ภาพรวมอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย 7 เดือนแรกของปี 2567 ยอดยังตกต่อเนื่อง ล่าสุดกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ได้เปิดเผยตัวเลขยอดการผลิต ยอดขายรถใหม่ในประเทศ รวมไปถึงยอดส่งออกไปยังตลาดต่างประเทศ ตั้งแต่มกราคม -กรกฎาคม 2567 โดยภาพรวมลดลงทุกตลาด
จำนวนรถยนต์ที่ผลิตได้ในเดือนมกราคม - กรกฎาคม 2567 มีจำนวนทั้งสิ้น 886,069 คัน ลดลง 17.28 % ส่วนยอดผลิตรถยนต์ในเดือนกรกฎาคม 2567 มีทั้งสิ้น 124,829 คัน ลดลง 16.62 %
นายสุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์ ที่ปรึกษาประธานกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์และโฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ยอดผลิตที่ลดลงเป็นผลมาจากการผลิตขายในประเทศลดลง 40.85 % ตามยอดขายรถยนต์ในประเทศที่ชะลอตัวเนื่องจากความเข้มงวดในการให้สินเชื่อของสถาบันการเงินเพราะหนี้ครัวเรือนสูงและเศรษฐกิจที่อ่อนแอ อย่างไรก็ตามยอดผลิตในเดือนนี้ เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนมิถุนายน 2567 คิดเป็น 7.34 %
สำหรับยอดขายรถยนต์ภายในประเทศ ตัวเลขตั้งแต่เดือนมกราคม - กรกฎาคม 2567 รถยนต์มียอดขาย 354,421 คัน ลดลง 23.71 % เฉพาะเดือนกรกฎาคม 2567 ขายรถได้จำนวนทั้งสิ้น 46,394 คัน ลดลง 20.58 %
นายสุรพงษ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ปัจจัยที่มีผลกระทบต่อยอดขายในประเทศที่ลดลง เป็นผลมาจากความเข้มงวดในการให้สินเชื่อโดยเฉพาะรถกระบะและรถบรรทุก เนื่องจากความกังวลเรื่องหนี้ครัวเรือนที่สูงถึง 91 % ของ GDP ของประเทศและเศรษฐกิจที่เติบโตต่ำในอัตรา 1.5 % ในไตรมาสที่ 1 ของปี 2567 จากงบประมาณรายจ่ายปีที่ล่าช้า
"สิ่งที่กระทบกับการขายรถในตอนนี้คือการปล่อยสินเชื่อ เพราะสถาบันทางการเงินค่อนข้างเข้มงวด โดยตัวเลขหนี้เสียรถยนต์เพิ่มขึ้น แต่ยอดหนี้เริ่มลดลงเพราะไฟแนนซ์ไม่ปล่อยดังนั้นหนี้สินของรถยนต์จึงได้ลดลง ซึ่งก็คาดหวังว่าเมื่อมีการตั้งรัฐบาลใหม่ เงินงบประมาณปี 2568 หากทัน 1 ตุลาคม ก็จะทำให้มีการลงทุน การเบิกจ่าย มีแผนการกระตุ้นเศรษฐกิจ ก็คาดหวังว่า 4 เดือนหลังจากนี้ทุกอย่างน่าจะดีขึ้น"
ส่วนตัวเลขการส่งออกรถยนต์สำเร็จรูป ตั้งแต่ มกราคม – กรกฎาคม 2567 ไทยส่งออกรถยนต์สำเร็จรูป 602,567 คัน ลดลง 5.39 % ขณะที่ตัวเลขการส่งออกในเดือนกรกฎาคม 2567 ทำได้ทั้งสิ้น 83,527 คัน ลดลง 22.70 %
สำหรับปัจจัยที่มีผลต่อการส่งออก นั้นมาจากปัญหาการขนส่งไปตะวันออกกลางและยุโรปจากสงครามอิสราเอลกับฮามาส จึงส่งออกลดลงในตลาดเอเชีย ออสเตรเลีย ตะวันออกกลาง ยุโรป อเมริกากลางและอเมริกาใต้
นายสุรพงษ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า เนื่องจากปัญหาเรื่องสงครามที่เริ่มรุนแรง ทำให้การขนส่งนั้นล่าช้า เพราะเรือต้องอ้อมเพื่อมารับส่งสินค้า อย่างไรก็ตามยังไม่มีแผนการปรับเป้าหมายยอดส่งออก เนื่องจากประเมินแล้วว่าประเทศคู่ค้าหลายแห่งยังมีการเติบโต ไม่ว่าจะเป็นออสเตรเลีย เม็กซิโก อเมริกา หรือแม้แต่ในยุโรปอย่าง ฝรั่งเศส หรือ อิตาลี
รถจักรยานยนต์ ตั้งแต่มกราคม – กรกฎาคม 2567 มียอดขาย 1,032,091 คัน ลดลง 9.84 % โดยแบ่งเป็นรถจักรยานยนต์ ICE จำนวน 1,031,891 คัน ลดลง 9.78 % รถจักรยานยนต์ BEV จำนวน 200 คัน ลดลง 9.09 % ส่วนยอดขายรถจักรยานยนต์เฉพาะเดือนกรกฎาคม 2567 มีจำนวนทั้งสิ้น 141,557 คัน ลดลง 6.12 %
ขณะที่ยอดส่งออกของตลาดสองล้อ เดือนมกราคม – กรกฎาคม 2567 รถจักรยานยนต์ที่ทำการส่งออกมีจำนวนทั้งสิ้น 473,075 คัน (รวม CBU + CKD) ลดลง 3.82 % ส่วนในเดือนกรกฎาคม 2567 มีจำนวนส่งออก 58,757 คัน (รวม CBU + CKD)ลดลง 8.53%
นายสุรพงษ์ เปิดเผยว่า ในส่วนของจักรยานยนต์ยังไม่มีการปรับเป้า เนื่องจากปีนี้ตัวเลขนักท่องเที่ยวเข้ามาเยอะ ธุรกิจบริการต่างๆทั้งโรงแรม หรือแม้แต่อุตฯก่อสร้างก็ยังมีอัตราการเติบโต ประเมินว่าหากในเดือนตุลาคม งบประมาณมาก็จะช่วยผลักดันให้เศรษฐกิจในภาพรวมดีขึ้น ส่วนเรื่องน้ำท่วม ห่วงแค่ว่าจะนานแค่ไหน ถ้าท่วมไม่นานก็ไม่มีผลกระทบมากนัก