กรอ.จ่อบังคับลงทะเบียนก่อนซื้อไซยาไนด์ หลังมีคดี "แอมไซยาไนด์"

05 พ.ค. 2566 | 16:15 น.
อัปเดตล่าสุด :05 พ.ค. 2566 | 16:16 น.

กรอ.จ่อบังคับลงทะเบียนก่อนซื้อไซยาไนด์ หลังมีคดี "แอมไซยาไนด์" ระบุเหมือนซื้อซิมโทรศัพท์มือถือ ให้ระบุว่านำไปใช้เพื่ออะไร คาดประกาศเงื่อนไขการใช้ได้ภายในสัปดาห์หน้า

นายจุลพงษ์ ทวีศรี อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) เปิดเผยว่า กรมโรงงานฯ ได้หารือร่วมกับผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) ถึงแนวทางการควบคุมใช้สารไซยาไนด์ ให้ถึงกลุ่มผู้ใช้รายย่อยว่า นำไปทำอะไร เพิ่มเติมจากกฎหมายปัจจุบันที่กำหนดให้ร้านค้าปลีกรายใดครอบครองสารเคมีอันตรายเกิน 100 กิโลกรัม ภายใน 6 เดือน จะต้องรายงานมายังกรมฯ 

ทั้งนี้ ต่อไปอาจจะให้ร้านค้าปลีกทุกราย ที่จำหน่ายสารโซเดียมไซยาไนด์ โพแทสเซียมไซยาไนด์ ให้ผู้ซื้อรายย่อยรายใด ต้องลงทะเบียนคล้ายกับซื้อซิมโทรศัพท์มือถือ ให้ระบุว่า นำไปใช้เพื่ออะไร เช่น นำไปในร้านชุบเงินชุบทอง หรือใช้ในห้องแล็บ หากหารือกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องแล้ว คาดว่าจะประกาศเงื่อนไขการใช้สารไซยาไนด์ ภายในสัปดาห์หน้า
 

สำหรับประเทศไทยนั้น ไม่สามารถผลิตสารไซยาไนด์ได้เอง ฉะนั้นจึงต้องมีการนำเข้าเท่านั้น โดยปัจจุบันมีผู้นำเข้าสารโพแทสเซียมไซยาไนด์จำนวน 14 ราย ถ้ามาตรการเพิ่มเติมผ่านการเห็นชอบจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องแล้ว จะแจ้งให้ผู้นำเข้าทั้งหมดต่อไป 

โดยการกำหนดเป็นเงื่อนไขท้ายใบอนุญาต เพื่อให้ผู้ที่ซื้อต่อจากผู้นำเข้าทุกราย ทั้งโรงงาน ร้านค้าปลีก ผู้ใช้รายย่อย ต้องปฏิบัติตามแนวทางใหม่ เรื่องการควบคุมดูแลการใช้สารโพแทสเซียมไซยาไนด์ ซึ่งต้องให้ความเป็นธรรมกับผู้นำเข้า และผู้ใช้ในภาคอุตสาหกรรมที่ถูกต้องด้วย 

นายจุลพงษ์ กล่าวอีกว่า ปัจจุบันสารไซยาไนด์ มี 2 ประเภทที่ กรอ. ควบคุมอยู่ คือ โซเดียมไซยาไนด์ และโพแทสเซียมไซยาไนด์ ซึ่งทั้ง 2 ประเภทนี้ มีไว้ใช้ในงานอุตสาหกรรม เช่น การสกัดแร่ การชุบโลหะ ชุบทอง เงิน หรือใช้ในห้องแล็บ ส่วนที่เป็นข่าวตอนนี้ เป็นการนำไปใช้ในทางที่ผิด ไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์

นอกจากนี้ กรมฯ ได้หารือเบื้องต้น กับสำนักงานคุ้มครองผู้บริโภคแล้วว่า อาจจะขอความร่วมมือ ไม่ควรนำสารไซยาไนด์ ไปขายบนช่องทางออนไลน์บนเว็บไซต์แพลตฟอร์มต่างๆ เนื่องจากเป็นสารอันตราย ไม่ควรหาซื้อง่าย