ส.อ.ท.หั่นเป้ายอดผลิตรถปี 67 จาก 1.9 ล้านคัน เป็น 1.7 ล้านคัน

25 ก.ค. 2567 | 13:18 น.
อัปเดตล่าสุด :25 ก.ค. 2567 | 13:29 น.
585

ส.อ.ท.ประกาศปรับเป้ายอดผลิตรถยนต์ปี 2567 จากเดิม 1.9 ล้านคัน ปรับใหม่ลดเหลือ 1.7 ล้านคัน หลังตลาดในประเทศซบเซา หนี้ครัวเรือนพุ่งสูง รายได้ครัวเรือต่ำ ไฟแนนซ์เข้มงวด

กลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.)เปิดเผยตัวเลขรถยนต์ที่ผลิตได้ตั้งแต่เดือนมกราคม -มิถุนายน 2567 พบว่ามีจำนวนทั้งสิ้น 761,240 คัน ลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่่ผ่านมา 17.39 % ขณะที่ตัวเลขการผลิตในเดือนมิถุนายน 2567 มีทั้งสิ้น 116,289 คัน ลดลง 20.11 %

 

ตัวเลขรถยนต์ที่ผลิตได้ตั้งแต่เดือนมกราคม -มิถุนายน 2567

เมื่อมาดูตัวเลขยอดขายรถใหม่ภายในประเทศ ตั้งแต่เดือนมกราคม - มิถุนายน 2567 รถยนต์มียอดขาย 308,027 คัน ลดลง 24.16 % เฉพาะเดือนมิถุนายน 2567 รถยนต์ขายได้ทั้งสิ้น 47,662 คัน ลดลง  26.04 % ขณะที่ตัวเลขการส่งออกในเดือนมกราคม – มิถุนายน 2567 ส่งออกรถยนต์สำเร็จรูป 519,040 คัน ลดลง 1.85 % เฉพาะเดือนมิถุนายน 2567 ส่งออกได้  89,071 คัน เพิ่มขึ้น 0.28 % 

ยอดขายรถใหม่ภายในประเทศ ตั้งแต่เดือนมกราคม - มิถุนายน 2567

จากสถานการณ์ภาพรวมของอุตสาหกรรมยานยนต์ในครึ่งปีแรกที่ยอดผลิตลดลง ยอดขายในประเทศลดลง ทำให้ทางส.อ.ท.ประกาศปรับเป้าหมายตัวเลขประมาณการผลิตรถยนต์ของไทยในปี 2567 ที่แต่เดิมตั้งเป้าไว้ตอนต้นปี ผลิตรถยนต์รวม 1.9 ล้านคัน ล่าสุดเป้าหมายใหม่ที่ได้ประกาศคือ 1.7 ล้านคัน

นายสุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์ ที่ปรึกษาประธานกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์และโฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ได้ทำการปรับเป้าผลิตรถยนต์ปี 2567 จาก 1,900,000 คันเป็น 1,700,000 คัน ลดลง 200,000 คัน โดยปรับเป้าเฉพาะผลิตขายในประเทศลดลงจาก 750,000 คันเป็น 550,000 คัน

นายสุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์ โฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.)
 

 

ทั้งนี้ กลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ ส.อ.ท.ได้ประเมินปัจจัยลบ-ปัจจัยบวกที่มีผลต่ออุตฯยานยนต์ในปีนี้ โดยประกอบไปด้วย 

ปัจจัยลบของการปรับยอดผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศลดลง

  • หนี้ครัวเรือนสูงถึงร้อยละ 90 ของ GDP ประเทศในขณะที่รายได้ครัวเรือนยังต่ำจากเศรษฐกิจที่เติบโตต่ำ
  • การลงทุนจากต่างประเทศรวมทั้งดัชนีการผลิตภาคอุตสาหกรรมยังลดลงมาหลายเดือนแล้ว คนงานมีรายได้ลดลง ประชาชนระวังในการใช้จ่ายมากขึ้น
  • หน่วยงานเศรษฐกิจหลายแห่งลดการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศไทยลง
  • สถาบันการเงินเข้มงวดในการอนุมัติสินเชื่อรถยนต์โดยเฉพาะรถกระบะ
  • จำนวนแรงงานวัยทำงานน้อยกว่าเพื่อนบ้านจากอัตราการเกิดต่ำ จะทำให้นักลงทุนลังเลในการลงทุนเพราะเป็นสังคมสูงอายุ
     

ประมาณการยอดผลิตรถยนต์ในปี 2567


ปัจจัยบวกของการปรับยอดผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศลดลง

  • รัฐบาลกระตุ้นเศรษฐกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพรวมทั้งเร่งรัดการเบิกจ่ายและการลงทุนจากงบประมาณรายจ่ายประจำปี2567
  • งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2568 เบิกจ่ายได้ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2567 ซึ่งจะทำให้รัฐบาลใช้จ่ายและลงทุนรวมทั้งกระตุ้นเศรษฐกิจได้ตามนโยบาย
  • นักท่องเที่ยวต่างชาติและการส่งออกยังเติบโตชึ่งจะช่วยให้ภาคอุตสาหกรรมผลิตได้มากขึ้น คนงานมีรายได้มากขึ้น
  • ความขัดแย้งระหว่างประเทศไม่ขยายตัวหรือเพิ่มขึ้นอีกในแห่งอื่นของโลกซึ่งจะส่งผลถึงการขาดแคลนชิปและชิ้นส่วน
  • ธนาคารกลางสหรัฐอาจลดอัตราดอกเบี้ยลงในปีนี้ซึ่งอาจส่งผลให้ธนาคารแห่งประเทศไทยลดอัตราดอกเบี้ยได้ ภาระของลูกหนี้อาจลดลงซึ่งจะช่วยให้มีอำนาจซื้อมากขึ้น
  • คาดหวังว่าจะมีการลงทุนจากต่างประเทศมากขึ้นจากการเดินทางไปชักชวนนักลงทุนรายใหญ่ๆตั้งแต่ปีที่แล้วซึ่งจะส่งผลให้ประชาชนมีรายได้มากขึ้น เศรษฐกิจของประเทศเติบโต หนี้ครัวเรือนจะได้ลดลง
  • เริ่มผลิตรถยนต์ไฟฟ้าชดเชยอัตรา 1:1ของรถยนต์ไฟฟ้าที่นำเข้ามาจำหน่ายในปี 2565 - 2566


ปัจจัยลบของการคาดการณ์ยอดผลิตเพื่อส่งออกเท่าเดิม

  • สงครามการค้าและสงครามยูเครนกับรัสเซียและสงครามอิสราเอลกับฮามาสอาจบานปลาย
  • การเพิ่มการเข้มงวดในการควบคุมเซมิคอนดักเตอร์ของสหรัฐอเมริกาอาจส่งผลให้เกิดการขาดแคลนเซมิคอนดักเตอร์
  • ถ้าเศรษฐกิจจีนโตในอัตราต่ำจะส่งผลต่อเศรษฐกิจประเทศในเอเชียซึ่งเป็นตลาดส่งออกอันดับสองรองจากตลาดออสเตรเลีย

ปัจจัยบวกของการคาดการณ์ยอดผลิตเพื่อส่งออกเท่าเดิม

  • ยอดขายรถยนต์ของประเทศคู่ค้ายังเติบโต
  • คาดว่าธนาคารกลางสหรัฐจะลดอัตราดอกเบี้ยลง
  • เศรษฐกิจของประเทศจีนที่ยังเติบโตส่งผลดีต่อประเทศในเอเชียที่มีสัดส่วนถึงร้อยละ 28 ของรถยนต์ที่ไทยส่งออก
     

ปรับเป้าหมายยอดผลิตรถยนต์ในประเทศไทย