หลังจากที่สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ออกมาเผยยอดผลิตรถยนต์เดือน มิ.ย.2567 ลดลง จากช่วงเดียวกันในปีก่อน และจากไตรมาสก่อน ซึ่งจากการลดลงจากไตรมาสก่อน เป็นผลมาจากยอดขายในประเทศที่ลดลง ส.อ.ท. รายงานยอดผลิตรถยนต์เดือน มิ.ย. 2567 อยู่ที่ 1.16 แสนคัน หดตัว 20% จากช่วงเดียวกันในปีก่อน และลด 8% จากเดือนก่อน ลดลงติดต่อกันเป็นเดือนที่ 11 จากยอดการจำหน่ายรถยนต์ในประเทศที่ยังคงลดลงต่อเนื่อง รวมครึ่งแรกปี 2567 มียอดผลิตรถยนต์รวม 7.6 แสนคัน ลดลง 17% จากช่วงเดียวกันในปีก่อน
ยอดขายในประเทศลดลง 26% จากช่วงเดียวกันในปีก่อน และหดตัว 4% จากเดือนก่อน โดยรถกระบะลดลงถึง 36% จากช่วงเดียวกันในปีก่อน และรถ PPV ลดลง 50% จากช่วงเดียวกันในปีก่อน ยังมีทิศทางชะลอตัว จากหนี้ครัวเรือนอยู่ในระดับสูงและเศรษฐกิจของประเทศเติบโตในอัตราต่ำ สถาบันการเงินจึงระมัดระวังในการอนุมัติสินเชื่อโดยเฉพาะรถกระบะและรถบรรทุก รวมครึ่งแรกปี 2567 ยอดขายรถยนต์ในประเทศลดลง 24% จากช่วงเดียวกันในปีก่อน ยอดส่งออกโต 0.3% จากช่วงเดียวกันในปีก่อน แต่หดตัว 0.2% จากเดือนก่อน มีทิศทางทรงตัว
การส่งออกเพิ่มขึ้นในตลาดเอเชีย แอฟริกา ยุโรป อเมริกาเหนือ อเมริกากลาง และอเมริกาใต้ รวมครึ่งแรกปี 2567 ยอดส่งออกลดลง 2% จากช่วงเดียวกันในปีก่อน ยอดจดทะเบียนใหม่รถยนต์นั่ง BEV (ไม่เกิน 7 คน) เดือน มิ.ย. 2567 ยังลดลง จากช่วงเดียวกันในปีก่อน อยู่ที่ 5.7 พันคัน หดตัว 26% จากช่วงเดียวกันในปีก่อน แต่เพิ่มขึ้น 7% จากเดือนก่อน รวมครึ่งแรกปี 2567 มียอดจดทะเบียนใหม่ 3.6 หมื่นคัน เติบโต 16% จากช่วงเดียวกันในปีก่อน
จากปัจจัยดังกล่าวส่งผลให้ทาง ส.อ.ท.ปรับเป้ายอดผลิตรถยนต์ปี 2567 ลงเป็น 1.7 ล้านคัน จากเดิม 1.9 ล้านคัน (ปี 2566 ยอดผลิต 1.84 ล้านคัน) โดยเป็นการปรับเป้าเฉพาะผลิตเพื่อขายในประเทศลดลงเป็น 5.5 แสนคัน จากเดิม 7.5 แสนคัน
บริษัทหลักทรัพย์ ดาโอ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ระบุว่า ทางฝ่ายมองเป็นลบต่อบริษัทผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ จากยอดผลิตรถยนต์ที่ปรับตัวลดลงจากช่วงเดียวกันในปีก่อน ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 11 ทั้งนี้ ยังคงประเมินยอดผลิตรถยนต์ปี 2567 ลดลงเป็น 1.6 ล้านคัน หดตัว 13% จากช่วงเดียวกันในปีก่อน (ปี 2566 ผลิตได้ 1.84 ล้านคัน)
และยังคงต่ำกว่าประมาณการใหม่ของ ส.อ.ท.ที่ 1.7 ล้านคัน โดยยอดผลิตรถยนต์ครึ่งแรกปี 2567 คิดเป็น 48% จากทั้งปี และยังมีแนวโน้มลดลงจากช่วงเดียวกันในปีก่อนอย่างต่อเนื่อง จากยอดขายนรถยนต์ในประเทศที่ยังอ่อนแอ
สำหรับในช่วงครึ่งหลังปี 2567 ยอดผลิตอาจมีแนวโน้มฟื้นตัวได้จากการเริ่มผลิตรถ BEV เพื่อนำมาจำหน่ายมาทดแทนการนำเข้ามากขึ้น โดยประเมินว่าค่ายรถยนต์ BYD และ GAC AION จะเริ่มผลิตและจำหน่ายได้กลุ่ม Automotive ยังให้น้ำหนัก underweight ไม่มี top pick
โดย SAT แนะนำขาย ราคาเป้าหมาย 14.50 บาท เพราะประเมินกำไรปี 2567 จะลดลง -19% จากช่วงเดียวกันในปีก่อน และมี downside จากยอดผลิตรถกระบะที่ลดลงมาก และ outlook ยังไม่สดใส จากแนวโน้มในอนาคตที่จะมีการผลิตรถกระบะ EV เพิ่มขึ้น อาจทำให้ SAT เสียประโยชน์ เนื่องจากส่วนใหญ่ผลิตชิ้นส่วนสำหรับรถกระบะ ICE เป็นหลัก มองเป็นลบต่อหุ้นปล่อยสินเชื่อรถยนต์และจำนำทะเบียนรถ จากยอดขายรถยนต์ในประเทศที่ลดลง สะท้อนถึงความต้องการรถยนต์ที่ชะลอตัว
อย่างไรก็ตาม ประเด็นดังกล่าวอาจไปกดดันต่อยอดปล่อยสินเชื่อเช่าซื้อที่น้อยลงและราคารถมือสองที่ยังต่ำ จากความต้องการที่ยังไม่ดีขึ้นในช่วงเศรษฐกิจชะลอ ทำให้มีโอกาสรับรู้ขาดทุนรถยึดที่ยังสูง โดยกลุ่มธนาคาร เราประเมินผลกระทบจากมากไปน้อย ได้แก่ KKP (ขาย/เป้า 37.00 บาท) เนื่องจากมีสัดส่วนสินเชื่อเช่าซื้อที่ 48%, TISCO (ถือ/เป้า 94.00 บาท) มีสัดส่วนสินเชื่อเช่าซื้อที่ 46% และ TTB (ซื้อ/เป้า 2.10 บาท) มีสัดส่วนสินเชื่อเช่าซื้อที่ 31%
ขณะที่ บริษัทหลักทรัพย์ พาย จำกัด (มหาชน) ระบุว่า ส.อ.ท. รายงานตัวเลขยานยนต์ประจำเดือน มิ.ย. เทียบกับปีก่อนการส่งออกรถยนต์ยังคงเติบโตได้เล็กน้อย แต่สำหรับยอดขายรถยนต์ในประเทศและการผลิตรถยนต์ยังคงติดลบหนัก ส่วนเทียบกับเดือน พ.ค. ลดลงทุกประเภท
ในช่วงครึ่งแรกปี 2567 มีการผลิตรถยนต์รวม 761,240 คัน ลดลง 17% จากช่วงเดียวกันในปีก่อน คิดเป็นสัดส่วนเพียง 40% ของเป้าการผลิตรถยนต์ทั้งปีที่สภาอุตสาหกรรมตั้งไว้ที่ 1.9 ล้านคัน ทำให้ล่าสุดทางสภาอุตสาหกรรมจึงมีการปรับเป้าการผลิตรถยนต์ปี 2567 ลงจากเดิม 11% มาอยู่ที่ 1.7 ล้านคัน หดตัว 8%จากช่วงเดียวกันในปีก่อน) โดยปรับลดในส่วนของตลาดรถยนต์ในประเทศ
ทั้งนี้ ยอดผลิตในช่วงครึ่งแรกปี 2567 คิดเป็นสัดส่วน 45% ของเป้าผลิตใหม่ ขณะที่แนวโน้มในช่วงครึ่งหลังคาดว่าจะมีปริมาณผลิตเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะจากการที่ค่ายรถยนต์ EV อย่าง BYD และ GAC เริ่มเดินเครื่องผลิตแล้ว ฝ่ายวิจัยจึงมองว่าเป้าใหม่มีโอกาสเป็นไปได้สูง
รวมแล้วมองว่ากลุ่มยานยนต์ยังมีโอกาสฟื้นตัวในระยะยาวจากการเป็นฐานการผลิตรถยนต์ ทั้งกลุ่มรถพลังงานเดิมที่หันมาเน้นรถยนต์ประเภท HEV มากขึ้นและรถยนต์พลังงานไฟฟ้า ทำให้ฝ่ายวิจัยยังคงน้ำหนักการลงทุนในกลุ่มยานยนต์ "เท่าตลาด" เช่นเดิม
อย่างไรก็ดี ระยะสั้นให้ระมัดระวังผลประกอบการงวดไตรมาส 2/2567 ที่คาดว่าจะออกมาไม่ดีหลังจากยอดการผลิตรวมในช่วงดังกล่าวมีเพียง 347,117 คัน ลดลง 16% จากช่วงเดียวกันในปีก่อน และหดตัว 16% จากไตรมาสก่อน