เปิดประสบการณ์หมอแก้พิษไซยาไนด์ หลังมีคดี "แอม ไซยาไนด์"

29 เม.ย. 2566 | 09:04 น.
อัปเดตล่าสุด :29 เม.ย. 2566 | 10:53 น.
572

เปิดประสบการณ์หมอแก้พิษไซยาไนด์ หลังมีคดี "แอม ไซยาไนด์" เพจเฟสบุ๊กเรื่องเล่าหมอชายแดนระบุถึงเหตุการณ์วินิจฉัยโรคผู้ป่วยที่โรงพยาบาลแม่สอด เตือนระวังการกินอาหาร น้ำที่อาจจะมีสารไซยาไนด์ปนเปื้อน

"ไซยาไนด์"(cyanide) ชื่อนี้คงเป็นที่จดจำอย่างขึ้นใจสำหรับคนไทยในเวลานี้ หลังจากเกิดเหตุสะเทือนขวัญที่เรียกว่าคดีฆาตกรรมต่อเนื่องด้วยฤทธิ์ของ ไซยาไนด์ ดังกล่าว โดยผู้ต้องหาที่ถูกเรียกขานว่า "แอม ไซยาไนด์"

เพจเฟสบุ๊ก "เรื่องเล่าหมอชายแดน" ได้มีการเผยแพร่ข้อความเกี่ยวกับพิษไซยาไนด์จากประสบการณ์ตรงของหมอไว้อย่างน่าสนใจว่า

ที่โรงพยาบาลแม่สอดได้เคยวินิจฉัยโรคนี้ได้เมื่อเดือนกันยายน 2565 ที่ผ่านมาด้วยความสงสัยของแพทย์ประจำห้องฉุกเฉินนั่นคือ พญ.กมลวรรณ หรือหมอพลอย ซึ่งได้พบคนไข้หญิงอายุประมาณ 60 ปี 

โดยที่ญาติบอกว่าหลังกินข้าวเที่ยงแล้วไปนอนพักที่โซฟานาน 15 นาทีมีอาเจียนรุนแรงและสลบหมดสติไปทันที มาถึงโรงพยาบาลตอนบ่ายสองโดยญาติรีบขับรถมาส่งจากบ้านโดยใช้เวลา 15 นาที ซึ่งเป็นระยะเวลาที่เร็วที่สุด เนื่อจากระยะทางไม่ได้ใกล้ 

ที่ห้องฉุกเฉินคนไข้โคม่า E1V1M1 แต่ยังหายใจเฮือก ไม่ขยับตัวเลยตัวอ่อนปวกเปียก ช็อคความดันต่ำ 80/50 mm.Hg แพทย์ห้องฉุกเฉินใส่ท่อช่วยหายใจทันที 
 

ตอนแรกนึกถึงภาวะ stroke fast tract (โรคหลอดเลือดสมอง ตีบ/แตก) โดยที่ผลเลือดแย่มากเลือดเป็นกรดรุนแรง pH 6.9 HCO3 7.8 (ค่าความเป็นด่าง) เม็ดเลือดขาวขึ้นมาก 20,000 ค่าแลคเตต 

ซึ่งนั่นหมายความว่าอาจมีการติดเชื้อแบคทีเรียรุนแรงมากกว่า 22 เกินเครื่องจะวัดได้( ปกติน้อยกว่า 2) นอกจาก stroke แล้วก็ยังนึกถึงภาวะติดเชื้อในกระแสเลือดด้วย จึงจัดการส่งเอ็กซเรย์คอมพิวเตอร์สมองพบว่าปกติดี ให้ยาปฏิชีวนะ ให้สารน้ำ ให้ยากระตุ้นความดัน ดูแลแบบผู้ป่วยติดเชื้อในกระแสเลือด 

มีการทำ Echo ตรวจหัวใจและอัลตราซาวน์ช่องท้องผลปกติ หัวใจบีบตัวดีมาก ตอนนั้นหมอพลอยก็บอกว่าประวัติดูแปลก เพราะรวดเร็วเกินไป ไม่มีไข้ไม่มีอาการติดเชื้อมาก่อนเลย เหมือนได้รับสารพิษอะไรบางอย่าง 

คิดได้ดังนั้นจึงโทรศัพท์ปรึกษาศูนย์พิษวิทยาโรงพยาบาลรามาธิบดีให้ความเห็นว่าถ้าไม่สามารถแยกโรคพิษจากไซยาไนด์ได้ให้รักษาเสมือนผู้ป่วยได้รับสารพิษไซยาไนด์ไปก่อนเพราะหากช้าผู้ป่วยจะไม่รอดชีวิต 

หมอพลอยจึงรีบให้ antidote (ยาต้านพิษ) ซึ่งโชคดีมากที่โรงพยาบาลแม่สอดมี นั่นคือ 3% sodium nitrite 10 ml iv push และ 25% Sodium thiosulfate 3 amps iv push * 2 ครั้ง แก้ไขภาวะความเป็นกรดด้วยสารละลายด่างชนิดฉีด 

อย่างไรก็ดี ต่อมาผู้ป่วยมีภาวะชักจึงได้ให้ยากันชักด้วย ซึ่งโชคดีที่หัวใจของผู้ป่วยยังไม่เป็นไรมีเพียงเต้นเร็วกว่าปกติ ด้วยความพยายามของแพทย์ห้องฉุกเฉินและแพทย์เวรอายุรกรรมในวันนั้นภายใน 12 ชั่วโมง ก็สามารถแก้ไขให้ผลเลือดกลับมาเป็นปกติได้หมดและผู้ป่วยสามารถเอาท่อช่วยหายใจออกได้ในวันรุ่งขึ้น 

เมื่อผลเพาะเชื้อต่างๆไม่พบว่ามีการติดเชื้อแบคทีเรียจึงได้หยุดยาฆ่าเชื้อและสามารถให้ผู้ป่วยกลับบ้านได้ภายใน 5 วัน 

สำหรับผลการตรวจเลือดที่ส่งตรวจกับทางศูนย์พิษวิทยาโรงพยาบาลรามาธิบดีพบว่ามีสารไซยาไนด์จริง ปริมาณ 3.2 ไมโครกรัม/มิลลิลิตร (ค่าปกติ <0.5) โดยเคสนี้คิดว่าได้รับสารไซยาไนด์ที่อาจมีการปนเปื้อนในอาหาร หรือสารเคมีในบ้าน 

จากข้อมูลที่ว่าไซยาไนด์ในประเทศไทยเป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 3 ต้องมีใบอนุญาตครอบครองใช้เป็นสารเคมีในอุตสาหกรรมทอง อุตสาหกรรมอิเลคทรอนิกส์ การล้างภาพและพิมพ์เขียว เป็นสารตั้งต้นในการผลิตยาเสพติดบางชนิด (ยาบ้า) เป็นสินค้านำเข้าของประเทศพม่าโดยผ่านทางประเทศไทย (เคยเป็นข่าวมาก่อน หน้านี้) 

นอกจากนี้ยังปนเปื้อนอยู่ในอาหารบางชนิดเช่น มันสำปะหลังดิบ หน่อไม้ดิบ ถั่วบางชนิด ก่อนหน้านี้ก็เคยมีคนไข้ชาวสวนกินมันสำปะหลังดิบแล้ววูบมาโรงพยาบาลแต่อาการไม่ถึงตายเพราะอาจจะได้รับเข้าไปเล็กน้อย

ต้องการให้ประชาชนทุกคนรับรู้ถึงพิษของ "ไซยาไนด์" และระมัดระวังในการรับประทานอาหารหรือน้ำที่อาจจะมีสารไซยาไนด์ปนเปื้อน  หรือสูดดมอากาศที่มีไซยาไนด์ระเหย หากประมาทถึงตายได้

เคสนี้หมอเบียร์มีส่วนเกี่ยวข้องเล็กน้อย คือผลตรวจโควิดของคนไข้เป็น inconclusive (ก้ำกึ่ง) จึงได้รับรู้เคสจากการรับปรึกษาทางโทรศัพท์ในวันนั้น แต่พิษไซยาไนด์เป็นเรื่องใหม่ของเบียร์จนต้องรีบ search หาข้อมูลเลย 

ต้องชื่นชมความเฉลียวใจและความรอบรู้ของหมอพลอยหมอประจำห้องฉุกเฉินวันนั้นที่ทำให้คนไข้รอดชีวิต เพราะเป็นโรคที่วินิจฉัยยากมาก และขอขอบคุณสายด่วนของศูนย์พิษวิทยาโรงพยาบาลรามาธิบดีที่เป็นที่ปรึกษาให้กับโรงพยาบาลแม่สอดตลอดมา  ทำให้เกิดการเรียนรู้และช่วยตรวจเลือดเพื่อยืนยัน