ฟินเทคทั่วโลกอ่อนแรงระยะสั้น ชี้‘เวอร์ชวลแบงก์’หนุนตลาดไทยโต

19 เม.ย. 2566 | 15:53 น.
อัปเดตล่าสุด :19 เม.ย. 2566 | 16:04 น.
1.4 k

เคพีเอ็มจี คาดแนวโน้มตลาดฟินเทคทั่วโลก ครึ่งปี 66 อ่อนแรงระยะสั้น เชื่อการเปลี่ยนแปลงบริการทางการเงิน และรวมบริการทางการเงินเข้ากับภาคส่วนอื่นๆ เป็นแรงหนุนการลงทุนเป็นบวก ขณะที่ลงทุนคริปโต อ่อนแอเป็นพิเศษ หลังหน่วยงานกำกับคุมเข้ม

นายคริสโตเฟอร์ ซาวน์ เดอร์ส หัวหน้าฝ่ายธุรกิจบริการด้านการเงิน กรรมการบริหาร เคพีเอ็มจีประเทศไทย เปิดเผยว่าความท้าทายของเศรษฐกิจมหภาคที่ส่งผลต่อตลาดสาธารณะและกรอบเวลาการเสนอขายหุ้นใหม่แก่ประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก (Initial public offering - IPO) ที่ คาดว่ายังคงปิดได้ดีในช่วงครึ่งแรกของปี 2566 เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้การลงทุนด้านฟินเทคทั่วโลกจะยังคงชะลอตัว เมื่อเทียบกับช่วงครึ่งหลังของปี 2565

ขณะที่กิจกรรม M&A เริ่มมีแนวโน้มดีขึ้น แต่ขนาดข้อตกลงน่าจะเล็กลงมากเนื่องจากนักลงทุนรอการประเมินมูลค่าของบริษัทระยะสุดท้าย (late-stage companies) เพื่อจ่ายชำระ ส่วนเร็กเทค (เทคโนโลยีด้านการกำกับดูแล - Regulatory technology: Regtech) มีแนวโน้มที่จะยังคงเป็นภาคส่วนที่มีความยืดหยุ่นมากที่สุดในการลงทุนด้านฟินเทค นอกเหนือจากโซลูชั่น B2B ภายในกลุ่มฟินเทคทั้งหมด

ฟินเทคทั่วโลกอ่อนแรงระยะสั้น ชี้‘เวอร์ชวลแบงก์’หนุนตลาดไทยโต

สำหรับการลงทุนคริปโต คาดว่าจะอ่อนแอเป็นพิเศษในช่วงครึ่งแรกของปี 2566 เนื่องจากนักลงทุนพิจารณากระบวนการตรวจสอบวิเคราะห์สถานะกิจการ (Due diligence) ของตนอีกครั้ง และหน่วยงานกำกับดูแลพิจารณากฎระเบียบด้านคริปโตที่เข้มงวดขึ้น การใช้โซลูชันบล็อกเชนในขอบเขตการใช้งานที่กว้างขวางขึ้น รวมถึงกรณีการใช้งานกับสถาบัน การชำระเงินข้ามพรมแดน การเล่นเกม และ สินทรัพย์ดิจิทัลที่แต่ละโทเคนมีลักษณะเฉพาะตัว ซึ่งไม่สามารถแทนที่กันได้ (Non-fungible token - NFT) น่าจะได้รับความสนใจจากนักลงทุนเพิ่มขึ้น

แม้ว่าตลาดฟินเทคทั่วโลกจะอ่อนแอในระยะสั้น แต่แนวโน้มระยะยาวสำหรับการลงทุนฟินเทคยังคงเป็นบวก เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่องของบริการทางการเงินในเขตการปกครองต่างๆ และการมุ่งเน้นที่เพิ่มขึ้นทั่วโลกในการรวมบริการทางการเงินเข้ากับภาคส่วนอื่นๆ

“การลงทุนด้านฟินเทคลดลงทั่วโลกในปี 2565 เนื่องจากแรงกดดันทางเศรษฐกิจ ซึ่งสร้างผลกระทบในเชิงลบอย่างมากต่อภาคเทคโนโลยีและความวุ่นวายในแวดวงคริปโต แต่ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกยังคงรักษาระดับการลงทุนและแตะจุดสูงสุดใหม่เล็กน้อย แม้ว่าแนวโน้มการลงทุนด้านฟินเทคทั่วโลกในปี 2566 จะลดลง แต่ยังมีความหวังด้านการเติบโตอย่างต่อเนื่องในเอเชียแปซิฟิก เนื่องด้วยแรงหนุนจากความต้องการบริการทางการเงินแบบฝังตัว (Embedded finance) โซลูชันการให้บริการในด้านซอฟต์แวร์ที่่ช่วยดำเนินธุรกิจในเรื่องต่างๆ (Software-as-a-Service - SaaS) เทคโนโลยีบล็อกเชน การขยายธนาคารเสมือนจริง (Virtual banking) ซึ่งประเทศไทยเตรียมประกาศใบอนุญาตใหม่เพื่อสนับสนุนการขยายตลาดในกลุ่มลูกค้าที่ยังไม่เคยเข้าถึงบริการธนาคาร (Unbanked) หรืออาจจะเข้าถึงบริการของธนาคารแล้วแต่ยังไม่เต็มประสิทธิภาพ (Underbanked) และการเปิดประเทศของจีน”

นายคริสโตเฟอร์ ซาวน์เดอร์ส กล่าวต่อไปว่าจากรายงาน  Pulse of Fintech H2’22 ซึ่งเป็นรายงานเกี่ยวกับเทรนด์การลงทุนในเทคโนโลยีด้านการเงิน (FinTech) ที่จัดทำขึ้นปีละสองครั้งโดยเคพีเอ็มจี พบว่าการลงทุนในฟินเทคทั่วโลกผ่านการควบรวมกิจการ (Merger & Acquisition - M&A) การลงทุนในหุ้นที่ไม่ได้จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ (Private Equity - PE) และธุรกิจเงินร่วมลงทุน (Venture Capital - VC) ลดลงสู่ 164.1 พันล้านเหรียญสหรัฐจากการทำดีล 6,006 รายการในปี 2565 หลังจากทำสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 238.9 พันล้านเหรียญสหรัฐจาก 7,321 ดีลในปี 2564 แม้ว่าผลลัพธ์จะตํ่ากว่ามากเมื่อเทียบกับจุดสูงสุดในปี 2564 แต่ปี 2565 ไม่ใช่ปีที่ยํ่าแย่ โดยปี 2565 เป็นปีที่ดีที่สุดอันดับ 3 สำหรับการลงทุนด้านฟินเทคและเป็นปีที่แข็งแกร่งเป็นอันดับ 2 ด้านปริมาณการซื้อขาย

การลดลงอย่างรวดเร็วของการลงทุนด้านฟินเทคระหว่างช่วงครึ่งแรกและครึ่งหลังของปี 2565 จาก 119.2 สู่ 44.9 พันล้านเหรียญสหรัฐ ตอกยํ้าให้เห็นถึงสภาวะตลาดที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วได้ชัดเจนยิ่งขึ้น ในช่วงครึ่งแรกของปี 2565 มีดีลมูลค่ามากกว่า 1 พันล้านเหรียญสหรัฐ ใน M&A แปดรายการ ซึ่งรวมถึงการที่บริษัท Block ในสหรัฐอเมริกาเข้าซื้อกิจการบริษัท Afterpay ในออสเตรเลียที่มูลค่า 27.9 พันล้านเหรียญสหรัฐ การเพิ่ม VC สองรายการ ได้แก่ Trade Republic  ในเยอรมนีและ Checkout.com ในสหราชอาณาจักร และข้อตกลง PE หนึ่งรายการ คือบริษัทสินทรัพย์ดิจิทัล Genesis ในสหรัฐอเมริกา

ในช่วงครึ่งหลังของปี 2565 มีข้อตกลง M&A เพียงสามรายการที่มีมูลค่ามากกว่า 1 พันล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งทั้งหมดอยู่ในสหรัฐอเมริกา รวมถึงการซื้อกิจการบริษัท Avalara มูลค่า 8.4 พันล้านเหรียญสหรัฐ การซื้อกิจการบริษัท Billtrust มูลค่า 1.7 พันล้านเหรียญสหรัฐ และการซื้อกิจการบริษัท Computer Services Inc. มูลค่า 1.6 พันล้านเหรียญสหรัฐ

การระดมทุน VC ที่ใหญ่ที่สุดในช่วงครึ่งหลังของปี 2565 มีมูลค่า 800 ล้านเหรียญสหรัฐโดยบริษัท Klarna ในสวีเดน ซึ่งเป็นการปรับลดราคาลงอย่างมีนัยสำคัญ และข้อตกลง PE ที่ใหญ่ที่สุดคือการระดมทุนจำนวน 250 ล้านเหรียญสหรัฐโดยบริษัท Avant ในสหรัฐอเมริกา

ในระดับภูมิภาค ทวีปอเมริกายังคงมีอิทธิพลในตลาดโลก โดยคิดเป็นมูลค่าการลงทุน 68.6 พันล้านเหรียญสหรัฐในปี 2565 โดยที่สหรัฐอเมริกาคิดเป็น 61.6 พันล้านเหรียญสหรัฐจากยอดลงทุนทั้งหมด ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกทำสถิติสูงสุดใหม่ที่ 50.5 พันล้านเหรียญสหรัฐในปี 2565 ภูมิภาคยุโรป ตะวันออกกลาง และแอฟริกา ดึงดูดเงินได้ 44.9 พันล้านเหรียญสหรัฐ ในขณะที่การชำระเงินดึงดูดส่วนแบ่งเงินทุนด้านฟินเทค มากที่สุดในปี 2565 (53.1 พันล้านเหรียญสหรัฐ) แต่เร็กเทค (เทคโนโลยีด้านการกำกับดูแล) กลับเป็นภาคส่วนธุรกิจที่ร้อนแรงที่สุดของปี โดยการลงทุนเพิ่มขึ้นจาก 11.8 พันล้านเหรียญสหรัฐในปี 2564 เป็น 18.6 พันล้านเหรียญสหรัฐในปี 2565