ภาพรวมตลาดรถยนต์ในไทยยังคงไม่ฟื้นตัว โดยตัวเลข 7 เดือนแรกของปี 2567 (มกราคม - กรกฎาคม 2567) มียอดขายรวมทั้งสิ้น 354,421 คัน ลดลง 23.7% เฉพาะเดือนกรกฎาคม 2567 มียอดขายรวมทั้งสิ้น 46,394 คัน ลดลง 20.6%
อย่างไรก็ดีแม้ตลาดรถยนต์รวมยอดขายจะตก แต่ในส่วนของตลาด xEV หรือ ยานยนต์ไฟฟ้ายังคงเติบโต โดยตัวเลขในเดือนกรกฎาคม 2567 ยอดขายของรถในเซกเมนต์นี้มีจำนวน 17,243 คัน คิดเป็นสัดส่วน 37.2% ของตลาดรถยนต์ทั้งหมด เติบโตขึ้น 41.4% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา โดยยอดขายรถยนต์ HEV เติบโตขึ้น 44.3% ด้วยยอดขาย 9,203 คัน ในขณะที่ยอดขายรถยนต์ BEV อยู่ที่ 7,265 คัน เพิ่มขึ้น 48%
ตลาดรถยนต์รวม ยอดขาย 354,421 คัน ลดลง 23.7%
ตลาดรถยนต์นั่ง ยอดขาย 135,897 คัน ลดลง 20.3%
ตลาดรถเพื่อการพาณิชย์ ยอดขาย 218,524 คัน ลดลง 25.7%
ตลาดรถยนต์รวม ยอดขาย 46,394 คัน ลดลง 20.6%
ตลาดรถยนต์นั่ง ยอดขาย 16,571 คัน ลดลง 26.4%
ตลาดรถเพื่อการพาณิชย์ ยอดขาย 29,823 คัน ลดลง 16.9%
นายศุภกร รัตนวราหะ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย เผยว่า ปัจจัยที่มีผลกับตลาดรถยนต์ ยังคงมาจากความเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อของสถาบันการเงิน ประกอบกับภาวะเศรษฐกิจโดยรวม อย่างไรก็ตามประเมินว่าในเดือนสิงหาคม ภาพรวมตลาดอาจจะมียอดขายเพิ่มขึ้นเล็กน้อย เนื่องจากมีการเปิดตัวรถรุ่นใหม่ พร้อมทั้งมีแคมเปญโปรโมชัน รวมไปถึงมีอีเวนต์กระตุ้นการขายรถอย่าง BIG MOTOR SALE 2024
นายสุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์ ที่ปรึกษาประธานกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์และโฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ปัจจัยที่มีผลกระทบต่อยอดขายในประเทศที่ลดลง เป็นผลมาจากความเข้มงวดในการให้สินเชื่อโดยเฉพาะรถกระบะและรถบรรทุก เนื่องจากความกังวลเรื่องหนี้ครัวเรือนที่สูงถึง 91 % ของ GDP ของประเทศและเศรษฐกิจที่เติบโตต่ำในอัตรา 1.5 % ในไตรมาสที่ 1 ของปี 2567 จากงบประมาณรายจ่ายปีที่ล่าช้า
"สิ่งที่กระทบกับการขายรถในตอนนี้คือการปล่อยสินเชื่อ เพราะสถาบันทางการเงินค่อนข้างเข้มงวด อย่างไรก็ดีคาดหวังว่าเมื่อมีการตั้งรัฐบาลใหม่ เร่งเบิกจ่ายเงินงบประมาณปี 2568 หากทัน 1 ตุลาคม ก็จะทำให้มีการลงทุน มีแผนการกระตุ้นเศรษฐกิจ และหวังว่า 4 เดือนหลังจากนี้ทุกอย่างน่าจะดีขึ้น"