ทัพค้าไทย บุกซาอุฯ “จุรินทร์”นำเอกชน100 รายเจรจา เล็งส่งออกปีนี้ 7 หมื่นล้าน

29 ก.ค. 2565 | 10:30 น.
อัปเดตล่าสุด :29 ก.ค. 2565 | 16:48 น.
680

“จุรินทร์”ผนึกเอกชน เตรียมขนทัพนักธุรกิจไทยชุดใหญ่ลุยซาอุฯปลาย ส.ค.นี้ ดันการค้าสองฝ่ายเร่งฟื้นตัว สรท.เล็งเป้าส่งออกไปซาอุฯปีนี้พุ่ง 7 หมื่นล้าน สภาอุตฯชี้เป็นโอกาสร่วมลงทุนปิโตรฯ-เกษตร-อาหาร บินไทยได้ฤกษ์บินตรง 19 ส.ค.นี้ 300 พยาบาลทัพแรกแรงงานไทยคัมแบ็กซาอุฯ

ความสัมพันธ์ไทย-ซาอุดีอาระ เบียที่กลับคืนมาในรอบ 32 ปี สร้างบรรยากาศในทุกมิติของทั้งสองประเทศให้กลับมาสดใส โดยพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีได้ประกาศหลังเดินทางเยือนซาอุฯเมื่อเดือนมกราคมว่า การฟื้นความสัมพันธ์ครั้งนี้จะช่วยสร้างโอกาสระหว่างกันใน 9 ด้าน ซึ่งในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมาไทย-ซาอุฯได้มีความเคลื่อนไหวการดำเนินกิจกรรมความร่วมมือระหว่างกันอย่างต่อเนื่อง

 

นายภูสิต รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) กระทรวงพาณิชย์ เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ระหว่างวันที่ 27-31 สิงหาคมนี้ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์จะนำคณะผู้บริหารของกระทรวงฯ และภาคเอกชน 50-100 ราย เดินทางเยือนกรุงริยาด และนครเจดดาห์ของซาอุดีอาระเบีย เป้าหมายเพื่อขยายการค้าระหว่างกันให้มากขึ้น

 

เบื้องต้นจะมีการพบปะหารือกับกระทรวงพาณิชย์ สภาหอการค้า และอย.ของซาอุฯ การจัดกิจกรรมจับคู่เจรจาธุรกิจ (บิสซิเนส แมทชิ่ง), การลงนาม MOU ระหว่างภาคเอกชนไทย -ซาอุฯ และการจัดกิจกรรมส่งเสริมการขายในห้างสรรพสินค้า (ซึ่งในรายละเอียดทั้งหมด DITP อยู่ระหว่างเตรียมการ และนายจุรินทร์จะแถลงก่อนการเดินทาง)

 

ภูสิต  รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์

“ภาคเอกชน 50-100 รายที่จะร่วมเดินทางครั้งนี้อยู่ในกลุ่มสินค้าที่มีศักยภาพในการเจาะตลาดซาอุฯ อาทิ อาหาร ชิ้นส่วนยานยนต์ เครื่องปรับอากาศ เฟอร์นิเจอร์ และวัสดุก่อสร้าง เป็นต้น ซึ่งเป็นการจัดคณะเยือนซาอุฯ ครั้งแรกของกระทรวงพาณิชย์ นับจากฟื้นฟูความสัมพันธ์”

 

ทัพค้าไทย บุกซาอุฯ “จุรินทร์”นำเอกชน100 รายเจรจา เล็งส่งออกปีนี้ 7 หมื่นล้าน

 

เล็งเป้าส่งออก 7 หมื่นล้าน

สอดคล้องกับ นายชัยชาญ เจริญสุข ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) ที่กล่าวว่า สมาชิกของ สรท. ที่จะร่วมคณะในครั้งนี้ 24 คนจาก 18 บริษัท ในกลุ่มสินค้าอาหารและเครื่องดื่ม, สินค้าเกษตรแปรรูป, ยานยนต์และชิ้นส่วน, เครื่องปรับอากาศ, แฟชั่น สิ่งทอ ไลฟ์สไตล์, ยา / เวชภัณฑ์ / เครื่องสำอาง เมื่อรวมกับสมาชิกของสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท) ที่ร่วมเดินทางครั้งนี้ไม่ต่ำกว่า 50 ราย มีทั้งบริษัทขนาดใหญ่ กลางและเล็ก ที่มีศักยภาพในการขยายการค้ากับซาอุฯ

จากที่มีการจัดกิจกรรมเพื่อขยายการค้ากับซาอุฯอย่างต่อเนื่อง ทางสรท.ได้ตั้งเป้าหมายการส่งออกไทยไปซาอุฯในปีนี้ที่ 2,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (หรือ 6.8-7 หมื่นล้านบาท คำนวณที่ 34 และ 35 บาทต่อดอลลาร์) ซึ่งสูงกว่าเป้าหมายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ที่ตั้งเป้าไว้ที่ 5.6 หมื่นล้านบาท (การค้าไทย-ซาอุฯ ปี 64 มีมูลค่ารวม 2.34 แสนล้านบาท ไทยส่งออก 5.19 หมื่นล้านบาท นำเข้า 1.82 แสนล้านบาท)

 

ชัยชาญ  เจริญสุข

 

 “ในการเดินทางเยือน 2 เมืองสำคัญของซาอุฯในครั้งนี้ คาดจะมีนักธุรกิจของซาอุฯเข้าร่วมกิจกรรมจับคู่เจรจาธุรกิจ มากกว่า 100 บริษัท จากซาอุฯเป็นประเทศผู้นำเข้าสินค้าทุกประเภท ไม่ใช่ประเทศผู้ผลิต เขาผลิตแค่น้ำมันและส่งออก ซึ่งไทยต้องเน้นเรื่องคุณภาพสินค้าและทำราคาให้แข่งขันได้ จากนี้ไปเราจะทำตลาดเชิงรุก เช่น เข้าร่วมงานแสดงสินค้าที่จัดในซาอุฯ และตะวันออกกลาง ที่ในแต่ละปีมีหลากหลายงานมาก รวมถึงเชิญเขามาร่วมงานแสดงสินค้าระดับนานาชาติในไทยเพื่อเจรจาสั่งซื้อสินค้า”

 

เวลานี้ซาอุฯมีกำลังซื้อสูงขึ้นมากจากรายได้ส่งออกน้ำมันที่ราคาสูงขึ้นจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน คาดราคาน้ำมันดิบโลกในปีนี้ถึงปีหน้าจะเฉลี่ยที่ 95-105 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อบาร์เรล เพราะดูแล้วสงครามคาดจะยืดเยื้อ ทั้งนี้คาดการส่งออกไทยไปซาอุฯในปี 2566 จะกลับขึ้นไปอยู่ที่ระดับ 2,200 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯซึ่งเป็นตัวเลขระดับเดียวกับที่เคยส่งออกในปี 2559 ได้

 

สภาอุตฯชี้โอกาสร่วมลงทุน

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธาน ส.อ.ท. กล่าวว่า นอกจากซาอุฯมีศักยภาพเป็นตลาดการค้าของไทยแล้วยังมีศักยภาพในการร่วมลงทุนกับผู้ประกอบการไทยในหลายธุรกิจ เช่น ธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียม ปิโตรเคมี พลังงานสะอาด เกษตรและอาหารที่ซาอุฯต้องการความมั่นคงเพื่อหล่อเลี้ยงประชากร รวมถึงในอุตสาหกรรมการผลิตต่างๆ ขณะที่อุตสาหกรรมก่อสร้างของไทยมีศักยภาพในการรับงานที่ซาอุฯได้ ซึ่งจากวิสัยทัศน์ 2030 ของซาอุฯ มีโครงการก่อสร้างที่จะเกิดขึ้นอีกมาก ถือเป็นโอกาสของผู้ประกอบการไทย

 

เกรียงไกร  เธียรนุกุล

 

การบินไทยเร่งขยายเส้นทาง

ด้าน นายนนท์ กลินทะ ประธานเจ้าหน้าที่สายการพาณิชย์ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เผยว่า การบินไทยเตรียมเปิดเที่ยวบินเส้นทางกรุงเทพฯ-เจดดาห์ ของซาอุดี อาระเบีย จำนวน 4 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ เริ่มทำการบินในวันที่ 19 ส.ค. นี้ ซึ่งเป็นการกลับมาทำการบินเที่ยวบินเชิงพาณิชย์ สู่ซาอุฯ รอบ 32 ปี ทั้งนี้การเปิดเส้นทางบินดังกล่าวได้รับการตอบรับที่ดี เที่ยวบินแรก เฉลี่ยมีอัตราการบรรทุกอยู่ที่ราว 50% แล้ว โดยเที่ยวบินขาออกจากไทยมีอัตราเฉลี่ยกว่า 80% แล้ว ส่วนใหญ่เป็นคนไทยเดินทางไปประกอบศาสนกิจ ธุรกิจแรงงาน ส่วนขาเข้าประเทศไทยก็เฉลี่ยที่ 50% ซึ่งการบินไทยจะเน้นจัดโปรโมชั่นเพื่อกระตุ้นตลาดจากซาอุฯมาเที่ยวเมืองไทย

 

“เราตั้งเป้าผลักดันอัตราการบรรทุกเฉลี่ยในช่วงแรกของการเปิดให้บริการอยู่ที่ราว 70-75% ซึ่งนอกจากการเน้นกระตุ้นด้านการตลาดแล้ว การบินไทยยังจะมีการเจรจากับสายการบินซาอุเดีย เพื่อทำการบินรหัสร่วมหรือโค้ดแชร์ร่วมกัน เพื่อดึงนักท่องเที่ยวจากซาอุฯ ใช้บริการบินเส้นทางบินในประเทศและอินโดจีน ในเส้นทางบินไทยสมายล์”

 

ทั้งนี้การบินไทยได้รับสิทธิการบินในเส้นทางกรุงเทพฯ-เจดดาห์ 4 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ ซึ่งได้เปิดเต็มสิทธิ์แล้ว ยังได้รับสิทธิการบินในเส้นทางกรุงเทพฯ-ริยาร์ด 5 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ด้วย ซึ่งกำลังดูการตอบรับของตลาด ถ้าไปได้ดี ก็มองที่จะเปิดบินในเส้นทางบินนี้ในอนาคตได้ด้วยเช่นกัน

 

พยาบาลทัพแรกแรงงานคัมแบ็กซาอุ

ด้านการกลับมาเปิดตลาดแรงงานไทยในซาอุฯ แหล่งงานนอกประเทศอันดับหนึ่งของไทยเมื่อ 30 ปีก่อน ล่าสุด กรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน ได้เปิดรับสมัครคนหางานเพื่อไปทำงานที่ซาอุฯ 309 อัตรา ระหว่างวันที่ 15-23 มิ.ย.ที่ผ่านมา และได้ประกาศรายชื่อผู้มีสิทธิสอบไปแล้วก่อนหน้านี้ โดยนายจ้างจะคัดเลือกคนหางานด้วยตนเอง ผ่านการสอบสัมภาษณ์แบบออนไลน์ ซึ่งจะเป็นแรงงานไทยกลุ่มแรกที่กลับเข้าไปทำงานในซาอุฯอีกครั้ง

 

“ในจำนวนนี้บริษัท DR. SULAIMAN AL HABIB MEDICAL SERVICES GROUP Co.,Ltd. ประกอบกิจการบริการทางการแพทย์ มีความต้องการแรงงานไทย 300 อัตรา ได้แก่ พยาบาลวิชาชีพ พยาบาลผู้ดูแล และผู้ช่วยพยาบาล ประเภทละ 100 อัตรา”

 

สำหรับซาอุฯ เป็นตลาดแรงงานใหญ่สุดในตะวันออกกลาง และเคยเป็นตลาดแรงงานอันดับ 1 ของไทยปัจจุบันมีแรงงานต่างชาติ ประมาณ 6 ล้านกว่าคนอยู่ในซาอุฯ 5 อันดับแรก ประกอบด้วย อินเดีย 1.1 ล้านคน รองมาคืออียิปต์ 9 แสนคน ปากีสถาน 8 แสนคน ฟิลิปปินส์ 7.5 แสนคน และบังกลาเทศ 7 แสนคน

 

หน้า 1 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3805 วันที่ 31 ก.ค. – 3 ส.ค. 2565