"โรคไซโคพาธ" คืออะไร มีอาการยังไง หลังเชื่อมโยง "แอม ไซยาไนด์"

28 เม.ย. 2566 | 08:30 น.
อัปเดตล่าสุด :28 เม.ย. 2566 | 08:46 น.
695

"โรคไซโคพาธ" คืออะไร มีอาการยังไง หลังเชื่อมโยง "แอม ไซยาไนด์" ฐานเศรษฐกิจรวบรวมข้อมูลไว้ให้แล้วทีนี่ กรมสุขภาพจิตชี้มีพฤติกรรมเข้าข่าย จากการเป็นผู้ต้องหาคดีฆาตกรรมต่อเนื่อง

โรคไซโคพาธคืออะไร มีอาการยังไง กำลังได้รับความสนใจเป็นอย่างมาก หลังจากที่เกิดกรณี นางสรารัตน์ หรือแอม (แอม ไซนาไนด์) ผู้ต้องหาคดีฆ่า ก้อย และจากการสอบสวนขยายผลพบว่าผู้ต้องหาอาจมีส่วนเกี่ยวข้องกับการเสียชีวิตของเพื่อนในวงแชร์เพิ่มอีก 9 ราย

จนในสังคมมีกระแสวิพากษ์วิจารณ์ถึงพฤติกรรมของผู้ต้องหาที่เป็นการฆาตกรรมต่อเนื่อง มีความเหี้ยมโหด ไร้สำนึกผิดชอบ โดยกรมสุขภาพจิตชี้พฤติกรรม แอม เข้าข่ายกลุ่มโรคไซโคพาธ

ทั้งนี้ จากการตรวจสอบของ "ฐานเศรษฐกิจ" เพื่อไขข้อสงสัยเรื่อง "โรคไซโคพาธ" พบว่า

ไซโคพาธ (Psychopaths) เป็นหนึ่งในกลุ่มของโรคบุคลิกภาพผิดปกติแบบต่อต้านสังคม โดยมีลักษณะขาดความเห็นใจผู้อื่น ขาดความสำนึกผิด ความรู้สึกด้านชาไม่เกรงกลัว ขาดความยับยั้งชั่งใจ เอาตัวเองเป็นจุดศูนย์กลาง

อาการของไซโคพาธ

  • มักแสดงออกทางจิตใจที่แข็งกระด้าง 
  • มีพฤติกรรมตอบสนองต่อความต้องการของตนเองโดยไม่สนใจผู้อื่นในสังคม 
  • มีความผิดปกติทางอารมณ์และความคิดโดยเฉพาะเมื่อต้องเข้าสังคม
  • มักเชื่อมโยงกับพฤติกรรมความรุนแรงซ้ำๆ และก่อให้เกิดอาชญากรรม

โรคไซโคพาธ คืออะไร มีอาการยังไง

สาเหตุ ด้านทางกาย 

  • มีความผิดปกติของสมองโดยเฉพาะส่วนหน้าและส่วนอะมิกดะลา
  • ความผิดปกติของสารเคมีในสมอง 
  • อุบัติเหตุทางสมอง 
  • พันธุกรรม

ด้านจิตใจและสังคม 

  • การถูกกระทำทารุณกรรมในวัยเด็ก 
  • การถูกเลี้ยงดูแบบละเลยเพิกเฉย 
  • อาชญากรรมในครอบครัว 
  • ความแตกแยกในครอบครัว 
  • สภาพสังคมรอบตัวที่โหดร้าย

การรักษา

  • การรักษาด้วยยา มีประโยชน์ในการรักษาโรคทางจิตเวชที่เกิดร่วมกับไซโคพาธ
  • การปรับพฤติกรรม เน้นการพัฒนาสิ่งที่สนใจในแง่ดี และการให้รางวัลเมื่อกระทำพฤติกรรมดี
  • การลงโทษ มักไม่สามารถเปลี่ยนพฤติกรรมได้เนื่องจากอาการด้านชาทางอารมณ์

อย่างไรก็ตาม ไซโคพาธ (Psychopaths) เป็นหนึ่งภาวะที่รักษาได้ยากและมักมีการพยากรณ์โรคที่ไม่ดี มักไม่ร่วมมือกับการทำจิตบำบัดจึงได้ประโยชน์ค่อนข้างน้อย

การวินิจฉัยไซโคพาธ
 
จิตแพทย์จะประเมินความคิด รู้สึก พฤติกรรม และสายสัมพันธ์คนใกล้ชิดของผู้ป่วย และนำมาเทียบกับเกณฑ์บุคลิกภาพต่อต้านสังคม (Antisocial Personality Disorder: ASPD) ซึ่งจะต้องตรงกัน 3 ข้อขึ้นไป ได้แก่

  • ทำสิ่งผิดกฎหมาย
  • ก้าวร้าว ทะเลาะวิวาท ทำร้ายผู้อื่น
  • ทำสิ่งใดโดยไม่สนใจความปลอดภัยของตนเอง รวมทั้งคนใกล้เคียง
  • โกหก หลอกลวงผู้อื่นเพื่อผลประโยชน์ แล้วมีความสุข
  • ไร้จิตสำนึกในความผิดที่ตนก่อขึ้น
  • ประสบปัญหาด้านการงาน และรายได้

ข้อมูล : กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข ,โรงพยาบาลเพชรเวช