ความกังวลภาวะเงินเฟ้อสูง กับทิศทางนโยบายการเงินของไทย

03 ส.ค. 2565 | 15:16 น.
อัปเดตล่าสุด :03 ส.ค. 2565 | 22:31 น.

ความกังวลภาวะเงินเฟ้อสูง กับทิศทางนโยบายการเงินของไทย : คอลัมน์ มันนี่ ดี ไอ วาย โดย ณรงค์ศักดิ์ ปลอดมีชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ไทยพาณิชย์ จำกัด

อัตราเงินเฟ้อไทยเริ่มปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ตั้งแต่ปลายปี 2564 และได้ปรับตัวเกินขอบบนของเงินเฟ้อเป้าหมายของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่ 3% ตั้งแต่เดือนมกราคม ปี 2565 เป็นต้นมา และภายหลังจากเงินเฟ้อพุ่งสูงเกินคาดในเดือนพฤษภาคม และมิถุนายน หลายคนจึงตั้งคำถามถึงธปท.ว่า จะทนต่อแรงกดดันเงินเฟ้อสูง และการขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางต่าง ๆ ทั่วโลก ซึ่งส่งผลต่อค่าเงินบาทอย่างหนักหน่วงนี้ได้ถึงเมื่อไหร่  

 

การปรับเพิ่มขึ้นของอัตราเงินเฟ้อในไทย ณ ปัจจุบัน สาเหตุหลักมาจากต้นทุนสินค้าที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น (cost-push inflation) นำโดยสินค้านำเข้า ซึ่งได้รับผลกระทบจาก 2 ปัจจัยหลัก คือ

  1. ราคาสินค้าโภคภัณฑ์โลก โดยเฉพาะน้ำมันที่พุ่งสูง อันเป็นผลจากความขาดแคลนของวัตถุดิบต่างๆ หลังการแพร่ระบาดของโควิด และสงครามระหว่างรัสเซีย-ยูเครน ยิ่งกดดันทำให้ราคาสินค้าโดยเฉพาะราคาพลังงานของทั้งโลกปรับตัวสูงขึ้นไปอีก รวมไปถึงราคาสินค้าทางเกษตรบางประเภทที่รัสเซียเป็นผู้ส่งออกสำคัญของโลกก็ได้รับผลกระทบไปด้วย
  2. การอ่อนค่าของเงินบาท ส่งผลให้ราคาสินค้าและบริการอื่นๆ จำเป็นต้องปรับเพิ่มขึ้น ปัจจัยดังกล่าวกดดันทำให้อัตราเงินเฟ้อไทยในเดือนมิ.ย. พุ่งไปสู่ระดับ 7.66% สูงสุดในรอบหลายสิบปี และยังไม่มีทีท่าจะลดระดับลงในระยะเวลาอันใกล้ เนื่องจากราคาสินค้าและบริการกำลังทยอยปรับตัวเพิ่มขึ้นตามมา หลังจากราคาต้นทุนการผลิตทั้งวัตถุดิบ ค่าไฟ แก๊สหุงต้ม และน้ำมันดีเซลปรับตัวขึ้นไปก่อนหน้านี้แล้ว

การปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างมากของเงินเฟ้อ ทำให้ตลาดจับตามองว่า ธนาคารกลางจะเข้ามามีบทบาทอย่างไร เพื่อลดผลกระทบจากอัตราเงินเฟ้อที่สูงนี้  อย่างไรก็ตาม ธปท. คาดการณ์ว่าเงินเฟ้อไทยจะอยู่ในระดับสูงในปีนี้ ก่อนจะลดเข้าสู่กรอบเป้าหมายเงินเฟ้อที่ 1-3% ในปีหน้า เนื่องจากเงินเฟ้อไทยเกิดจากปัจจัยด้านอุปทานเป็นหลัก

 

ขณะที่ความต้องการซื้อสินค้าและบริการเพิ่มขึ้น (demand-pull inflation) อาจจะไม่ใช่ปัจจัยที่กดดันอัตราเงินเฟ้อในไทย เหมือนกับหลายประเทศทั่วโลก  โดย ธปท.มองว่า เงินเฟ้อประเภทนี้ มักคลี่คลายได้เองตามกลไกของตลาด ซึ่งสอดคล้องกับประมาณการณ์อัตราเงินเฟ้อเผยแพร่ ณ เดือน มิ.ย. ธปท. มองว่าอัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยของไทยปี 2565 อยู่ที่ 6.2% ก่อนจะลดระดับลงสู่ 2.5%  ในปี 2566

เมื่อ ธปท. มองว่าเงินเฟ้อเกิดจากฝั่งอุปทานและเป็นเหตุการณ์ชั่วคราว การเร่งขึ้นอัตราดอกเบี้ยของ ธปท.ไม่สามารถแก้ปัญหาเรื่องอุปทานได้และยังส่งผลลบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยที่มีระดับหนี้สินภาคครัวเรือนที่สูง

 

แต่ถึงแม้ว่าปัจจุบัน ธปท.จะประเมินว่าปัญหาเงินเฟ้อจะค่อยๆ คลี่คลาย แต่เนื่องจากปัจจุบันส่วนต่างระหว่างอัตราดอกเบี้ยของไทยและสหรัฐอเมริกาเพิ่มขึ้นและคาดว่า จะเพิ่มขึ้นอีกมาก เนื่องจากธนาคารกลางของสหรัฐฯ หรือเฟด มีแนวโน้มที่จะขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างต่อเนื่องในครึ่งปีที่เหลือ เพื่อที่จะยับยั้งอัตราเงินเฟ้อในสหรัฐฯ  ถึงแม้ว่าจะต้องเผชิญต่อการเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยที่มีโอกาสเกิดขึ้นสูงขึ้นเรื่อยๆ

 

ปัจจัยดังกล่าวก็เป็นส่วนหนึ่งที่กดดันค่าเงินบาทไทยให้อ่อนค่าลงในช่วงระยะเวลาที่ผ่านมา เพราะฉะนั้น ธปท. คงไม่อาจหลีกเลี่ยงการขึ้นอัตราดอกเบี้ยได้ในปีนี้  อย่างไรก็ตาม การปรับขึ้นดอกเบี้ยของ ธปท. คาดว่าจะเป็นในลักษณะค่อยเป็นค่อยไป เพื่อให้สอดคล้องกับการฟื้นตัวเศรษฐกิจของไทยที่มีแนวโน้มดีขึ้นหลังจากการผ่อนคลายมาตราการของทางภาครัฐที่เกี่ยวเนื่องกับการแพร่ระบาดของโควิด

 

ในแง่การลงทุนในตราสารหนี้ไทย อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยอายุ 10 ปี ปรับเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยเพิ่มขึ้นมากถึง 150bps จากต้นปี โดยแตะระดับสูงสุดที่ 3.42% เมื่อกลางเดือนพฤษภาคม ตามทิศทางของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯที่พุ่งขึ้น อย่างไรก็ตาม ในระยะสั้น เส้นอัตราผลตอบแทนไทย ยังคงมีแนวโน้มปรับขึ้นตามการผันผวนของตลาด

 

ดังนั้น นักลงทุนควรยังคงต้องระมัดระวังโดยเฉพาะการลงทุนในตราสารหนี้ระยะยาว เนื่องจากคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อของไทยและทั่วโลกยังอยู่ในระดับสูง อีกทั้งเฟดยังมีความจำเป็นที่ต้องขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อสกัดเงินเฟ้อ  ขณะที่ ธปท. ส่งสัญญาณเริ่มขึ้นดอกเบี้ยเพื่อลดแรงกดดันไม่ให้ส่วนต่างดอกเบี้ยระหว่างสองประเทศกว้างเกินไปจนเกิดภาวะเงินทุนไหลออกจากประเทศ โดยการลงทุนในตราสารระยะสั้นถึงกลางจะช่วยลดความผันผวนจากการลงทุนได้

 

นอกจากนี้ การลงทุนในตราสารหนี้ที่อ้างอิงกับอัตราเงินเฟ้อ หรืออัตราดอกเบี้ยลอยตัวน่าจะเป็นการป้องกันความเสี่ยงที่ดีในช่วงที่อัตราเงินเฟ้อและอัตราดอกเบี้ยมีแนวโน้มสูงขึ้น ขณะที่ในช่วงปลายปี อัตราผลตอบแทนตราสารหนี้มีแนวโน้มชะลอลงได้ จากความกังวลในเรื่องเศรษฐกิจถดถอยของสหรัฐฯ ซึ่งจะสร้างความต้องการต่อสินทรัพย์ปลอดภัยในระยะถัดไป