หนี้เสียรถยนต์พุ่ง-ศก.ในประเทศอ่อนแอ ฉุดยอดขายรถ 11 เดือนร่วง 26.69 %

24 ธ.ค. 2567 | 14:57 น.
อัปเดตล่าสุด :24 ธ.ค. 2567 | 15:23 น.

โค้งสุดท้ายยานยนต์ไทยปี 67 ยอดผลิต -ยอดขาย -ส่งออกร่วงต่อเนื่อง เฉพาะขายรถในประเทศ 11 เดือนลดลง 26.69 % เหตุจากศก.ในประเทศอ่อนแอ หนี้เสียรถพุ่ง แบงค์คุมเข้มการปล่อยสินเชื่อ

อุตสาหกรรมยานยนต์ไทยปี 2567 ใกล้ได้บทสรุปแล้ว เฉพาะ 11 เดือนของปีนี้ (มกราคม -พฤศจิกายน) สถานการณ์ยอดผลิต ยอดขายรถ ยอดส่งออกยังคงร่วงต่อเนื่อง อันเป็นผลมาจากปัจจัยเสี่ยงรุมเร้าทั้งในและต่างประเทศ โดยเฉพาะภาพรวมเศรษฐกิจอ่อนแอ และสงครามตะวันออกกลาง ทั้งนี้ยอดผลิตรถยนต์ทั้งหมดจะทำได้กี่คัน ขายได้กี่คัน ส่งออกกี่คัน "ฐานเศรษฐกิจ"มัดรวมข้อมูลจาก กลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.)มานำเสนอดังต่อไปนี้

 

ผลิตรถม.ค.-พ.ย.67 ลดลง 20.14 %

กลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ ส.อ.ท.รายงานตัวเลขยอดผลิตรถยนต์ เดือนมกราคม - พฤศจิกายน 2567 มีจำนวนทั้งสิ้น 1,364,119 คัน ลดลงจากเดือนมกราคม - พฤศจิกายน 2566 ร้อยละ 20.14 ขณะที่เดือนพฤศจิกายน 2567 รถยนต์ผลิตได้ทั้งสิ้น 117,251 คัน ลดลงจากเดือนพฤศจิกายน 2566 ร้อยละ 28.23 จากการผลิตส่งออกลดลงร้อยละ 20.67 และผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศลดลงร้อยละ 40.42 และลดลงจากเดือนตุลาคม 2567 ร้อยละ 1.34

 

ขายรถ 11 เดือนปี 67 ร่วง 26.69 %

นายสุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์ ที่ปรึกษาประธานกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์และโฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ ส.อ.ท. เปิดเผยว่า ตั้งแต่เดือนมกราคม - พฤศจิกายน 2567 รถยนต์มียอดขาย 518,659 คัน ลดลงจากปี 2566 ในระยะเวลาเดียวกันร้อยละ 26.69 ขณะที่ยอดขายรถยนต์ภายในประเทศของเดือนพฤศจิกายน 2567 มีจำนวนทั้งสิ้น 42,309 คัน เพิ่มขึ้นจากเดือนตุลาคม 2567 ร้อยละ 12.25 แต่ลดลงจากเดือนพฤศจิกายน 2566 ร้อยละ 31.34

นายสุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์ โฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ ส.อ.ท.

 

ยอดขายที่ลดลงเป็นผลจากการเข้มงวดการอนุมัติสินเชื่อของสถาบันการเงินเพราะเศรษฐกิจในประเทศที่อ่อนแอเติบโตในอัตราต่ำที่ 3% ในไตรมาสสามของปีนี้ แต่หนี้เสียรถยนต์เพิ่มขึ้น 22.8% จากไตรมาสสามปีที่แล้ว หนี้ครัวเรือนสูงถึง 89.6% ของ GDP ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมยังคงลดลง ยอดขายบ้านลดลงจากปีที่แล้ว รวมทั้งการลงทุนภาคเอกชนยังอยู่ในอัตราต่ำ
 

สงครามอิสราเอล-ฮามาส ขยาววงกว้างกระทบส่งออก

เดือนมกราคม – พฤศจิกายน 2567 ไทยส่งออกรถยนต์สำเร็จรูป 942,867 คัน ลดลงจากช่วงระยะเวลาเดียวกันร้อยละ 8.21 ขณะที่เดือนพฤศจิกายน 2567 ไทยส่งออกรถยนต์สำเร็จรูปได้ 89,646 คัน เพิ่มขึ้นจากเดือนที่แล้วร้อยละ 6.30 แต่ลดลงจากเดือนพฤศจิกายน 2566 ร้อยละ 10 เพราะปีที่แล้วฐานสูงและสงครามอิสราเอลกับฮามาสขยายไปหลายพื้นที่ทำให้จำนวนเที่ยวเรือมารับรถน้อยลงรวมทั้งหลายประเทศในเอเชียได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจของประเทศจีนที่ชะลอตัวลง จึงส่งออกลดลงในตลาดเอเชีย ออสเตรเลีย ตะวันออกกลางและยุโรป อเมริกากลางและอเมริกาใต้ ส่งออกเพิ่มขึ้นตลาดอเมริกาเหนือแห่งเดียว

 

บทสรุปยานยนต์ไฟฟ้า BEV , HEV  PHEV 11 เดือนปี 67 

ยานยนต์ไฟฟ้าป้ายแดงประเภท BEV 
เดือนมกราคม - พฤศจิกายน 2567 มียานยนต์ประเภทไฟฟ้า (BEV) จดทะเบียนใหม่สะสมมีจำนวน  89,658 คัน เพิ่มขึ้นจากเดือนมกราคม - พฤศจิกายนปีที่แล้วร้อยละ 0.94 โดยแบ่งเป็น

  • รถยนต์นั่งและรถยนต์ประเภทต่างๆ มีทั้งสิ้น 64,627 คัน ลดลงจากเดือนมกราคม - พฤศจิกายน 2566 ร้อยละ 3.39
  • รถกระบะ รถแวนมีทั้งสิ้น 569 คัน เพิ่มขึ้นจากเดือนมกราคม - พฤศจิกายน 2566 ร้อยละ 221.47
  • รถยนต์สามล้อมีทั้งสิ้น 145 คัน ลดลงจากเดือนมกราคม - พฤศจิกายน 2566 ร้อยละ 62.72
  • รถจักรยานยนต์มีทั้งสิ้น 23,471 คัน เพิ่มขึ้นจากเดือนมกราคม - พฤศจิกายน 2566 ร้อยละ 16.89
  • รถโดยสารมีทั้งสิ้น 296 คัน ซึ่งลดลงเดือนมกราคม - พฤศจิกายน 2566 ร้อยละ 75.56
  • รถบรรทุกมีทั้งสิ้น 550 คัน ซึ่งเพิ่มขึ้นเดือนมกราคม - พฤศจิกายน 2566 ร้อยละ 633.33
     

ยานยนต์ไฟฟ้าป้ายแดงประเภท HEV
เดือนมกราคม - พฤศจิกายน 2567 มียานยนต์ประเภทไฟฟ้า (HEV) จดทะเบียนใหม่สะสมมีจำนวน  121,228 คัน เพิ่มขึ้นจากเดือนมกราคม - พฤศจิกายนปีที่แล้วร้อยละ 52.37 โดยแบ่งเป็น

  • รถยนต์นั่งและรถประเภทต่างๆ มีทั้งสิ้น 120,709 คัน เพิ่มขึ้นจากเดือนมกราคม – พฤศจิกายน 2566 ร้อยละ 52.78
  • รถจักรยานยนต์มีทั้งสิ้น 519 คัน ลดลงจากเดือนมกราคม – พฤศจิกายน 2566 ร้อยละ 6.15


ยานยนต์ไฟฟ้าป้ายแดงประเภท PHEV
เดือนมกราคม - พฤศจิกายน 2567 มียานยนต์ประเภทไฟฟ้า (PHEV) จดทะเบียนใหม่สะสมมีจำนวน  8,851 คัน ลดลงจากเดือนมกราคม - พฤศจิกายนปีที่แล้วร้อยละ 20.75 โดยแบ่งเป็น

  • รถยนต์นั่งและรถประเภทต่างๆ มีทั้งสิ้น 8,851 คัน ลดลงจากเดือนมกราคม – พฤศจิกายน 2566 ร้อยละ 20.75

 

บทสรุปยานยนต์ไฟฟ้า BEV ,HEV ,PHEV จดทะเบียนสะสม ณ วันที่ 30 พฤศจิกายน 2567

ยานยนต์ไฟฟ้าจดทะเบียนสะสมประเภท BEV มีจำนวนทั้งสิ้น 220,439 คัน เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วร้อยละ 82.61 โดยแบ่งประเภทได้ ดังนี้

  • รถยนต์นั่งและรถยนต์ประเภทต่างๆ มีทั้งสิ้น 153,948 คัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันปี 2566 ร้อยละ 91.19
  • รถกระบะและรถแวนมีจำนวน 834 คัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันปี 2566 ร้อยละ 247.50
  • รถยนต์ 3 ล้อมีจำนวนทั้งสิ้น 1,025 คัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันปี 2566 ร้อยละ 19.19
  • รถจักรยานยนต์มีจำนวนทั้งสิ้น 61,062 คัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันปี 2566 ร้อยละ 67.80
  • รถโดยสารมีจำนวนทั้งสิ้น 2,713 คัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันปี 2566 ร้อยละ 12.34
  • รถบรรทุกมีจำนวนทั้งสิ้น 857 คัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันปี 2566 ร้อยละ 200.70


ยานยนต์ไฟฟ้าจดทะเบียนสะสมประเภท HEV มีจำนวนทั้งสิ้น 463,663คัน เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วร้อยละ 37.11 โดยแบ่งประเภทได้ ดังนี้

  • รถยนต์นั่งและรถยนต์ประเภทต่างๆ มีทั้งสิ้น 454,315 คัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันปี 2566 ร้อยละ 38.05
  • รถกระบะและรถแวนมีจำนวน 1 คัน เท่ากับช่วงเวลาเดียวกันปี 2566
  • รถจักรยานยนต์มีจำนวนทั้งสิ้น 9,345 คัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันปี 2566 ร้อยละ 2.85
  • รถโดยสารมีจำนวนทั้งสิ้น 2 คัน ซึ่งเท่ากับช่วงเวลาเดียวกันปี 2566


ยานยนต์ไฟฟ้าจดทะเบียนสะสมประเภท PHEV มีจำนวนทั้งสิ้น 62,670 คัน เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วร้อยละ 17.25 โดยแบ่งประเภทได้ ดังนี้

  • รถยนต์นั่งและรถประเภทต่างๆ มีทั้งสิ้น 62,670 คัน เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วร้อยละ 17.25

 

อนึ่งเมื่อเดือนที่ผ่านมา ส.อ.ท.ได้มีการปรับลดเป้าหมายการผลิตรถยนต์ใหม่ โดยเป้าใหม่สำหรับการผลิตรถยนต์ปี 2567 จากเดิมตั้งไว้ 1,700,000 คันปรับเป็น 1,500,000 คัน ลดลง 200,000 คัน

  • ผลิตขายในประเทศลดลงจาก 550,000 คัน เป็น 450,000 คัน
  • ผลิตเพื่อส่งออกลดลงจาก 1,150,000 คัน เป็น 1,050,000 คัน