เปิด 5 กลุ่มทุนยักษ์ เตรียมลุยธนาคารไร้สาขา

06 ก.ย. 2567 | 05:45 น.

5 กลุ่มทุนยักษ์ จ่อลุยธนาคารไร้สาขา BTS ส่ง VGI ผนึกพันธมิตรยักษ์ใหญ่ แบงก์กรุงเทพ และ sea group ยื่นขอไลเซ่นต์ก่อนปิดรับสมัคร 19 ก.ย.67  เสริมทัพทุนใหญ่ที่ยื่นก่อนหน้า ทั้งกรุงไทย เอสซีบีเอ็กซ์และเครือซีพ

KEY

POINTS

  • ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดให้ยื่นขอใบอนุญาตจัดตั้งธนาคารไร้สาขาตั้งแต่ 20 มีนาคม 2567 และจะปิดรับสมัครในวันที่ 19 กันยายน 2567
  • BTS ส่ง VGI ผนึก แบงก์กรุงเทพ และ sea group ยื่นขอไลเซ่นต์ Virtual Bank เสริมทัพทุนใหญ่ที่ยื่นก่อนหน้า ทั้งกรุงไทย เอสซีบีเอ็กซ์และเครือซีพ และ JMART 
  • ธปท. จะตรวจสอบคุณสมบัติก่อนเสนอให้กระทรวงการคลังพิจารณาประกาศรายชื่อผู้ได้รับใบอนุญาตภายในมิถุนายน 2568 และคาดว่าธนาคารไร้สาขาจะเริ่มให้บริการภายในมิถุนายน 2569

19 กันยายน 2567 จะเป็นวันสุดท้ายที่ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)เปิดให้ผู้สนใจยื่นขอใบอนุญาตจัดตั้งธนาคารไร้สาขา หรือ Virtual Bank หลังจากเปิดให้ยื่นใบสมัครมาตั้งแต่วันที่ 20 มีนาคม 2567 ซึ่งจนถึงวันนี้ธปท.ระบุว่า ยังไม่ทราบว่า มีจำนวนผู้สนใจยื่นขอสมัครตั้ง Virtual Bank กี่ราย เพราะยังไม่ได้รวบรวมทั้งหมดจนกว่าจะปิดรับสมัคร 

จากนั้นธปท.จะใช้ระยะเวลาในการตรวจสอบเอกสาร คุณสมบัติผู้ที่สมควรได้รับอนุญาตให้จัดตั้ง Virtual Bank ต่อกระทรวงการคลัง เพื่อให้พิจารณารายชื่อตามที่ธปท.เสนอ และประกาศรายชื่อผู้ที่ได้รับการคัดเลือกภายในเดือนมิถุนายน 2568

"ภายใน 1 ปี หรือภายในเดือนมิถุนายน 2569 บริษัทที่ได้รับอนุญาตจะเริ่มให้บริการธนาคารพาณิชย์ไร้สาขา"

อย่างไรก็ตาม มีกระแสข่าวว่า บริษัท Sea Group จากประเทศสิงคโปร์ เป็นบริษัทที่มีมูลค่าสูงที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และยังเป็นบริษัทแม่ของ Garena Shopee และ Seamoney เป็นหนึ่งในผู้สนใจเข้ายื่นขอใบอนุญาต จัดตั้ง Virtual bank ของไทย 

Sea Group จะยื่นประมูลขอใบอนุญาตผ่าน บริษัท SeaMoney Thailand ซึ่งเป็นบริษัทให้บริการทางการเงินดิจิทัล การชำระเงิน และการกู้ยืมผ่าน ShopeePay และ SPayLater โดยมีพันธมิตรเป็นธนาคารขนาดใหญ่ของไทยคือ ธนาคาร กรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BBL และ บริษัท วีจีไอ จำกัด (มหาชน) หรือ VGI  บริษัทในเครือของบีทีเอสกรุ๊ป

ทั้งนี้ Sea Gruop ได้รับใบอนุญาตธนาคารให้เปิดธนาคารไร้สาขาในสิงคโปร์ ภายใต้ Sea Digital Bank ซึ่งเป็นหนึ่งในสองบริษัทที่ได้รับใบอนุญาตธนาคารดิจิทัลแบบเต็มรูปแบบจากธนาคารกลางสิงคโปร์ การเข้ามาในไทยจึงแสดงให้เห็นว่า Sea Group กำลังเข้าสู่ตลาดการเงินดิจิทัลอย่างจริงจังและมีศักยภาพในการขยายธุรกิจไปยังธนาคารเสมือนจริงในภูมิภาคต่างๆ อย่างต่อเนื่อง

เปิด 5 กลุ่มทุนยักษ์ เตรียมลุยธนาคารไร้สาขา

ขณะที่กลุ่มเป้าหมายของ BBL อาจจะไม่ได้มีพอร์ตลูกค้ารายย่อยเป็นหลัก โดยธุรกิจเด่นเรื่องลูกค้ารายใหญ่และเอสเอ็มอีมากกว่า ขณะที่ฐานลูกค้า VGI ผ่านบัตรแรบบิท ซึ่งมีลูกค้ากว่า 8 ล้านราย และปัจจุบันบริษัท แรบบิท แคช จำกัด มีการปล่อยสินเชื่อออนไลน์อยู่แล้ว และ VGI ที่ทำธุรกิจโฆษณาจะเข้าเสริมการประชาสัมพันธ์ให้กับธุรกิจ Virtual Bank

อย่างไรก็ตาม ในการประชุมผู้ถือหุ้นวิสามัญของ VGI ในวันที่ 30 กันายนนี้ จะมีการเสนอแผนเพิ่มทุน 1.3 หมื่นล้านบาท โดยจะนำเงินจำนวนไม่เกิน 7,500 ล้านบาท เพื่อเข้าลงทุนในการพัฒนาและสนับสนุนเงินลงทุนหมุนเวียนของ Virtual Bank จะทำการลงทุนโดยบริษัท หรือผ่านบริษัทย่อยของ บริษัท โดยอาจจะอยู่ในรูปแบบเพิ่มทุนหรือเงินให้กู้ยืม 

ทั้งนี้การที่ VGI และพันธมิตรร่วมยื่นขอจัดตั้ง Virtual Bank  เพราะมองว่า มีศักยภาพจากประสบการณ์ในด้านการเงินและบริการด้านดิจิทัล (Digital Services) ผ่าน Rabbit Card และ Rabbit Cash รวมถึงความสามารถในการผสมผสานความสามารถทางด้านการเงิน ข้อมูล และ เทคโนโลยี เข้าด้วยกันได้เป็นอย่างดี

4 กลุ่มทุนประกาศยื่น Virtual Bank

อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้ามี 4 กลุ่มทุนที่ประกาศยื่นขอใบอนุญาตจัดตั้ง Virtual Bank

กลุ่มทุนแรกคือ “เอสซีบี เอกซ์” บริษัทแม่ของธนาคารไทยพาณิชย์ ส่งสัญญาณเดินหน้าเต็มสูบในการบุกเบิกในการให้บริการ Virtual bank โดยได้ร่วมกับพันธมิตรทางธุรกิจอีก 2 รายที่นับว่า แข็งแกร่งอย่างมากด้าน “เทคโนโลยี” และประสบการณ์ในการทํา Virtual Bank ในต่างประเทศมาแล้ว นั่นคือ “WeBank” ธนาคารดิจิทัลชั้นน่าในจีน และ KakaoBank ผู้นำธนาคารดิจิทัลและ Virtuak Bank ของเกาหลีใต้ 

กลุ่มทุนที่สอง กลุ่มธนาคารกรุงไทย จํากัด (มหาชน) หรือ KTB ประกาศจับมือกับ บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จํากัด (มหาชน) หรือ GULF บริษัทธุรกิจด้านพลังงาน บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จํากัด (มหาชน) หรือ ADVANC  ยักษ์ใหญ่ในกิจการโทรคมนาคมและยังเป็นบริษัทลูกของ GULF และบริษัท OR ธุรกิจค้าปลีกและเจ้าของปั๊มน้ำมัน ปตท.

"การร่วมพันธมิตรครั้งนี้ เป็นการผนึกกำลังทางธุรกิจครั้งสำคัญในการเข้าบุกตลาด Virtual bank เพราะมองว่า ตลาดนี้ยังมีโอกาสเติบโตอีกมากในการทําธุรกิจ  และยังเป็นช่องทางในการขยายสินเชื่อและรับเงินฝากทั้งจากฐานลูกค้าเดิมของ KTB ที่ต้องการสินเชื่อเพิ่มเติม, ฐานลูกค้าเครือข่ายโทรศัพท์ของ ADVANC รวมถึงฐานลูกค้าของ OR"

กลุ่มทุนที่สาม คือ กลุ่มเครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) ที่ส่งสัญญาณในการเข้ามาชิงใบอนุญาต Virtual Bank โดยบริษัท แอสเซนด์ มันนี่ จำกัด ผู้ให้บริการแอกพลิเคชัน “ทรูมันนี่”  ซึ่งมีผู้ใช้งานไม่ต่ำกว่า 25 ล้านคนจับมือกับ Ant Financial Services Gruop ในเครือ Alibaba  จึงเป็นพันธมิตรที่แข็งแกร่ง มีศักยภาพและความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยี และเชี่ยวชาญในการให้บริการทางการเงิน 

กลุ่มทุนที่สี่ คือ บริษัท เจมาร์ท กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือ JMART เจ้าของธุรกิจปล่อยสินเชื่อ KB J Captital และบริษัทจัดเก็บหนี้ JMT หรือ บริษัท เจ เอ็ม ที เน็ทเวอร์ค เซอร์วิสเซ็ส จำกัด (มหาชน) จะร่วมกับ KB Financial Gruop กลุ่มธุรกิจการเงินเกาหลีใต้ 

อย่างไรก็ตาม ธนาคารไร้สาขา หรือ Virtual อาจเป็นเรื่องใหม่สำหรับประเทศไทย ขณะที่หลายประเทศทั่วโลกต่างเปิดให้บริการกันไปแล้ว ซึ่งการในการให้ใบอนุญาตจัดตั้งธนาคารไร้สาขานั้น กระทรวงการคลัง ต้องการให้เกิดการแข่งขันในภาคธุรกิจการเงิน จึงไม่จำกัดจำนวนใบอนุญาต

ขณะที่ธปท.ต้องการนำร่องระยะแรก 3 แห่งก่อน เพื่อการตรวจสอบที่รัดกุม โดยธปท.กำหนดให้มีทุนจดทะเบียนไม่น้อยกว่า 5,000 ล้านบาท ในระยะแรก และไม่น้อยกว่า 10,000 ล้านบาท ในระยะต่อไป 

จุดประสงค์หลักของ Virtual bank คือ ช่วยประชาชนคนไทยกลุ่มเป้าหมายหลัก ได้แก่

  • ผู้ไม่มีรายได้ประจำ ผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดเล็ก หรือเอสเอ็มอี
  • กลุ่มที่ไม่ได้รับบริการการเงินอย่างเพียงพอ กลุ่มที่เข้าไม่ถึงบริการทางการเงิน
  • กลุ่มเข้าไม่ถึงสินเชื่อและกลุ่มเป็นหนี้นอกระบบ ได้เข้าถึงแหล่งเงินทุน

ผู้ฝากเงินกับ Virtual Bank จะได้รับความคุ้มครองจากสถาบันคุ้มครองเงินฝากเช่นเดียวกับธนาคารพาณิชย์อื่น ๆ คือ คุ้มครองวงเงิน 1 ล้านบาทต่อบัญชี ต่อ 1 สถาบันการเงิน

ขณะที่คุณสมบัติของผู้ที่สมควรได้รับใบอนุญาต ธปท.กำหนดไว้ 7 ข้อสำคัญ เช่น

  • ความสามารถในการดำเนินธุรกิจธนาคารไร้สาขา โดยนำเสนอบริการทางการเงินรูปแบบใหม่ที่ตอบโจทย์ผู้ใช้บริการแต่ละกลุ่มได้ดียิ่งขึ้น
  • ธรรมาภิบาลและความสามารถของผู้ขออนุญาตและผู้ดำรงตำแหน่งสำคัญ
  • ความเชี่ยวชาญ ประสบการณ์ และความสามารถในการประกอบธุรกิจที่มีการใช้เทคโนโลยีและให้บริการผ่านช่องทางดิจิทัล
  • ความสามารถในการใช้และบริหารจัดการระบบเทคโนโลยีสารสนเทศที่ยืดหยุ่น มั่นคง ปลอดภัย
  • สามารถให้บริการได้อย่างต่อเนื่อง ฐานะทางการเงินของผู้ถือหุ้นใหญ่

หน้า 1  หนังสือพิมพ์ ฐานเศรษฐกิจ  ฉบับที่ 4,025 วันที่ 8 - 11 กันยายน พ.ศ. 2567