แม้ธุรกิจครอบครัวสามารถผสานสายสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นในครอบครัว เข้ากับความแข็งแกร่งที่สั่งสมมาหลายรุ่นเข้าด้วยกันได้เป็นอย่างดี แต่ในยุคที่โลกธุรกิจเปลี่ยนแปลงเร็วและเต็มไปด้วยความไม่แน่นอนนี้ คุณสมบัติเหล่านี้กลับเปรียบเสมือนเหรียญสองด้าน ที่อาจพลิกเป็นจุดแข็งหรือจุดอ่อนได้ทุกเมื่อ
ซึ่งการวางแผนกลยุทธ์ที่มีประสิทธิภาพจะเป็นเครื่องมือสำคัญช่วยให้ธุรกิจก้าวข้ามข้อจำกัด และสร้างรากฐานสำหรับการเติบโตอย่างยั่งยืนต่อไปได้ โดยในปีพ.ศ. 2568 นี้ มี 5 แนวโน้มสำคัญที่ผู้บริหารธุรกิจครอบครัวต้องจับตาเพื่อปรับโฉมกลยุทธ์ให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงแห่งยุคได้ ดังนี้
1.การยกระดับการบริหารให้เป็นมืออาชีพ คือการสร้างวัฒนธรรมองค์กรที่มุ่งเน้นความยั่งยืนและการพัฒนาอย่างมีประสิทธิภาพ โดยไม่เพียงแต่จ้างผู้บริหารที่มีประสบการณ์เท่านั้น แต่ยังลดการพึ่งพาสมาชิกในครอบครัวในบทบาทสำคัญที่อาจจำกัดการเติบโตและเพิ่มความเสี่ยงให้ธุรกิจ
ขั้นตอนแรกคือการระบุช่องว่างด้านทักษะ (Skill Gaps) และสรรหาบุคลากรที่มีความสามารถ พร้อมใช้ตัวชี้วัดผลสำเร็จ (KPIs) ในการประเมินผลทั้งด้านการเงิน ประสิทธิภาพการดำเนินงาน และความผูกพันของพนักงาน (Employee Engagement) ธุรกิจที่ลงทุนในการบริหารแบบมืออาชีพมักได้รับประโยชน์หลายด้าน
2.การสร้างระบบการกำกับดูแลที่มีโครงสร้างชัดเจน ในธุรกิจครอบครัวเป็นเรื่องสำคัญ เพราะแม้ความมั่นคงและความไว้วางใจจะเป็นจุดแข็ง แต่การขาดโครงสร้างที่ชัดเจนอาจกลายเป็นจุดอ่อนได้ โดยเฉพาะเมื่อธุรกิจเติบโตเร็วหรืออยู่ในช่วงถ่ายโอนกิจการ แนวทางที่แนะนำคือการจัดตั้งคณะกรรมการที่ปรึกษาหรือคณะกรรมการบริหาร
ซึ่งประกอบด้วยทั้งผู้เชี่ยวชาญภายนอกและสมาชิกในครอบครัว เพื่อสร้างความสอดคล้องระหว่างความคาดหวังของครอบครัวกับเป้าหมายเชิงกลยุทธ์ของธุรกิจ คณะกรรมการจะให้คำแนะนำเชิงกลยุทธ์และความคิดเห็นที่เป็นกลาง ช่วยในการตัดสินใจที่ซับซ้อนได้อย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้การกำกับดูแลที่มีโครงสร้างยังช่วยเสริมสร้างความน่าเชื่อถือของธุรกิจ
3.การวางแผนสืบทอดกิจการอย่างมีประสิทธิภาพ เป็นหนึ่งในความท้าทายสำคัญที่สุดของธุรกิจครอบครัว โดยเฉพาะการสืบทอดตำแหน่งผู้นำ ซึ่งอาจเป็นทั้งโอกาสและสาเหตุของความขัดแย้ง ปัจจุบันมีธุรกิจครอบครัวเพียง 30% ที่สามารถส่งต่อกิจการไปยังรุ่นที่สองได้สำเร็จ และตัวเลขนี้ลดลงอย่างมากในรุ่นต่อๆไป
การวางแผนสืบทอดควรเริ่มต้นตั้งแต่เนิ่นๆ และไม่จำกัดอยู่แค่ผู้สืบทอดสายตรงเท่านั้น แต่ควรพิจารณาผู้นำจากภายนอกที่สามารถนำมุมมองใหม่ๆ มาพัฒนาธุรกิจได้ การจัดโปรแกรมให้คำปรึกษา (Mentoring Programs) โดยผู้นำรุ่นปัจจุบันถ่ายทอดความรู้และประสบการณ์แก่รุ่นถัดไป เป็นเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพในการสืบทอดคุณค่าและวิสัยทัศน์ขององค์กร
4.การปรับตัวให้สอดคล้องกับแนวโน้มตลาดใหม่ เป็นสิ่งสำคัญสำหรับธุรกิจครอบครัว โดยต้องมีแนวคิดที่ยืดหยุ่น (Agile Mindset) เพื่อระบุและตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งอาจรวมถึงการปรับกระบวนการให้เป็นดิจิทัล การใช้เทคโนโลยีที่พลิกโฉมอุตสาหกรรม (Disruptive Technologies) และการปรับโครงสร้างธุรกิจให้ตรงกับความต้องการของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป
นอกจากนี้การกระจายธุรกิจ (Diversification) ยังเป็นกลยุทธ์สำคัญที่ช่วยลดความเสี่ยง โดยธุรกิจควรสำรวจโอกาสในตลาดใหม่ๆ พัฒนาผลิตภัณฑ์หรือบริการเสริมที่เกี่ยวข้อง และสร้างความร่วมมือเชิงกลยุทธ์ (Strategic Partnerships) เพื่อรักษาขีดความสามารถในการแข่งขันในตลาดที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว
5.การรับมือกับความท้าทายด้านกฎระเบียบและปัญหาการขาดแคลนบุคลากร เป็นเรื่องสำคัญสำหรับธุรกิจครอบครัว โดยเฉพาะในสภาพแวดล้อมทางกฎหมายที่ซับซ้อนและปัญหาการหาบุคลากรที่มีคุณภาพในบางภาคส่วน เพื่อแก้ไขปัญหาเหล่านี้ ธุรกิจควรลงทุนในระบบปฏิบัติตามกฎหมาย (Compliance)
และพัฒนาให้กระบวนการต่างๆเป็นดิจิทัล เพื่อติดตามการเปลี่ยนแปลงทางกฎหมายแบบเรียลไทม์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ การใช้ระบบ ERP (Enterprise Resource Planning) จะช่วยบูรณาการข้อมูลครอบคลุมทุก รวมถึงการสร้างวัฒนธรรมองค์กรที่ครอบคลุมและเท่าเทียม (Inclusive Culture) จะช่วยดึงดูดและรักษาพนักงานให้อยู่กับองค์กรในระยะยาว
ที่มา: Guilherme Vanzin. January 23, 2025. Strategic Planning in Family Businesses: Trends for 2025. Available: https://nobhill.com.br/blogs/b/strategic-planning-in-family-businesses-trends-for-2025 ข้อมูลเพิ่มเติม: https://www.famz.co.th