“วิชั่นซาอุฯ 2030” โอกาสครั้งใหญ่ เปิดช่องทัพธุรกิจไทยยึดหัวหาด

06 ส.ค. 2565 | 07:00 น.
757

บิ๊กเอกชนชี้ตลาดซาอุฯเต็มไปด้วยโอกาส ทั้งการค้า ท่องเที่ยว ลงทุน ก่อสร้าง แรงงาน vision 2030 สร้างโอกาสไทยอีกอื้อ SCG-ซีพี-ปตท.-ศรีไทยฯ สั่งลุย สรท.แนะรุกให้ไว เล็งส่งออกปีนี้ 2 พันล้านดอลลาร์ ท่องเที่ยวเป้า 3 แสนคน BGH ติวเข้ม 400 รพ.สนใจตลาดซาอุฯต้องทำการบ้านให้ดี

 

7 เดือนหลังฟื้นความสัมพันธ์ไทย-ซาอุดิอาระเบีย รอบ 32 ปี บรรยากาศความร่วมมือของทั้ง 2 ประเทศในทุกมิติดีขึ้นทุกขณะ สะท้อนได้จากงานสัมมนา THE BIG ISSUE 2022 : THE OPPORTUNITIES ประวัติศาสตร์หน้าใหม่ “ไทย-ซาอุฯ” ช่วงเสวนา GO THAILAND : ทัพธุรกิจไทยตะลุยซาอุฯ จัดโดยฐานเศรษฐกิจ ผู้นำภาคเอกชนระบุได้เกิดรูปธรรมทั้งด้านการค้า การลงทุน การท่องเที่ยว แรงงาน และอื่นๆ ได้มีความก้าวหน้าอย่างเห็นได้ชัด

 

นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เผยว่า จากที่กระทรวงการต่างประเทศในส่วนของภาครัฐ และหอการค้าไทยในส่วนของภาคเอกชน ได้เป็นเจ้าภาพหลักในการติดตามและประสานความร่วมมือกับทางซาอุฯใน 9 ด้านหลังพลเอกประยุทธ์  จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้เดินทางไปฟื้นความสัมพันธ์เมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา ณ เวลานี้ได้เกิดรูปธรรมตามลำดับ โดยเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา (15-19 พ.ค.) นายดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ได้นำคณะผู้แทนจากหน่วยงานรัฐและเอกชน (39 บริษัท) เดินทางเยือนซาอุฯ เพื่อส่งเสริมความร่วมมือทางด้านการเมือง เศรษฐกิจ การค้า การลงทุน

 

“วิชั่นซาอุฯ 2030” โอกาสครั้งใหญ่ เปิดช่องทัพธุรกิจไทยยึดหัวหาด

  • บิ๊กธุรกิจไทยทัพหน้าลุย

ในการเยือนครั้งนั้นมีการลงนามเอ็มโอยูระหว่างภาคธุรกิจไทยกับซาอุฯหลายฉบับ ครอบคลุมตั้งแต่เอ็มโอยูระหว่างหอการค้าไทย-กับหอการค้าซาอุฯ เอ็มโอยูของภาคอุตสาหกรรมปิโตรเคมี เคมีภัณฑ์ วัสดุก่อสร้าง ล่าสุดหอการค้ามณฑลริยาด ได้นำคณะนักธุรกิจซาอุฯ จำนวนกว่า 100 คนเยือนไทย (4-8ก.ค.) เพื่อเจรจาธุรกิจกับภาคเอกชนไทยมีการลงนามเอ็มโอยู 12 ฉบับ และมีการจับคู่เจรจาธุรกิจ ปิดดีลเกิดมูลค่าการซื้อขายทันที 132 ล้านบาท และภายใน 1 ปีคาดจะเกิดการซื้อขายระหว่างกัน 1.15 หมื่นล้านบาท

 

“หลังผมกลับจากนำคณะไปซาอุฯครั้งก่อนหน้า ก็มีภาคธุรกิจรายใหญ่ของไทยเดินทางกลับไปซาอุฯ อีก เช่น SCG ที่มีลูกติดตามลูกค้าเพื่อขายวัสดุก่อสร้าง และสามารถขายของได้แล้ว ผมเอง(ศรีไทยซุปเปอร์แวร์) ก็ได้ออร์เดอร์มาแล้วเกี่ยวกับแพ็คเกจจิ้ง ซีพีก็เช่นเดียวกัน เขาก็กลับไปอีกหลายครั้งเพื่อติดตามลูกค้า ส่วน ปตท.(พีทีทีโออาร์) จะเปิดร้านคาเฟ่ อเมซอน สาขาแรกในกรุงริยาดเดือนสิงหาคมนี้ นี่คือรูปธรรมส่วนหนึ่งที่เกิดขึ้นแล้ว ส่วนด้านการค้าคาดใน 5 เดือนหลังของปีนี้การค้าไทย-ซาอุฯ จะขยายตัวได้ไม่ต่ำกว่า 10% (ปี 2564 ค้าไทย-ซาอุฯ มีมูลค่ารวม 2.34 แสนล้านบาท)”

 

 

นายสนั่นกล่าวอีกว่า ไทยมีโอกาสอีกมากมายในซาอุฯ ทั้งด้านการค้า เช่น การส่งออกอาหารฮาลาล อาหารแมว วัสดุก่อสร้าง การนำเข้าปุ๋ยที่ไทยขาดแคลนจากซาอุฯ การส่งออกแรงงานที่มีทักษะมือ หรือกึ่งฝีมือป้อนภาคก่อสร้าง ภาคบริการ เพื่อรองรับกับ Vision 2030 ของมกุฏราชกุมารซาอุฯ ที่จะเกิดโครงการขนาดใหญ่อีกมากมายในซาอุฯ เช่น โครงการ THE LINE ที่จะมีการสร้างตึกสูงประมาณ 500 เมตร กว้าง 200 เมตรและมีความยาวถึง 170 กิโลเมตร ใช้เงินลงทุนกว่า 5 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ การสร้างเขตเศรษฐกิจพิเศษ และอื่น ๆ 

 

  • สรท.จี้รุกให้ไวโอกาสไม่รอใคร

ด้านนายชัยชาญ เจริญสุข ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) กล่าวว่า การเจาะตลาดซาอุฯ รอบใหม่การเข้าไปต้องมีกลยุทธ์ โดยต้องศึกษาว่า บริบทเปลี่ยนไปอย่างไร โอกาสมีแน่นอน ซึ่งต้องไปให้เร็ว เพราะโอกาสไม่เคยรอใคร โดยเฉพาะโอกาสจาก vision 2030 ของซาอุฯ ที่ยังต้องนำเข้าสินค้าอีกมาก ล่าสุดระหว่างวันที่ 27-30 สิงหาคมนี้ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ จะนำคณะภาครัฐและเอกชนเดินทางเยือนซาอุฯเพื่อขยายการค้า หลังจากนั้นเราต้องไปสานต่อเช่นการเข้าร่วมงานแสดงสินค้าในซาอุฯ และตะวันออกกลาง รวมถึงการต้อนรับนักธุรกิจที่เป็นคู่ค้ามาเยี่ยมชมบริษัทหรือโรงงานในไทย

 

สำหรับมูลค่าส่งออกของไทยไปซาอุฯ ช่วง 6 เดือนแรกปีนี้ขยายตัว 11% คิดเป็นมูลค่าส่งออกเกือบ 1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ สิ้นปีนี้จากมีการรุกตลาด และมีการจับคู่ธุรกิจ (Business Matching) ระหว่างกันมากขึ้น ทางสรท.หรือสภาผู้ส่งออกมีเป้าหมายจะผลักดันการส่งออกไทยไปซาอุฯปีนี้ให้ได้ 2,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (จากปี 2564 ส่งออก 1,652 ล้านดอลลาร์)

 

“สินค้าไทยไปซาอุฯมีความหลากหลาย เช่น รถยนต์และชิ้นส่วนเป็นพระเอกแน่นอน จากซาอุฯ อนุญาตให้ผู้หญิงขับรถได้ ชิ้นส่วนรถยนต์ก็ไปได้ อาหารมีโอกาสเติบโตสูง เครื่องปรับอากาศ โครงการ THE LINE ความยาว 170 กิโลเมตรต้องมีเครื่องปรับอากาศ และเคมีภัณฑ์ เช่น สี ทินเนอร์ ที่ใช้ในอุตสาหกรรมก่อสร้าง สินค้าต่าง ๆ เหล่านี้มีโอกาสที่ดี”

 

อย่างไรก็ตามพบว่าคู่แข่งของไทยในซาอุฯคือ จีนที่มีการส่งออกสินค้าไปที่แถบตะวันออกกลางและซาอุฯ มากพอสมควร โดยสินค้าส่งออกของจีนไปตลาดดังกล่าวสัดส่วน 20-30% ซึ่งต้องระวังคู่แข่งด้วย นอกจากนี้ต้องระวังเรื่องกฎระเบียบต่าง ๆ จากซาอุฯมีมาตรฐานสินค้านำเข้า ส่วนงานแสดงสินค้าที่เกิดขึ้นในซาอุฯขอให้ภาครัฐปรับปรุงเงื่อนไขโครงการ SMEs Pro-active โดยสนับสนุนเอสเอ็มอีไทยในการเข้าร่วมงานได้มากขึ้น เช่น การแบ่งเบาภาระค่าที่พัก และค่าเช่าที่การแสดงสินค้า และค่าธรรมเนียมการขอวีซ่าจากซาอุฯ ถือว่าอยู่ในระดับค่อนข้าวสูงราว 10,000 บาท หากภาครัฐช่วยเจรจาจะช่วยลดค่าเดินทางได้อย่างมาก

 

  • ขอ“วีซ่าพิเศษ” ดึงผู้ป่วยเข้าไทย

ศ.ดร.นพ. เฉลิม หาญพาณิชย์ ประธานกรรมการ และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บางกอก เชน ฮอสปิทอล จำกัด (มหาชน) BCH กล่าวว่า ในอดีตไทยเคยเป็นจุดหมายทางด้านสุขภาพเบอร์ต้น ๆ ของโลก ทำให้ชาวตะวันออกกลางนิยมเข้ามารักษาโรคต่าง ๆ อาทิ เบาหวาน โรคหัวใจ โรคไต ทันตกรรม ฯลฯ จุดแข็งของไทยคือระบบการบริการที่มีมาตรฐานทางการแพทย์แบบตะวันตก มีเทคโนโลยีในการพัฒนาโรงพยาบาลเอกชนในระดับสูงแต่ราคาไม่สูงมากเมื่อเทียบกับฝั่งยุโรป รวมกับอาหารฮาลาลที่ค่อนข้างมีชื่อเสียงกับการให้บริการด้วยใจของคนไทย ทำให้มีชาวตะวันออกกลางเข้ามารักษาอย่างต่อเนื่อง แม้ในช่วงโควิดจำนวนคนไข้ก็ไม่ได้ลดลง

 

ขณะที่ “ซาอุดิอาระเบีย” เป็นประเทศที่มีประชากรค่อนข้างมาก และมีฐานะดี เมื่อไทยเปิดประเทศก็จะเป็นโอกาสที่จะทำให้คนไข้จากซาอุฯ เข้ามารักษามากขึ้น สิ่งที่รัฐสามารถช่วยสนับสนุนได้คือการออกวีซ่าที่ชัดเจน เหมือนที่เคยทำกับประเทศอื่นๆไปแล้ว เพราะบางโรคจะต้องใช้เวลารักษาเป็นเดือนและเป็นบิลค่าใช้จ่ายที่ใหญ่มาก ซึ่งคนไข้เหล่านี้สามารถจ่ายได้ เพราะฉะนั้นรัฐจะต้องอำนวยความสะดวกในการเข้าออกของคนไข้และผู้ติดตาม เพราะผู้ติดตามส่วนใหญ่จะเข้ามาช้อปปิ้ง และใช้จ่ายสูง

 

“โรงพยาบาลเอกชนทั่วประเทศมีกว่า 400 โรงพยาบาล โรงพยาบาลที่ต้องการเข้ามาในตลาดนี้จะต้องดูบริบทและดูวัฒนธรรมของชาวซาอุ ที่ยังคงเข้มงวดในเรื่องของศาสนาเพราะฉะนั้นถ้าเข้าใจอาหารฮาลาล บริการดี คนพูดภาษาอารบิกกับเขาได้ ซึ่งไทยโชคดีมีคนพูดภาษาอารบิกได้จำนวนมาก สามารถสร้างงานให้คนทางใต้ให้เข้ามาอยู่ในขอบเขตพวกนี้ได้อีกมาก เราจะต้องเร่งทำเพราะเมื่อคู่แข่งเห็นตลาดเปิดทุกคนก็อยากจะรุมเข้าไปแต่ใครเข้าถึงตลาดก่อนคือผู้ชนะ ทางการแพทย์ไทยทำมาแล้ว และสามารถเก็บบันทึกข้อมูลต่าง ๆ เพราะมีชาวตะวันออกกลางเข้ามารักษาในไทยมากกว่าประเทศเพื่อนบ้านเพราะฉะนั้นก็จะสามารถทำรายได้ได้สูง”

 

  • เล็งซาอุฯเที่ยวไทย 3 แสนคน

 ขณะที่ นางพรทิพย์ หิรัญเกตุ อุปนายกสมาคมไทยธุรกิจการท่องเที่ยว (ATTA) กล่าวว่า ไทยมีศักยภาพรองรับนักท่องเที่ยว คาดปีนี้จะมีนักท่องเที่ยวซาอุฯ เดินทางเข้ามาไม่ต่ำกว่า 3 แสนคนจากช่วงก่อนเกิดการระบาดของโควิด-19 มีจำนวนนักท่องเที่ยวซาอุฯ เข้ามาประมาณ 7 แสนคน โดยยอดล่าสุดตั้งแต่เปิดการท่องเที่ยวถึงปัจจุบันมีเข้ามาแล้วประมาณ 3.5 หมื่นคน

 

สำหรับตลาดนักท่องเที่ยวซาอุฯ เป็นตลาดใหม่ที่น่าสนใจ มีกำลังซื้อสูง ค่าใช้จ่ายเฉลี่ยสูงถึง 5,000-7,000 บาทต่อคนต่อวัน นิยมพักโรงแรมระดับ 4-5 ดาว มีวันพักเฉลี่ยสูงถึง 12 วัน และส่วนใหญ่นักท่องเที่ยวจากซาอุฯ มักเดินทางเข้ามาเป็นครอบครัว บางกลุ่มมีมากถึง 20-30 คน

 

ความพิเศษของนักท่องเที่ยวซาอุฯ เป็นกลุ่มที่นิยมการกินหรู อยู่สบาย และได้รับการบริการที่ดี มีการใช้จ่ายสูง โดยส่วนมากนอกจากเข้ามาท่องเที่ยวแล้ว ยังเข้ามารับการบริการทางการแพทย์ สปา และช้อปปิงสินค้า อัญมณีเครื่องประดับ ซึ่งสร้างรายได้ให้กับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของไทยได้เป็นจำนวนมาก

 

“การส่งเสริมตลาดนักท่องเที่ยวซาอุฯ ที่ผ่านมาทางแอตต้า และภาคเอกชนด้านการท่องเที่ยวของไทย ทั้งบริษัททัวร์ โรงแรม ร้านอาหาร และสปา ได้หารือกับ ททท. เตรียมแผนเดินทางโรดโชว์ซาอุฯ เร็ว ๆ นี้ เพื่อสร้างช่องทางการทำธุรกิจ และจับคู่ทำธุรกิจต่อไป”

 

หน้า 1 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3807 วันที่ 7 - 10 สิงหาคม 2565