ประธานเฟดส่งสัญญาณเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อ เชื่อศก.สหรัฐยังไม่ถดถอย

28 ก.ค. 2565 | 07:55 น.
อัปเดตล่าสุด :28 ก.ค. 2565 | 15:08 น.
748

"พาวเวลล์" ส่งสัญญาณเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อไป โดยเชื่อว่าเศรษฐกิจสหรัฐยังไม่เข้าสู่ภาวะถดถอย ตลาดแรงงานยังแข็งแกร่งพอ แต่ยอมรับเล็งเห็นถึง "ความเสี่ยงสองด้าน" ท่ามกลางความพยายามควบคุมเงินเฟ้อที่พุ่งขึ้นแตะระดับสูงสุดในรอบ 40 ปี 

นายเจอโรม พาวเวลล์ ประธาน ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) แถลงข่าวต่อสื่อมวลชนภายหลังเสร็จสิ้นการประชุมนโยบายการเงินเมื่อวันพุธ (27 ก.ค.) ระบุว่า เขาไม่คิดว่า เศรษฐกิจสหรัฐ กำลังเข้าสู่ภาวะถดถอยในช่วงเวลาที่เฟดยังคงเดินหน้าปรับ ขึ้นอัตราดอกเบี้ย เพื่อสกัด เงินเฟ้อ

 

"ผมไม่คิดว่าเศรษฐกิจสหรัฐกำลังเข้าสู่ภาวะถดถอยในขณะนี้ เหตุผลก็คือว่า มีหลายภาคส่วนในระบบเศรษฐกิจที่มีความแข็งแกร่งมากเกินไป ซึ่งรวมถึงตลาดแรงงาน คงไม่ใช่เรื่องสมเหตุสมผลที่จะประเมินว่าเศรษฐกิจจะเข้าสู่ภาวะถดถอยในเมื่อตลาดแรงงานยังคงแข็งแกร่งอย่างมาก"

 

ในการแถลงข่าวครั้งนี้ นายพาวเวลล์ส่งสัญญาณว่า เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีก 0.75% ในการประชุมครั้งต่อไปในเดือนก.ย. และในท้ายที่สุดแล้วเฟดก็อาจจะชะลอการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย ซึ่งทั้งหมดจะขึ้นอยู่กับข้อมูลที่เฟดได้รับ

เจอโรม พาวเวลล์ ประธานเฟด

นอกจากนี้ นายพาวเวลล์ยังกล่าวว่า อัตราดอกเบี้ยในกรอบ 2.25-2.50% ถือเป็นกรอบที่คณะกรรมการเฟดมองว่าเป็นระดับที่เป็นกลาง ซึ่งหมายความว่า นโยบายการเงินของเฟดไม่ได้อยู่ในลักษณะผ่อนคลายและไม่ได้อยู่ในลักษณะคุมเข้ม

 

"ผมคิดว่ากรรมการเฟดส่วนใหญ่ก็คิดเช่นนี้ว่า เราจำเป็นต้องปรับนโยบายการเงินสู่ระดับที่คุมเข้มปานกลาง" นายพาวเวลล์ยังกล่าวถึงการประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจรายไตรมาสที่มีการเผยแพร่ในเดือนมิ.ย.ซึ่งระบุว่า คณะกรรมการเฟดคาดการณ์ว่า ณ สิ้นปี 2565 อัตราดอกเบี้ยระยะสั้นจะอยู่ที่ระดับ 3.4%

เขายอมรับว่า เฟดเล็งเห็นถึง "ความเสี่ยงสองด้าน" ในช่วงเวลาที่เฟดเดินหน้าควบคุมเงินเฟ้อที่พุ่งขึ้นแตะระดับสูงสุดในรอบ 40 ปี ซึ่งก็คือ "การดำเนินการที่มากเกินไป และการดำเนินการดังกล่าวนั้นทำให้เศรษฐกิจชะลอตัวมากเกินความจำเป็น" แต่เฟดมองว่า การดำเนินการที่น้อยเกินไป และปล่อยให้เศรษฐกิจได้รับความเสียหายจากเงินเฟ้อ ถือเป็นความเสี่ยงที่รุนแรงมากกว่า

 

ในการประชุมครั้งนี้ คณะกรรมการเฟดมีมติเป็นเอกฉันท์ 12-0 ในการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยระยะสั้น 0.75% สู่ระดับ 2.25-2.50% ตามที่ตลาดการเงินคาดการณ์ไว้ โดยเฟดได้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.75% เป็นครั้งที่ 2 ติดต่อกัน ซึ่งถือเป็นการดำเนินการที่เข้มงวดที่สุดของเฟด นับตั้งแต่ที่เฟดกำหนดให้อัตราดอกเบี้ยระยะสั้นเป็นเครื่องมือสำคัญด้านนโยบายการเงินในช่วงทศวรรษ 1990 ส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยนโยบายในขณะนี้อยู่ที่ระดับ 2.25-2.50% ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนธ.ค. 2561

ต่อไปนี้เป็นเนื้อหา “คำต่อคำ” แถลงการณ์ของเฟดหลังการประชุม 26-27 ก.ค.

 

ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ได้ออก แถลงการณ์ภายหลังการประชุมคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงิน (FOMC) ซึ่งเสร็จสิ้นลงในวันพุธที่ 27 ก.ค.ตามเวลาสหรัฐ โดยระบุว่า สัญญาณบ่งชี้เกี่ยวกับการใช้จ่ายและการผลิตชะลอตัวลงเมื่อไม่นานมานี้ แต่ถึงกระนั้นก็ตาม ตัวเลขจ้างงานเพิ่มขึ้นอย่างมากในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา และอัตราว่างงานยังคงอยู่ในระดับต่ำ ส่วนอัตราเงินเฟ้อยังคงเร่งตัวขึ้น ซึ่งสะท้อนถึงภาวะไร้สมดุลระหว่างอุปทานและอุปสงค์ อันเป็นผลมาจากโรคระบาด, ราคาพลังงานที่สูงขึ้น และแรงกดดันด้านราคาที่เพิ่มขึ้นเป็นวงกว้าง

 

การที่รัสเซียใช้กำลังทหารรุกรานยูเครนนั้น กำลังส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อทั้งประชาชนและเศรษฐกิจ โดยสงครามในยูเครนและเหตุการณ์อื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง กำลังเพิ่มแรงกดดันด้านเงินเฟ้อและส่งผลกระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจทั่วโลก ซึ่งคณะกรรมการ FOMC ให้ความสนใจเรื่องความเสี่ยงด้านเงินเฟ้อเป็นอย่างมาก

 

คณะกรรมการ FOMC พยายามหาแนวทางที่จะบรรลุเป้าหมายการจ้างงานอย่างเต็มศักยภาพและอัตราเงินเฟ้อที่ระดับ 2% ในระยะยาว ทั้งนี้ เพื่อเป็นการสนับสนุนเป้าหมายดังกล่าว คณะกรรมการได้ตัดสินใจปรับเพิ่มกรอบเป้าหมายอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นขึ้น 0.75% สู่ระดับ 2.25-2.50% และคาดว่าการปรับเพิ่มกรอบเป้าหมายอัตราดอกเบี้ยขึ้นอีกในวันข้างหน้านั้นจะเป็นเรื่องที่เหมาะสม นอกจากนี้ คณะกรรมการจะยังคงปรับลดการถือครองพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐและตราสารหนี้ที่มีสินเชื่อที่อยู่อาศัยเป็นหลักประกันการจำนอง (MBS) ตามที่ได้อธิบายไว้ในแผนการปรับลดขนาดงบดุลบัญชีของเฟด (Plans for Reducing the Size of the Federal Reserve's Balance Sheet) ซึ่งมีการเผยแพร่ในเดือนพ.ค. โดยคณะกรรมการมีความมุ่งมั่นที่จะทำให้อัตราเงินเฟ้อกลับสู่เป้าหมายที่ระดับ 2%

 

ส่วนในการประเมินแนวทางที่เหมาะสมของนโยบายการเงินนั้น คณะกรรมการจะยังคงจับตาข้อมูลแนวโน้มเศรษฐกิจที่จะได้รับในวันข้างหน้า ขณะเดียวกันคณะกรรมการจะเตรียมความพร้อมเพื่อปรับแนวทางนโยบายการเงินตามความเหมาะสม หากพบว่ามีความเสี่ยงที่จะทำให้เฟดไม่สามารถบรรลุเป้าหมายต่าง ๆ ของคณะกรรมการ โดยคณะกรรมการจะประเมินข้อมูลในวงกว้าง ซึ่งรวมถึงข้อมูลด้านสาธารณสุข ภาวะตลาดแรงงาน แรงกดดันด้านเงินเฟ้อ และการคาดการณ์เงินเฟ้อ รวมถึงการพิจารณาสถานการณ์ทางการเงิน และสถานการณ์ในต่างประเทศ

 

สำหรับกรรมการเฟดผู้ที่ออกเสียงสนับสนุนการดำเนินนโยบายการเงินของ FOMC ในการประชุมครั้งนี้ ได้แก่ เจอโรม เอช พาวเวลล์ ประธานเฟด, จอห์น ซี วิลเลียมส์ รองประธานเฟด, มิเชล เอส บาร์, มิเชล ดับเบิลยู โบว์แมน, ลาเอล เบรนาร์ด, เจมส์ บูลลาร์ด, ซูซาน เอ็ม คอลลินส์, ลิซา ดี คุก, เอสเธอร์ แอล จอร์จ, ฟิลิป เอ็น เจฟเฟอร์สัน, ลอเร็ตตา เจ เมสเตอร์ และคริสโตเฟอร์ เจ วอลเลอร์