
นายสุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์ ที่ปรึกษาประธานกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์และโฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ในปีที่ผ่านมาจำนวนรถยนต์ที่ผลิตตั้งแต่เดือนมกราคม - ธันวาคม 2567 มีจำนวนทั้งสิ้น 1,468,997 คัน ลดลงจากปี 2566 ร้อยละ 19.95 โดยแบ่งออกเป็น ผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศ 459,856 คัน ลดลงจากปี 2566 ร้อยละ 33.09 ส่วนการผลิตเพื่อส่งออกทำได้ 1,009,141 คัน ลดลงจากปี 2566 ร้อยละ 12.07
ด้านยอดขายรถในประเทศปี 2567 ตั้งแต่เดือนมกราคม - ธันวาคม 2567 รถยนต์มียอดขาย 572,675 คัน ลดลงจากปี 2566 ในระยะเวลาเดียวกันร้อยละ 26.18 โดยปัจจัยที่มีผลทำให้ยอดขายลดมาจากความเข้มงวดในการอนุมัติสินเชื่อของสถาบันการเงินจากหนี้ครัวเรือนสูง หนี้เสียรถยนต์ยังเพิ่มขึ้นจากเศรษฐกิจขยายตัวในอัตราต่ำ ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมยังคงลดลงโดย ทำให้แรงงานมีอำนาจซื้อลดลง
อย่างไรก็ตามในปี 2568 ส.อ.ท.ได้ตั้งเป้าหมายการผลิตรถยนต์ที่จำนวน 1.5 ล้านคัน โดยมีปัจจัยบวกและปัจจัยลบดังต่อไปนี้
ส่องปัจจัยบวก-ปัจจัยเสี่ยงที่มีผลกระทบกับยอดผลิต ยอดส่งออกและยอดขายรถยนต์ของไทยในปี 2568
ปัจจัยบวกหนุนการผลิตเพื่อส่งออกรถยนต์ไทยปี 68
- ปัจจัยบวกระยะสั้นจากการขึ้นภาษีนำเข้าของประเทศสหรัฐอเมริกาไม่สูงมากนักอาจจะไม่กระทบมูลค่าการค้าโลกมากดังที่กังวลกันซึ่งต้องติดตามอย่างใกล้ชิด
- อัตราดอกเบี้ยอาจลดลงและราคาน้ำมันอาจลดลงทำให้อำนาจซื้อของประเทศคู่ค้าสูงขึ้นส่งผลให้การส่งออกดีขึ้น ต้องติดตามว่าลดลงมากน้อยแค่ไหน
- ติดตามสงครามในภูมิภาคต่างๆ ว่ายุติได้หรือไม่ซึ่งจะส่งผลต่อการตัดสินใจใช้เงินของประชาชนในประเทศต่าง ๆ
ปัจจัยลบกระทบการส่งออกรถยนต์ไทยปี 68
- ความชัดเจนในมาตรการด้านการค้าและอื่น ๆ ของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ว่าจะขึ้นภาษีากรนำเข้าอีกมากน้อยแค่ไหน
- คู่แข่งในประเทศคู่ค้ามีมากขึ้น
- ประเทศคู่ค้ามีการผลิตรถกระบะซึ่งอาจลดคำสั่งซื้อและอาจส่งออกแทนประเทศไทยจากการผลิตรถกระบะลดลง
- ความขัดแย้งและการสู้รบในภูมิภาคต่าง ๆ อาจขยายเพิ่มขึ้นทั้งภูมิภาคเดิมและภูมิภาคใหม่
- มาตรการเข้มงวดการปล่อยคาร์บอนของรถยนต์ของประเทศคู่ค้าที่ทำให้รถยนต์บางรุ่นนำเข้าไม่ได้
ปัจจัยบวก หนุนยอดขายรถในประเทศปี 68
- การผลิตรถยนต์ไฟฟ้าชดเชยการนำเข้ารถยนต์ไฟฟ้าโครงการ EV 3.0 ในอัตรา 1.5 เท่า
- เศรษฐกิจในประเทศขยายตัว 2.4-2.9%
- คาดนักท่องเที่ยวต่างชาติเพิ่มขึ้นจากปี 2567
- ส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรรวมทั้งสินค้าอุตสาหกรรมบางกลุ่มขยายตัวเพิ่มขึ้น
- การแจกเงินของรัฐบาลให้กลุ่มต่าง ๆ
- การกระตุ้นเศรษฐกิจ e-Receipt
- การลงทุนของภาครัฐ
- ปี 2567 มีผู้ขอรับส่งเสริมการลงทุนในประเทศสูงถึง 1.12 ล้านล้านบาทสูงที่สุดในรอบสิบปี เพิ่มขึ้นร้อยละ 35 จากปี 2566 โดยยานยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์ 102,366 ล้านบาท
- จะมีการลดดอกเบี้ยในประเทศซึ่งจะทำให้ต้นทุนและภาระการชำระหนี้ลดลงช่วยเพิ่มอำนาจซื้อในประเทศ
- ราคาน้ำมันอาจลดลงจากการเรียกร้องของประธานาธิบดีสหรัฐซึ่งจะทำให้ภาระค่าใช้จ่ายและต้นทุนการดำเนินงานลดลง อำนาจซื้อของประชาชนมากขึ้น
ปัจจัยลบ กระทบยอดขายรถในประเทศปี 68
- ความเข้มงวดการอนุมัติสินเชื่อของสถาบันการเงิน เพราะมาตรการการปล่อยสินเชื่อแบบรับผิดชอบจากหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง
- ติดตามดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมจะยังคงลดลงหรือไม่เพราะมีสัดส่วนถึงร้อยละ 30 ของเศรษฐกิจในประเทศและมีแรงงานถึงร้อยละ 16 ของแรงงานทั้งหมดในประเทศไทยซึ่งเกี่ยวข้องกับอำนาจซื้อในประเทศ
- สงครามการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกากับจีนอาจจะไม่รุนแรงซึ่งจะทำให้การย้ายฐานการผลิตออกจากประเทศจีนมายังประเทศไทยชะลอตัวลงได้เพราะประเทศไทยได้เปรียบดุลการค้ากับสหรัฐอเมริกาซึ่งจะส่งผลกระทบการจ้างงานในประเทศไทย
- หนี้สาธารณะอยู่ในระดับสูงอาจจะส่งผลต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล
- ค่าครองชีพยังทรงตัวในระดับสูงซึ่งจะส่งผลต่ออำนาจซื้อของประชาชน