กฎ 7 ข้อของแนวคิด “ผู้พิทักษ์ธุรกิจครอบครัว”

09 ก.พ. 2568 | 05:21 น.

กฎ 7 ข้อของแนวคิด “ผู้พิทักษ์ธุรกิจครอบครัว” : Family Business Thailand รศ.ดร.เอกชัย อภิศักดิ์กุล คณบดีคณะวิทยพัฒน์และผู้อำนวยการศูนย์ธุรกิจครอบครัว มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย [email protected]

จากข้อมูลของ Stewardship Asia Centre ธุรกิจครอบครัวชั้นนำมักใช้แนวทางสำคัญเพื่อความสำเร็จและยั่งยืน โดยหนึ่งในหัวใจหลักคือแนวคิด “ภาวะผู้นำผู้พิทักษ์” (Steward Leadership) ที่มุ่งสร้างอนาคตที่ดีขึ้นให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย สังคม คนรุ่นหลัง และสิ่งแวดล้อม ผ่านความตั้งใจจริงและความรับผิดชอบระยะยาว

แม้ธุรกิจครอบครัวจะถูกมองว่ามีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่องเพราะเน้นแผนงานระยะยาว แต่ในทางปฏิบัติมีเพียง 30% ที่อยู่รอดถึงรุ่นที่สอง และ 12% เท่านั้นที่ยืนหยัดถึงรุ่นที่สาม ความท้าทายสูงสุดอยู่ที่การรักษาสมดุลระหว่างการรักษามรดกทางธุรกิจกับการปรับตัวรับการเปลี่ยนแปลง ไม่ว่าจะเป็นเทคโนโลยีใหม่ๆ ความต้องการผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป หรือกระแสสังคมที่แตกต่างจากอดีต

กฎ 7 ข้อของแนวคิด “ผู้พิทักษ์ธุรกิจครอบครัว”

แม้ปัญหานี้จะไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่รูปแบบความท้าทายกลับพัฒนาตามยุคสมัย ทำให้ธุรกิจครอบครัวต้องคิดใหม่อยู่เสมอว่า จะรักษาคุณค่าดั้งเดิมไว้อย่างไร ในขณะเดียวกันก็ต้องกล้าปรับโครงสร้าง กระบวนการ หรือแม้แต่แนวคิดการทำงานให้ทันสมัย ทั้งหมดนี้ชี้ว่าความยั่งยืนของธุรกิจครอบครัวไม่ได้ขึ้นอยู่กับเวลาเพียงอย่างเดียว

แต่ต้องอาศัยวิสัยทัศน์ผู้นำที่พร้อมเป็น “ผู้พิทักษ์” ทั้งรักษาจิตวิญญาณองค์กรและเปิดรับการเปลี่ยนแปลง เพื่อส่งต่อธุรกิจให้แข็งแกร่งข้ามรุ่นได้อย่างแท้จริง จากการศึกษาธุรกิจครอบครัวที่ประสบความสำเร็จและยั่งยืน จำนวน 200 แห่ง โดย Stewardship Asia Centre พบว่า ธุรกิจเหล่านี้จะมีลักษณะร่วมกันที่สามารถสรุปเป็น กฎ 7 ข้อ ดังนี้

กฎข้อที่ 1: เป้ามุ่งหมาย (Purpose) ธุรกิจครอบครัวเหล่านี้ไม่มองธุรกิจเป็นเพียงเครื่องมือสร้างรายได้ แต่เป็นเครื่องสืบทอดค่านิยมของครอบครัว ที่ช่วยเสริมความยืดหยุ่นในการรับมือวิกฤตทางเศรษฐกิจ

กฎข้อที่ 2: ความตระหนักถึงชุมชน (Community awareness) ธุรกิจครอบครัวที่ยั่งยืนวางตำแหน่งธุรกิจเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาชุมชน มากกว่าการแสวงหาผลกำไรแบบเอาเปรียบ ตามปรัชญาของ Jamsetji Tata ผู้ก่อตั้ง Tata Group ที่ว่า “ในระบบเศรษฐกิจเสรี ชุมชนไม่ใช่แค่ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย แต่คือเหตุผลของการดำรงอยู่ของธุรกิจ”

กฎข้อที่ 3: มุมมองระยะยาว (Long-term view) คุณลักษณะนี้ได้รับการจัดอันดับเป็นคุณลักษณะสำคัญอันดับ 2 ของผู้นeองค์กร รองจากความไว้วางใจและความซื่อสัตย์ โดยเชื่อว่าการตัดสินใจวันนี้ต้องคำนึงถึงผลกระทบต่อคนรุ่นต่อไปด้วย

กฎข้อที่ 4: ความน่าเชื่อถือ (Trustworthiness) ธุรกิจครอบครัวที่ยั่งยืนต่างให้ความสำคัญกับ“ความน่าเชื่อถือ” เป็นลำดับแรก เพราะรู้ดีว่า“ความไว้วางใจ” คือรากฐานสำคัญของทุกความสัมพันธ์ ทั้งในแวดวงธุรกิจและชีวิตส่วนตัว ไม่เพียงเท่านั้น คุณลักษณะนี้ยังเป็นสิ่งที่องค์กรและนายจ้างมองหามากที่สุดในตัวพนักงาน เนื่องจากเป็นปัจจัยหลักที่ขับเคลื่อนความสำเร็จของทีมและธุรกิจให้เติบโตได้อย่างแข็งแกร่ง

กฎข้อที่ 5: ความสามารถในการปรับตัว (Adaptability) ธุรกิจครอบครัวที่ยั่งยืนมักมองหาวิธีพัฒนา ปรับปรุง และเสริมสร้างทักษะใหม่ๆอยู่เสมอ เพราะเข้าใจดีว่าความสำเร็จในอดีตไม่ได้การันตีความสำเร็จในอนาคต

กฎข้อที่ 6: ความรับผิดชอบทางสังคม (Social responsibility) ธุรกิจครอบครัวที่ประสบความสำเร็จจะเข้าใจดีว่าความสำเร็จของตนขึ้นอยู่กับความสำเร็จของผู้อื่นด้วย จึงให้ความสำคัญกับการตอบแทนและสร้างคุณค่าให้กับชุมชนและสิ่งแวดล้อมที่พวกเขาดำเนินธุรกิจและได้รับประโยชน์

กฎข้อที่ 7: ความใส่ใจพนักงาน (Care for employees) ธุรกิจครอบครัวให้ความสำคัญกับความเป็นอยู่และพัฒนาการของพนักงานมากกว่าผลกำไรระยะสั้น เพราะมองว่าความผูกพันในองค์กรคือรากฐานของประสิทธิภาพการทำงาน

โดยหัวใจหลักของหลักการทั้งเจ็ดข้อนี้คือความตั้งใจจริงและความมุ่งมั่นไม่ย่อท้อ เพื่อสร้างอนาคตที่ดีกว่าร่วมกัน ให้กับผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย สังคม คนรุ่นหลัง และสิ่งแวดล้อม ซึ่งปรัชญานี้ถูกเรียกว่า“ภาวะผู้นำผู้พิทักษ์” (Steward Leadership) โดยมีค่านิยมหลัก 4 ประการ ดังต่อไปนี้

ประการแรก: การพึ่งพาอาศัยกัน (Interdependence) มองโลกเป็นระบบที่เชื่อมโยงกัน ว่าความสำเร็จของคุณขึ้นอยู่กับความสำเร็จของผู้อื่น

ประการที่สอง: มุมมองระยะยาว (Long-term view) สร้างคุณค่าที่ยั่งยืนสำหรับทั้งคนรุ่นปัจจุบันและคนรุ่นต่อไป

ประการที่สาม: ความรับผิดชอบแบบเจ้าของ (Ownership mentality) รับผิดชอบสร้างสรรค์ผลลัพธ์ทางบวก

ประการที่สี่: ความยืดหยุ่นเชิงสร้างสรรค์ (Creative resilience) มุ่งมั่นหาแนวทางใหม่ๆ รับมือความท้าทายที่คาดไม่ถึง

ธุรกิจครอบครัวที่ยั่งยืนจะสะท้อนถึงจิตวิญญาณของค่านิยมเหล่านี้ โดยการผสานเข้ากับค่านิยมขององค์กร และกำหนดเป้าหมายแห่งการพิทักษ์ (Stewardship purpose) ที่มุ่งสร้างอนาคตร่วมกันที่ดียิ่งขึ้น โดยเฉพาะในช่วงเวลาที่ต้องเผชิญกับความท้าทาย เพราะนี่คือกุญแจสำคัญที่ทำให้สามารถผ่านพ้นทุกอุปสรรคและส่งต่อความสำเร็จจากรุ่นสู่รุ่นต่อไปได้

 

ที่มา: Family Business Association. 23 April, 2024. What sustains a successful and enduring family business? Available: https://familybusinessassociation.org/article/what-sustains-a-successful-and-enduring-family-business ข้อมูลเพิ่มเติม: http://www.famz.co.th